- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 07 September 2015 09:31
- Hits: 10721
‘ก.พาณิชย์’ผนึกกำลังเอกชน ชงแผนพัฒนาด่านแม่ฮ่องสอน-พม่า
แนวหน้า : นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน หอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ระหว่างการจัดทำแผนเสนอให้รัฐบาลพิจารณาในการพัฒนาด่านการค้าชายแดน แม่ฮ่องสอน-เมียนมา ให้มีการอำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างถนน รวมถึงการตั้งโรงงานแปรรูป
ทั้งนี้ เพราะพบว่าที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าว เป็นช่องทางขนผ่านสินค้าจำพวกวัวและกระบือมีชีวิตจำนวนมาก โดยมีต้นทางจากประเทศอินเดีย และประเทศบังกลาเทศ ผ่านประเทศเมียนมา และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อส่งออกไปยังปลายทางที่ประเทศจีน ดังนั้นจึงมองว่าหากมีการส่งเสริมการตั้งโรงงานแปรรูปเนื้อวัว ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ ก่อนที่จะส่งออกต่อไปยังประเทศเป้าหมายได้อย่างมาก
โดยกระทรวงพาณิชย์พบว่าในช่วงปี 2558 นี้สัดส่วนการนำเข้าสินค้า 5 อันดับแรก ที่ผ่านทางชายแดนแม่ฮ่องสอน 98.56% จะเป็นการนำเข้าวัวและกระบือมีชีวิต ส่วนใหญ่จะนำมาจากประเทศบังกลาเทศ ผ่านประเทศเมียนมา และเมื่อเจอเส้นทางที่รถไม่สามารถผ่านได้ ก็จะให้แรงงานทยอยจูงวัวและกระบือผ่านเข้ามาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วให้รถมารับต่อผ่านทางจังหวัดเชียงราย และเมืองคุนหมิง ประเทศจีน ส่วนสินค้าที่นำเข้ารองลงมา คือ แร่พลวง สินค้าอุปโภคบริโภค วงล้อเกวียน และพริกแห้ง ตามลำดับ
“ตอนนี้พาณิชย์จังหวัด และภาคเอกชน กำลังพูดคุยหารือกัน เพื่อที่จะผลักดันบริเวณด่านค้าชายแดนแม่ฮ่องสอนให้เป็นแหล่งการค้าชายแดนที่สำคัญของประเทศไทย เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีความน่าสนใจมาก เนื่องจากพื้นที่ฝั่งประเทศเมียนมาที่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่จะเป็นเขตรัฐบาลเมียนมาปกครองอยู่ จึงง่ายที่จะร่วมกันพัฒนาการค้าทั้งสองฝ่ายให้เติบโตไปพร้อมกัน และตอนนี้โครงสร้างพื้นฐาน การเดินทางของฝั่งประเทศเมียนมา ก็ถือว่าสะดวกมาก แต่ของฝั่งประเทศไทยยังคงลำบากอยู่”นางดวงกมล กล่าว
สำหรับ จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น พื้นที่ทุกอำเภอติดกับประเทศเมียนมา โดยมีความยาว 483 กิโลเมตร (กม.) เช่น อำเภอเมือง ติดกับรัฐฉาน และรัฐคะยา, อำเภอปาย และปางมะผ้า ติดกับรัฐฉาน, อำเภอขุนยวม และแม่ลาน้อย ติดกับรัฐคะยา, อำเภอแม่สะเรียง และสบเมย ติดกับรัฐกะเหรี่ยง
โดยสินค้าส่งออกของประเทศไทยผ่านชายแดนดังกล่าว ที่สำคัญ เช่น กาแฟปรุงสำเร็จรูป, วิสกี้, เบียร์กระป๋อง, สินค้าอุปโภคบริโภค และผงชูรส เป็นต้น ขณะที่ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2558 มีมูลค่าการค้าจำนวน 507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 114% จากช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งประเทศไทยส่งออกเป็นมูลค่า 355.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 213% และนำเข้ามูลค่า 152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า 203 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 181% ส่วนช่องทางการค้าขายตามชายแดนที่สำคัญ เช่น ช่องทางห้วยผึ้ง/นามน, ช่องทางน้ำเพียงดิน, ช่องทางห้วยต้นนุ่น, ช่องทางเสาหิน และท่าข้ามแม่สามแลบ