- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 04 September 2015 17:46
- Hits: 5733
กรมส่งเสริมฯ มั่นใจอุตสาหกรรมแฟชั่นฯไทยยังไม่วิกฤต เตรียมจัดงาน BIFF &BIL 2016 ตั้งเป้ามูลค่าการซื้อขายภายในงาน ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยันการส่งออกของไทยยังไม่วิกฤต ภาครัฐเดินหน้าเร่งรัดพัฒนาศักยภาพของ SME และผู้ประกอบการรายใหม่ให้แสดงศักยภาพในงานแสดงสินค้า BIFF & BIL ด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น-เครื่องหนังไทย แม้ในช่วงครึ่งปีแรกยังติดลบ แต่ภาพรวมยังเติบโต ลูกค้าต่างชาติให้การยอมรับ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยพยายามปรับแผนหวังขยายตลาดเพิ่ม-สู้คู่แข่งต่างชาติ ล่าสุด กรมส่งเสริมฯ เตรียมจัดงาน “BIFF&BIL 2016” ระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2559 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1–2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งเป้ามูลค่าการซื้อขายขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ รองอธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาพรวมการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลัง 2558 ว่า ยังไม่อยู่ในขั้นวิกฤต เพียงแต่อยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกถดถอย ดังนั้นภาครัฐจึงมีนโยบายเร่งด่วน การกระตุ้นให้เศรษฐกิจชุมชน หมุนเวียน เพื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและเดินหน้าอีกครั้ง ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของ SME และผู้ประกอบการรายใหม่ Start up ทั้งทางบุคคลากร และการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับสินค้าหรืองาน
ส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรมแฟชั่น และเครื่องหนังของไทย ได้แก่ 1. สิ่งทอมีมูลค่า 3,433.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 (มกราคม – มิถุนายน)
2. การส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่า 1,333.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -7.53 แม้จะมีผลกระทบจากการที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการส่งออกไปยุโรป หรือผู้ประกอบการไทยเริ่มย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เพราะค่าแรงงานที่สูงขึ้น แต่ความสามารถในด้านการออกแบบ ความสร้างสรรค์คุณภาพการผลิต ยังดีมากทำให้ญี่ปุ่น และอเมริกาใต้ ยังเป็นผู้ซื้อหลัก
3. ผ้าผืน และเส้นด้ายของไทย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 (มกราคม-มิถุนายน) มีมูลค่าการส่งออก 1,095.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ –11.60 โดยกำหนดเป้าหมายการส่งออกปี 2558 มีมูลค่า 2,213 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง -10 % เพราะค่าแรงงานและตลาดส่งออก ที่จำกัด จากผลกระทบจากการที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการส่งออกทำให้ผู้ซื้อหันไปสนใจสินค้าจาก เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย มากขึ้น อีกทั้งผ้าผืนไทยยังขาดความหลากหลาย เพราะติดกฎระเบียบห้ามตั้ง/ขยายกิจการฟอกย้อมนอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ไทยกำลังปรับเปลี่ยนนโยบายให้เป็น trading hub คือพัฒนาผ้าผืน แล้วนำไปตัดเย็บที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีผู้ซื้อรายใหญ่คือ ญี่ปุ่น
4. เครื่องหนัง เครื่องใช้ในการเดินทาง และรองเท้า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 (มกราคม– มิถุนายน) มีมูลค่าการส่งออก 920.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -0.94 โดยมีเป้าหมายการส่งออกปี 2558 มูลค่า 1,729.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ -7% และเพื่อเป็นการกระตุ้นการส่งออกของอุตสากรรมแฟชั่น และเครื่องหนัง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงได้จัด “งานแสดงสินค้าแฟชั่น และเครื่องหนัง 2559” หรือ Bangkok International Fashion Fair & Bangkok International Leather Fair 2016 (BIFF&BIL 2016) ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ ผู้ผลิตชั้นนำของไทยและอาเซียน ทั้งสินค้าสิ่งทอ ผ้าผืน เสื้อผ้า เครื่องหนังทั้งรองเท้า-กระเป๋า สินค้าแฟชั่นของดีไซน์เนอร์ให้ก้าวหน้า อย่างไม่หยุดยั้ง ระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2559 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1–2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
รองอธิบดี กล่าวต่อไปว่า ดังนั้น ในปีนี้จึงมีการวางแผนการจัด “BIFF&BIL 2016” โดยเปลี่ยนแปลงอย่าง 360 องศาให้ยกระดับเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติ และปรับภาพลักษณ์ของงานแฟร์ให้เป็นแบรนด์ของงานแสดงสินค้า และเทรนด์ที่เป็นที่หนึ่งในอาเซียนและยั่งยืน โดยตนได้รับมอบหมายจากนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้ามาเป็นผู้บริหารดูแลงานอย่างละเอียดในทุกมิติต่อเนื่องในฐานะ Brand Manager โดยเริ่มจากการทำงานแบบมืออาชีพ รับหน้าที่พัฒนาและปรับทิศทางของงานเพื่อให้แบรนด์ของ BIFF&BIL มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้มีการจัดทำกลยุทธ์ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการสร้างแบรนด์ของงานอย่างต่อเนื่อง
"โดยงาน BIFF&BIL ในปี 2016 นี้ จะถูกนำเสนอการสื่อสารออกมาในรูปแบบ Spirit of Things หรือการแสดงจิตวิญญาณ ความสามัคคี ความมุ่งมั่น ความสามารถ การสร้างสรรค์ และพลังของอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องหนังที่ได้เดินทางร่วมกัน และสรรค์สร้างความสำเร็จอย่างในวันนี้ โดยเราได้กำหนดยุทธศาสตร์ของงาน วางแผนกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ และการบริหารอีเวนต์ต่อเนื่องชัดเจน โดยการทำงานร่วมกับครีเอทีฟระดับโลกเพื่อสร้างการสื่อสารแบรนด์ BIFF&BIL ให้เป็นแบรนด์ที่ติดตาตรึงใจอันดับต้นๆ ในวงการค้าของแฟชั่น และเครื่องหนัง นอกจากนี้เรายังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศมาช่วยผู้ประกอบการไทยให้เข้าใจตลาดส่งออกของแต่ละประเทศ การเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการพัฒนาดีไซน์สินค้าคอลเลคชั่นใหม่ให้น่าสนใจ ถูกใจผู้ซื้อจากต่างชาติ หรือการจัดโรดโชว์( road show) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในลักษณะของ Fashion Night Out ที่เป็นการจับคู่ธุรกิจในรูปแบบที่ BIFF&BIL ไม่เคยทำมาก่อน และผู้ที่มาเข้าร่วมงาน(สื่อมวลชน ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต)สามารถมีส่วนร่วมในการอภิปรายกลุ่มเล็กๆ เป็นกันเอง และเพลิดเพลิน โดยกำหนดเนื้อหาของการพูดคุยตามเหตุการณ์ในขณะนั้น โดยการควบคุมจาก กูรู ทางด้านแฟชั่น และแบรนด์ เมเนเจอร์ ที่คัดเลือกกันมา ซึ่งทั้งนี้จะช่วยให้ทีม BIFF&BIL สามารถรับรู้สิ่งที่คนอื่นกำลังคิดอยู่ พร้อมโอกาสในการลงทุน หรือผู้ที่สนใจมาร่วมงานที่มีศักยภาพ และการเชิญชวนดีไซน์เนอร์ แฟชั่นกูรู และสื่อต่างๆ ให้รู้จักงาน BIFF&BIL มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะสินค้าและวัตถุดิบที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อคนสร้างสรรค์ และ BIFF&BIL จะกลายเป็น Fashion Gateway ที่ทั้งผู้ประกอบการ หรือผู้ซื้อทั้งไทย และต่างประเทศ ไม่ควรพลาดโอกาสดีๆ แบบนี้ และนี่คือการตอกย้ำคอนเซ็ปต์งาน Catching the Creative Spirit “กล่าว และสรุปเพิ่มเติมว่า
“เชื่อว่าหลังจากนี้ไปงานแสดงสินค้า BIFF&BIL จะกลายเป็น Fashion gateway สำหรับผู้ประกอบการ ดีไซเนอร์ รวมทั้งผู้ผลิตที่มีความสร้างสรรค์และผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศที่มองหาสินค้าและวัตถุดิบที่มีความสร้างสรรค์ หลากหลาย และมีคุณภาพ โดยอาศัยการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมในอาเซียน (ASEAN integration) ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งทางธุรกิจ ชุมชน และประชาชนทั่วไปและนี่แหละคือ จิตวิญญาณ ที่แท้จริงของความคิดสร้างสรรค์ของอาเซียนตามความหมายของเรางานของเรา เวทีของเรา BIFF&BIL 2016 ของเรา”