WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC-Somkiatพาณิชย์ มอบหมาย สนค. ผลักดัน 3 นโยบาย วางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจการค้าของประเทศในระยะยาว

    นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยในงาน'ฝ่าคลื่นความท้าทายทางการค้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน'ถึงแนวคิดในการจัดตั้งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ว่าเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เมื่อผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ในสมัยนั้นเล็งเห็นว่า เศรษฐกิจโลกยุคใหม่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีเป้าหมาย ยุทธศาสตร์การค้าที่ชัดเจนและไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศอย่างมีเอกภาพ แต่กระทรวงพาณิชย์ยังขาดหน่วยงานเสนาธิการและคลังสมอง (Strategic Think Tank) ในการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าของประเทศในเชิงรุก ในปี 2549 กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดตั้ง'สำนักงานยุทธศาสตร์การพาณิชย์' ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกอง ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ต่อมาได้ยกระดับขึ้นเป็นระดับกรมเมื่อปี 2555 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 เพื่อจัดตั้ง สนค. ให้เป็นส่วนราชการระดับกรมในกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายทิศทางการค้าของประเทศ ตลอดจนเสนอแนะและจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย อีกทั้งพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

     นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวเปิดงานและมอบนโยบาย โดยได้กล่าวถึงความคาดหวังกับ สนค. เพื่อดำเนินการตามบทบาทที่ได้รับมอบหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 3 ประการ ได้แก่

    1) การจัดทำนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านการค้าของประเทศไทย หรือเป็น Think Tank เรื่องการค้า โดยจัดทำแผนปฏิบัติการระยะสั้นและระยะกลางของหน่วยงาน วางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจการค้าของประเทศในระยะยาว ประสานบูรณาการระหว่างแต่ละกรมภายในกระทรวงและกับหน่วยงานรัฐอื่น ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัยอื่น

    2) การเป็นหน่วยงานเสนาธิการ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การค้าในเชิงรุก และจัดทำข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายให้ทันท่วงที โดยต้องสามารถนำข้อมูลที่ “ถูกต้อง น่าเชื่อถือ ทันสมัย” มาใช้ประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้อง และ

   3) การวางยุทธศาสตร์ Cluster และแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการค้าแบบ Cross Cutting Issues โดยให้ความสำคัญกับ Cluster ที่โดดเด่นของรัฐบาล เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตรแปรรูปและอาหาร และสินค้าไฮเทคและไอที เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างยอดการส่งออก และส่งเสริมผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจ นอกจากนี้ ต้องเร่งสร้าง Roadmap ในการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจบริการ เช่น โลจิสติกส์ Health and Beauty และการค้าปลีกและแฟรนไชส์ เป็นต้น โดยต้องมีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ เร่งอำนวยความสะดวกทางการค้า แก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคทางการค้า แก้ปัญหาเรื่องบริการทางการเงิน พัฒนา SME เร่งส่งเสริมนักรบเศรษฐกิจใหม่ Start-Ups และส่งเสริมการใช้ e-commerce เชื่อมโยงสถาบันการศึกษา บูรณาการกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของรัฐบาล

    สำหรับ ภารกิจเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะต้องเร่งตอบโจทย์สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ 2) การยกระดับราคาสินค้าเกษตร สร้างรายได้เกษตรกร และพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น 3) เร่งรัดผลักดันการส่งออก พัฒนา SMEs การพัฒนา นักรบเศรษฐกิจใหม่ๆ การพัฒนาการค้า ภาคบริการ และ 4) การพัฒนาการให้บริการภาครัฐ ทั้งการปฏิรูป และนโยบายภาครัฐ เช่น การปรับปรุง พรบ. แข่งขันทางการค้า พรบ. นำเข้า-ส่งออก เป็นต้น โดยหวังว่า สนค. ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น'Think Tank'จะสามารถเสนอมาตรการ และกลไกขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีกระบวนการตรวจสอบดูแลอย่างโปร่งใส ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคม รวมทั้ง รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ ในการเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานทางการค้า สนค. ต้องมีบุคลากรคุณภาพสูง สามารถให้ข้อคิดเห็นทางวิชาการที่มีหลักการ และมีฐานข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูง จึงขอให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนการทำงานของ สนค. อย่างเต็มที่ รวมถึงให้ สนค. เร่งจัดทำระบบฐานข้อมูลและมีการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อที่ สนค. จะสามารถเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าอย่างมีประสิทธิผล

   ในช่วงที่สองของงานมีการเสวนาในหัวข้อ 'ความท้าทายของการค้าไทยจากนี้ถึงปี 2030' โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยมีนายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!