- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 25 June 2014 22:53
- Hits: 2945
โต้ 'มะกัน-อียู' ใช้ยาแรงส่งออกไทยเชื่อไม่กระทบดาหน้าขอความเป็นธรรม
บ้านเมือง : ผู้ประกอบการส่งออกไทยดาหน้าโต้ ‘สหรัฐ-อียู’ ไม่แฟร์ใช้ยาแรง มั่นใจ ไม่กระทบส่งออกแน่นอน ขณะที่ 8 สมาคมประมงออกแถลงการณ์ดุเดือด ยันไม่มีการใช้แรงเด็ก ด้านหอการค้าไทย เผยไทยมีสิทธิฟ้องร้องต่อดับเบิลยูทีโอ ทันที หากมะกันแทรกแซงการส่งออกไทย ชี้ภาครัฐควรใช้เวลา 1 ปี เตรียมตัวเรื่องการเจรจาเอฟทีเอก่อนมีรัฐบาลใหม่ ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่นศก.ไทยไม่คิดย้ายฐานแน่นอน
8 ส.ประมงไม่ใช้แรงงานเด็ก
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงไทย ร่วมกับ 8 สมาคม อาทิ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมปลาป่นไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย แถลงถึงกรณีสหรัฐประกาศลดอันดับการค้ามนุษย์จากเทียร์ 2 เป็นเทียร์ 3 และขณะนี้อยู่ระหว่างให้แต่ละประเทศจัดทำรายละเอียดก่อนประกาศคว่ำบาตรมาตรการต่างๆ กับประเทศที่ถูกจัดอันดับ ว่า ในส่วนของประเทศไทยน้อมรับคำตัดสินของสหรัฐ แต่ถือว่าไม่แฟร์ ดังนั้น คงต้องติดตามคำตัดสินของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ภายใน 90 วัน ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะกุ้งและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขอปฏิเสธกรณีสหรัฐระบุอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานผิดกฎหมายเยี่ยงทาส ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา สมาคมต่างๆ ได้แก้ไขปรับปรุง ป้องกัน ทุกขั้นตอน จึงขอยืนยันว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กกระทำการเยี่ยงทาสอย่างที่กล่าวหา ที่ผ่านมาสมาคมได้แจ้งเบาะแส จนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองลงโทษกับผู้กระทำผิดด้านแรงงาน ไม่ว่าแรงงานในประเทศ หรือแรงงานต่างด้าว ตามกฎหมายค่อนข้างรุนแรง อีกทั้งหากสมาชิกใดกระทำผิดต่อกฎหมายแรงงานจะถูกขับออกจากการเป็นสมาชิก ไม่สามารถทำการค้าหรือส่งออกอุตสาหกรรมกุ้งไปตลาดต่างประเทศได้ ถือเป็นมาตรการค่อนข้างรุนแรงและสมาชิกก็ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง
นายพจน์ กล่าวว่า ทางภาคเอกชนจะไม่มีการตอบโต้สหรัฐ แต่อยากให้หลายประเทศมีความมั่นใจในอุตสาหกรรมกุ้งไทยทุกขั้นตอนตามระบบสากล กลุ่มได้มีการจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารห่วงโซ่ของภาคอุตสาหกรรมกุ้งไทยทุกขั้นตอน ซึ่งกระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศเห็นชอบแล้ว หลังจากนี้ไม่ว่าหน่วยงานใดสงสัยกลุ่มสามารถนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปชี้แจงทำความเข้าใจ และที่สำคัญแม้สหรัฐหรือสหภาพยุโรป (อียู) วิตกกังวลเกี่ยวกับห่วงโซ่การดำเนินอุตสาหกรรมประมงไทย แต่ขณะนี้ผู้ซื้อรายใหญ่ทั้งกลุ่มอียูและสหรัฐมีความมั่นใจว่าไม่มีการใช้แรงงานเยี่ยงทาสตามที่สื่อต่างประเทศโจมตีแต่อย่างใดกลุ่มพร้อมให้หน่วยงานในต่างประเทศหรือประเทศไทย เช่น กลุ่มเอ็นจีโอ หรือผู้ค้าของไทยทั่วโลกที่ยังสงสัย สามารถเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์จริงได้ ซึ่งกลุ่มพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายไทยและสากล พร้อมต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมาย
ส่วนกรณี อียูประกาศทบทวนความสัมพันธ์ เท่าที่ได้รับรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยจะไม่กระทบการค้ากับไทย แต่มีบางโครงการ เช่น การเปิดเขตการค้าเสรีไทย-อียู อาจต้องเลื่อนการลงนามบันทึกความเข้าใจออกไปก่อน เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ปกติ หลายประเทศจะให้ความสนใจประเทศไทย เพราะหลายประเทศมองว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนเดือนกันยายนนี้ กลุ่มจะทำเรื่องชี้แจงการนำสินค้าไทย เช่น กุ้ง ปลาทูน่า ที่อยู่ในบัญชีจับตามองพิเศษของสหรัฐ ให้ออกจากรายการดังกล่าว เพราะเชื่อว่าทั้ง 2 กลุ่มทำตามหลักเกณฑ์ระบบสากล และไม่เกี่ยวข้องกับการถูกกล่าวหาใช้แรงงาน ซึ่งคาดหวังว่าสหรัฐจะยอมให้สินค้าทั้ง 2 ชนิด หลุดจากบัญชีดังกล่าว โดยกลุ่มมั่นใจอย่างมาก ซึ่งไทยได้กำหนดแนวทางว่า กลางเดือนกรกฎาคม ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องนำข้อมูลต่างๆ มารวมกันไว้ให้เกิดความชัดเจนและเตรียมออกไปโรดโชว์ชี้แจงทำความเข้าใจทั้งสหรัฐและยุโรป
'อาชว์'เชื่อส่งออกไม่กระทบ
นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP กล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกาประกาศลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย และสหภาพยุโรปที่ระงับการ
เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาคการส่งออก แต่ทั้งนี้อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรมปลาป่นของ CP เพียงเล็กน้อย แต่ไม่ถึงขั้นกังวลใจ รวมถึงกระทบต่อราชการ หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจากนี้ ภาคเอกชนและภาครัฐควรมีความร่วมมือเร่งสร้างความเข้าใจ
ขณะที่มุมมองเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง 2557 จากสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลง ไม่มีเหตุรุนแรง มีการจ่ายเงินชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวครบ มีการปรับปรุงการส่งออก การผลักดันงบประมาณ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้น
เผยไทยมีสิทธิฟ้อง WTO
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการที่สหรัฐอเมริกาลดอันดับการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจากระดับเทียร์ 2 มาอยู่ที่ระดับเทียร์ 3 ว่า จะไม่กระทบกับการส่งออกสินค้าไทยไปประเทศต่างๆ นอกจากสินค้าบางประเภทที่ส่งออกไปยังสหรัฐ เช่น กุ้ง ปลา น้ำตาล และเสื้อผ้า ที่อาจได้รับผลกระทบบางส่วน แต่สินค้ากลุ่มนี้ก็มีสัดส่วนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดไปสหรัฐประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี แต่ไทยควรรวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจกับคู่ค้าระหว่างประเทศโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ เพราะสหรัฐยังไม่สามารถแทรกแซงทางการค้าของไทยได้
นอกจากนี้ ดับเบิลยูทีโอไม่ได้มีกฎว่าให้มีการแทรกแซงการค้าระหว่างประเทศได้ หากมีเหตุการณ์แทรกแซงทางการค้าเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทย ภาครัฐสามารถดำเนินการฟ้องร้องในเรื่องนี้ต่อดับเบิลยูทีโอได้ทันที
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากต้องการให้ทหารคืนระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนไทยด้วยการจัดการเลือกตั้ง เชื่อว่าปัญหาในเรื่องนี้ก็จะไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่ได้มีการเจรจาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้น ประเทศไทยควรใช้เวลา 1 ปีต่อจากนี้ รวบรวมข้อมูลและข้อเรียกร้องของกลุ่มประเทศในแถบยุโรป เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ความสะดวกทางการค้า และเมื่อถึงเวลาที่ไทยมีรัฐบาลก็ควรเริ่มดำเนินการเจรจาโดยทันที
สำหรับ การตั้งศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น อยากให้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจให้มีขอบเขตที่กว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น เอฟทีเอ และปัญหาเรื่องแรงงาน
ดัชนีท่องเที่ยวต่ำสุดรอบ 3 ปี
นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 2 ปีนี้ พบว่า อยู่ที่ระดับ 87 ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์การเมืองโดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีชาวต่างชาติเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ขณะที่ไตรมาส 3 มีแนวโน้มว่า ความเชื่อมั่นจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 95 จากการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ของ คสช. เช่น การปราบปรามกลุ่มอิทธิพลนอกกฎหมาย และการจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศภายในประเทศสงบเรียบร้อย และส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่ในไตรมาส 3 อาจขยายตัวร้อยละ 5 หรือมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยถึง 6.84 ล้านคน และไตรมาส 4 ขยายตัวที่ร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลักดันให้ยอดนักท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ 26.84 ล้านคน จากปีที่แล้ว 26.6 ล้านคน แต่หากไม่มีมาตรการที่เหมาะสมทันเวลา อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีนี้ลดลงถึง 1.25 ล้านคน กระทบรายได้ลดลง 58,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ นางปิยะมาน กล่าวถึงกรณีที่สหภาพยุโรป หรือ อียู ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวของตนเองที่จะเดินทางมาไทย ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 17 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยทั้งจากกลุ่มอิทธิพล และรถแท็กซี่เถื่อน ทางสภาฯ ได้ประสานไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เร่งเจรจากับผู้แทนจากอียูแล้ว
โรดโชว์เรียกเชื่อมั่น
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวภายหลังการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในเรื่องของตลาดทุนไทย ว่า มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันใน 3 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย การฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดทุนไทย ซึ่งก็มีนักลงทุนไทยในหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนโดยตรง รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ได้พูดคุยทำความเข้าใจ แต่ในส่วนของนักลงทุนไทยที่ลงทุนในตลาดทุนยังไม่ได้มีการจัดเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ดังนั้น ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และนักธุรกิจทั้งหมด ก็มาเสนอแผนที่จะชวนกระทรวงการคลัง ไปร่วมกันฟื้นฟูความเชื่อมั่นกับนักลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเราจะชวนทางกระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หารือเรื่องโครงการ 2.4 ล้านล้านบาท ที่จะนำขึ้นมาทำใหม่ กำลังหารือเบื้องต้นกับทางบีโอไอ เพื่อแสดงศักยภาพการลงทุนที่แท้จริงไม่ได้มีการลดลง และภาคเอกชนก็จะตามไปด้วย เพื่อแสดงความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจภายในประเทศเดินหน้าต่อได้อย่างปกติ ไม่ได้มีอะไรที่ติดขัด คาดว่าจะสามารถเดินทางไปโรดโชว์ได้ประมาณกลางเดือนหน้าเป็นต้นไป เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นฐานการลงทุนหลักที่มาลงทุนในไทย
ส่วนเรื่องที่สองที่หารือร่วมกัน คือ เรื่องการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยทางเราก็ได้เสนอแนะให้ทางกระทรวงการคลังจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนขึ้นมาใหม่ เดิมมีอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพในการทำงานเท่าที่ควรในช่วงที่ผ่านมา องค์ประกอบอาจจะมีการปรับเปลี่ยนบ้างเพื่อความกะทัดรัด และให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็น โดยเฉพาะไทยเรากำลังจะเข้าสู่เสรีเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน เรื่องการพัฒนาตลาดทุนมีความจำเป็นอย่างมากในการดำเนินการหลายๆ เรื่อง ซึ่งเราก็ต้องการให้ภาครัฐมีส่วนร่วมในการพัฒนาไปด้วยกัน
ขณะที่เรื่องสุดท้ายที่ได้หารือร่วมกันคือ การพัฒนาตลาดทุนโดยรวม เช่น เรื่องกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) เราก็ได้เสนอมุมมองของเรา โดยเสนอเอกสารที่ทางเราได้มีการศึกษา โดยเราเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาต่อไป แต่ก็ไม่ได้หารือกันในรายละเอียดมากนัก เพราะกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวออยู่
ญี่ปุ่นเชื่อ ศก.ไทยไม่คิดย้ายฐาน
ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยหนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อดังอย่าง 'นิกเกอิ'ของญี่ปุ่น พบข้อมูลว่า ราว 84.7% ของผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนในญี่ปุ่นซึ่งมีการลงทุนในประเทศไทย ยังคงให้ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในไทย โดยไม่มีแผนทบทวนยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของตนใหม่แต่อย่างใด ขณะที่อีกราว 68.8% ระบุ จะเดินหน้าทำธุรกิจของตนในไทยต่อไปตามเดิม
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด ระบุว่า แม้ผู้นำภาคธุรกิจของญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่จะยังคงมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในไทย โดยเฉพาะหลังการควบคุมอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก แต่ภาคเอกชนของญี่ปุ่นยอมรับว่า วิกฤตทางการเมืองในไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในไทยราว 1 ใน 4 โดยเฉพาะในแง่ของยอดขายสินค้าและความไม่ต่อเนื่องของกระบวนการผลิตสินค้า รวมถึงการขนส่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม และการประกาศ 'เคอร์ฟิว'ในช่วงที่ผ่านมา
ผลสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ยังระบุด้วยว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นมองเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมว่า มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และยังมีความน่าสนใจในการลงทุน
อย่างไรก็ดี ราว 57.6% ของผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชนของญี่ปุ่น รู้สึกกังวลต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจจีนที่ส่อเค้าชะลอตัวลง ขณะที่อีก 37.5% รู้สึกกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในเรื่องหมู่เกาะพิพาทหลายแห่งในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชีย