- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 15 August 2015 21:05
- Hits: 6248
รมว.พาณิชย์ มั่นใจ FTA ไทย-ปากีสถาน จะช่วยขยายโอกาสส่งออก หนุนการค้าสองฝ่ายขยายตัว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 60
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 12-13 สิงหาคม 2558 ได้เดินทางเยือนปากีสถาน เพื่อประชุม JTC ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 3 ณ กรุงอิสลามาบัด ร่วมกับนายคูราม เดสกีร์ ข่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ปากีสถาน พร้อมกับได้ประกาศเปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและปากีสถาน (FTA) ซึ่งจะเริ่มการเจรจารอบแรกในเดือนกันยายนปีนี้
พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า ในส่วนของการเจรจา FTA ทั้งสองฝ่ายคาดว่า จะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในกลางปี 2560 โดยกรอบการเจรจา FTA ประกอบด้วย การลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีของสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัย อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การระงับข้อพิพาท การอำนวยความสะดวกทางการค้า และความโปร่งใส
การเจรจา FTA จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการค้าของทั้งสองประเทศ โดยปากีสถานสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีประชากรกว่า 600 ล้านคน และเป็นประตูไปสู่ประเทศที่อาเซียนกำลังเจรจา FTA ด้วย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันทั้งสิ้นกว่า 3 พันล้านคน ในขณะที่ไทยก็สามารถใช้ปากีสถานเป็นประตูการค้าไปยังภูมิภาคเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง รวมทั้ง ตะวันตกของจีน รวมถึง สมาชิกกลุ่มประเทศในองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งมีประชากรประมาณ 2 พันกว่าล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ราว 1 ใน 3 ของตลาดโลก
ในส่วนของความร่วมมือ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในด้านต่างๆ ได้แก่
o สิ่งทอ ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตเส้นใยจากฝ้าย และเครื่องแต่งกายของชาย ได้เชิญให้ภาคเอกชนไทยมาลงทุนในปากีสถาน โดยเฉพาะในการผลิตเครื่องแต่งกายสตรีและเด็ก โดยปากีสถานมีการให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนในสเปเชี่ยลอีโคโนมิคโซน (Special Economic Zone) และในเอ็กซปอร์ตโพรเซสซิ่งโซน (Export Processing Zone) นอกจากนั้น นักลงทุนยังได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีที่ปากีสถานได้รับจากสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ GSP พลัส (GSP+)
o อัญมณี ไทยจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้ความช่วยเหลือปากีสถานใน 2 ด้าน ได้แก่ (1) การฝึกอบรมด้านอัญมณีศาสตร์ การออกแบบ การตลาด และ (2) การวิจัยในด้านแหล่งอัญมณี ธรณีวิทยา คุณภาพของอัญมณีในปากีสถาน และจะพิจารณาข้อเสนออื่นๆ ของปากีสถานในเรื่องความร่วมมือทางเทคนิค
o อาหาร เกษตรและการประมง ปากีสถานได้แสดงความขอบคุณไทยที่ให้ความช่วยเหลือด้านการประมง และในการหารือครั้งนี้ ไทยและปากีสถานตกลงที่จะร่วมมือกันต่อไปเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของปากีสถาน โดยไทยจะพิจารณาข้อเสนอโครงการความร่วมมือของปากีสถาน นอกจากนั้น ไทยจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงนาม MOU ด้านความร่วมมือทางการประมงกับปากีสถาน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันกำจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย สำหรับ เรื่องสินค้าเกษตรนั้น ปากีสถานเชิญผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารเกษตรแปรรูป
o สุขภาพและบริการสุขภาพ ไทยยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือปากีสถานในการป้องกันและรักษาโรคไข้เลือดออก ปากีสถานแสดงความขอบคุณไทยที่ให้การสนับสนุน และจะส่งข้อร้องขอความร่วมมือที่ต้องการจากฝ่ายไทย นอกจากนี้ ปากีสถานเชิญไทยให้ร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลปากีสถานและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ
o ยานยนต์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมยานยนต์ของปากีสถานมีศักยภาพในการเติบโต ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งไทยยินดีที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้คำแนะนำ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของปากีสถาน
o ด้านการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ปากีสถานจะให้ความร่วมมือกับไทยในการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ในส่วนของผลการเจรจาธุรกิจ (B to B) นั้น มีผู้ซื้อ (Buyers) ให้ความสนใจเข้าร่วมเจรจาธุรกิจทั้งสิ้น 182 ราย ได้มียอดสั่งซื้อใน 1 ปี มูลค่า 9.3 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าสำคัญ ดังนี้
(1) วัสดุก่อสร้าง (ถ่านหิน) 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2) มาม่า ได้เอเย่นต์ใหม่
(3) สุรพล ซีฟู้ดซื้อกุ้งจากปากีสถาน
(4) ชิ้นส่วนยานยนต์
(5) ระบบกรองน้ำ
(6) เครื่องทำความสะอาดในห้องผ่าตัด
ทั้งนี้ รายการ(4)-(6) มีแนวโน้มดีมากเพราะปากีสถานขาดแคลน
นอกจากนี้ สินค้าไทยที่ได้รับความสนใจสูง ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ และจักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อาหาร วัสดุก่อสร้าง เช่น ไฟเบอร์บอร์ด ขณะที่เอกชนไทยสนใจท่าเรือ Gwader ที่จีนลงทุน เพื่อเป็นสายทางเชื่อมโยงท่าเรือทวายในพม่า ซึ่งจะแล้วเสร็จอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะทำให้ปากีสถานขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อไป รวมทั้งสนใจการลงทุนด้านพลังงาน และประมงด้วย
“ผมเชื่อมั่นว่า FTA ไทย-ปากีสถาน จะช่วยขยายโอกาสในการส่งออก การแข่งขันและการลงทุนแก่ทั้งสองประเทศ ทั้งในตลาดไทยและปากีสถาน และในตลาดที่ทั้งสองประเทศมีความตกลง FTA ด้วย ซึ่งจะทำให้การค้าสองฝ่ายขยายตัวและสามารถบรรลุเป้าหมายทางการค้าที่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560” รมว.พาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย