WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Copy

 

กรมทรัพย์สินฯแจงยิบ ใช้กม.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่

มติชนออนไลน์ :

     หมายเหตุ - นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดแถลงรายละเอียด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป

      ประชาชนยังไม่ค่อยเข้าใจมากนักว่าจะต้องปฏิบัติเช่นไร จึงขออธิบายความกระจ่างต่อลิขสิทธิ์ฉบับใหม่มีสาระสำคัญเพิ่มเติม 8 ประการ ดังนี้

      1.คุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ ข้อมูลการบริหารสิทธิเปรียบเสมือนบาร์โค้ดของสินค้าที่แสดงรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อผลงาน ชื่อผู้สร้างสรรค์ ชื่อเจ้าของ ฯลฯ หากผู้ใดมาลบ แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าวถือว่าละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ 2.คุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี กรณีเจ้าของลิขสิทธิ์ใส่รหัสผ่าน (Password) ให้กับงานของตนเองที่อยู่บนอินเตอร์เน็ตเพื่อป้องกันการคัดลอกหรือเข้าชมได้ ถ้าใครเจาะรหัสผ่านนี้หรือหาวิธีเพื่อเข้าถึงงานดังกล่าว โดยที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตก็จะมีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี

      3.ยกเว้นการทำซ้ำชั่วคราว การใช้งานคอมพิวเตอร์อาจจะมีการคัดลอก (Copy) งานลิขสิทธิ์ในแรม (RAM) เพื่อให้เครื่องสามารถทำงานต่อไปได้แบบนี้ได้รับการยกเว้นว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ 4.จำกัดความรับผิดชอบของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ไอเอสพี (ISP) หรือผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต เช่น ยูทูบ ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดเมื่อมีการเผยแพร่งานละเมิดลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์ที่ตนให้บริการ หากไอเอสพีให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์นำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล

     5.การขายงานลิขสิทธิ์มือสอง งานลิขสิทธิ์ที่เราซื้อมาอย่างถูกต้องสามารถนำมาขายต่อเป็นสินค้ามือสองได้โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ภาพ หนังสือ ส่วนการขายซีดีภาพยนตร์มือสองจะต้องมีใบอนุญาตให้ขายตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ด้วย 6.เพิ่มสิทธิของนักแสดง นักแสดงมีสิทธิระบุชื่อของตนเองในงานที่ได้แสดงไป

    7.เพิ่มบัญญัติค่าเสียหาย ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น 8.ศาลสามารถสั่งริบหรือทำลาย ของละเมิดที่ได้ทำขึ้น หรือนำเข้ามาในประเทศ 

รวมทั้งเครื่องมือหรือสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วย

      อย่างไรก็ตาม สิ่งของมีลิขสิทธิ์ก็สามารถนำไปใช้ได้ที่ไม่ถือว่าละเมิดในกรณี เช่น วิจัยหรือศึกษา ไม่หากำไร, ใช้เพื่อหาประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว ญาติสนิท, ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงาน โดยแสดงความรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์, เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชน โดยรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์, ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดงโดยผู้สอน เพื่อใช้สอน ไม่หากำไร เป็นต้น

       ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้ทำได้โดยต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร

      สำหรับ เกณฑ์การพิจารณาในการใช้งานลิขสิทธิ์ว่าเป็นการละเมิดหรือไม่ จะดูจาก 1.วัตถุประสงค์และลักษณะของการใช้งาน เช่น จะไม่ถือว่าละเมิด เมื่อไม่ทำเพื่อการค้า อ้างอิงที่มา และก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม 2.ปริมาณและสัดส่วนที่นำไปใช้ และ 3.ผลกระทบต่อตลาดหรือมูลค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่นำไปใช้ เช่น การใช้งานลิขสิทธิ์ในการรายงานข่าว เมื่อเป็นภาพเคลื่อนไหวทำซ้ำและหรือเผยแพร่ได้ไม่เกิน 10% หรือ 3 วินาทีของแต่ละเรื่อง (แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน) เมื่อเป็นข้อความ ทำซ้ำหรือเผยแพร่ได้ไม่เกิน 10% หรือ 1,000 คำ ของแต่ละเรื่องหรือแต่ละบทความ (แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน)

      ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รวบรวมข้อสงสัยยอดนิยมเกี่ยวกับลิขสิทธิ์จากที่ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามทางสายด่วนของกรม 1368 และที่สอบถามเข้ามายังเว็บไซต์ของกรม http://www.ipthailand.go.th/ จึงได้นำข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำเป็นคู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ในลักษณะการตั้งคำถาม และมีคำตอบ รวม 10 ข้อ

10 คำถามควรรู้

1.ลิขสิทธิ์คุ้มครองอะไรบ้าง มีอะไรที่เราสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่

-ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งข่าวประจำวันทั่วไปในส่วนของข้อเท็จจริงที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

2.เราสามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากอินเตอร์เน็ตมาฟังและแชร์ต่อให้เพื่อนได้ไหม 

-การดาวน์โหลดถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรีสามารถดาวน์โหลดได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้ ส่วนกรณีเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้วจึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน 

3.การก๊อบปี้บทความหรือรูปภาพจากเว็บไซต์มาใส่เฟซบุ๊กของเราหรือแชร์ต่อทางไลน์ ทำได้หรือไม่

-บทความหรือรูปภาพเป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการก๊อปปี้หรือแชร์ต่อ ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 ถึง 2 ภาพที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) อย่างมีนัยสำคัญ และไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพ ก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

4.การนำงานมาใช้และเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตผู้สร้างสรรค์เพียงพอหรือไม่ที่จะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

-การนำงานมาใช้และเผยแพร่ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ จึงจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย 

5.การแฮกหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ เช่น รูปภาพหรือคลิปวิดีโอบนอินเตอร์เน็ต และลบลายน้ำดิจิตอลออก และปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอแล้วโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเรา มีความผิดอย่างไร และมีโทษเท่าใด

-การแฮกหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี และหากทำการลบลายน้ำดิจิตอลออกโดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิด ก่อให้เกิด ให้ความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ ส่วนการปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอของผู้อื่นและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน

โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท 

เพื่อการค้า 100,000 บาทถึง 800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

โทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท

เพื่อการค้า ปรับ 50,000 ถึง 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือนถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

6.การก๊อบปี้ภาพหรือบทความจากอินเตอร์เน็ตมาใช้ในลักษณะอย่างไรจึงจะต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ และอย่างไรจึงไม่ต้องขออนุญาต

-กรณีที่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การนำภาพหรือบทความนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้ในการติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

7.การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทูบมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

-การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทูบมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อกและถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชน เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์

ในกรณีของการแชร์ลิงก์ (link) เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ ก็อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์

8.หากซื้อซีดีเพลง หนังสือ หรือรูปภาพมาอย่างถูกต้อง เมื่อใช้แล้วจะนำออกขายต่อได้หรือไม่ กรณีซื้อโดยดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์ เพลงจากเว็บไซต์ จะขายต่อได้หรือไม่

-การซื้อซีดีเพลงหรือรูปภาพ ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีหรือรูปภาพนั้น จึงสามารถนำออกขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้ เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำและการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ สำหรับกรณีการซื้อมาโดยวิธีการดาวน์โหลดนั้น เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อได้

9.ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต (ISPs) เช่น YouTube Google True DTAC จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ หากผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตอัพโหลดหนังหรือเพลงละเมิดลิขสิทธิ์

-ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต (ISPs) ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล

10.จะทำอย่างไรเมื่อมีคนนำงานลิขสิทธิ์ของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

-เมื่อพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!