WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC-Somkiatเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 7 ศก.ไม่ฟื้น น้ำมันร่วง ประชาชนจับจ่ายน้อย

       แนวหน้า : เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมติดลบ 1.05% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 พาณิชย์อ้างเหตุเศรษฐกิจไม่ฟื้น น้ำมันร่วง ยืนกรานยังไม่ใช่เงินฝืดเพราะประชาชนยังจับจ่ายแม้จะน้อยลง ขอเวลาเช็คอีกเดือน เตรียมปรับคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อใหม่ พร้อมกางราคาสินค้าไทยถูกกว่าเพื่อนบ้านเยอะ ไม่แพงอย่างที่คิด

     นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือ เงินเฟ้อ เดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่106.57 ติดลบ 0.07% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และติดลบ 1.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน แต่ก็เป็นการติดลบที่น้อยลงกว่าเดือนก่อนที่ติดลบ 1.07% โดยการติดลบของเงินเฟ้อเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าลดลงตามต้นทุนราคาน้ำมันลดลง ขณะที่เฉลี่ย 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2558) ลดลง 0.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ก็ยืนยันว่ายังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากประชาชนยังใช้จ่ายแต่ก็ยอมรับว่ากำลังซื้อลดลงไป เพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง

     “เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมติดลบแต่ก็เป็นการติดลบที่น้อยลงจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าเงินเฟ้อจากนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ และกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 ส่วนไตรมาสที่ 3 เงินเฟ้อน่าจะอยู่ในกรอบ ลบ 0.3% ถึง ลบ 0.5% สำหรับเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องติดกัน 7 เดือน ในทางทฤษฎีอาจเป็นเงินฝืด แต่เราก็ต้องมาดูว่าที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันนั้นเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง เมื่อต้นทุนสินค้าลด ราคาสินค้าก็ลดลง ไม่ใช่เป็นเพราะประชาชนไม่ใช้จ่าย”

     การเคลื่อนไหวของสินค้าสำคัญ 450 รายการมีสินค้าที่ปรับสูงขึ้น 165 รายการ เช่น ปลาทู กุ้งขาวผัก ผลไม้สด ค่าเล่าเรียน เป็นต้น สินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงราคา 201 รายการ และสินค้าที่ปรับราคาลดลง 84 รายการ เช่น นมผง มะนาว น้ำมันพืชสบู่ เป็นต้น โดยในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาสูงขึ้น 0.41% ตามการสูงขึ้นของราคาผักสดเพราะสภาพอากาศที่แห้งแล้ง การสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกร ไก่สด ไข่สด ปลาน้ำทะเลสด กาแฟผงสำเร็จรูป โซดา อาหารตามสั่ง เป็นต้นขณะที่ข้าวสารเหนียว มะนาว ต้นหอม เงาะ น้ำมันพืชมะพร้าว ราคาลดลง ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาลดลง 0.34%ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง รวมถึงราคาสบู่ แชมพูสระผม ครีมนวดผม ผ้าอนามัย ผงซักฟอก น้ำยาดับกลิ่น น้ำยารีดผ้า เป็นต้น

      อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์เตรียมปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2558 ลงตามสถานการณ์ปัจจุบันเดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 0.6-1.3% ภายใต้สมมุติฐานระดับราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

      และเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-4% ทางกระทรวง จะติดตามสถานการณ์อีกสักระยะ หรืออีกประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ได้ความชัดเจน เพราะสมมุติฐานหลายๆ ตัวเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น ราคาน้ำมันที่เดิมมองว่าน่าจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็ไม่น่าจะสูงขึ้นมากอย่างที่ได้คาดไว้ ภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัว และเงินบาทอ่อนค่าลงจากสมมุติฐานเดิมล่าสุดอยู่ที่กว่า 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิมคาดอยู่ในช่วง 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

      “ตอนนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเงินเฟ้อปีนี้จะติดลบหรือไม่ แต่น่าจะเปลี่ยนแปลงจากเดิม เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ขณะนี้กระทรวงยังคงคาดการณ์เดิมไว้ก่อน โดยจะขอประเมินสถานการณ์อีกสักระยะ หรือประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะเห็นความชัดเจน”

     นอกจากนี้ จากการติดตาม ตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าอาหารของประเทศเพื่อนบ้านอีก 7 ประเทศได้แก่ พม่า กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีนและไต้หวัน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมาพบว่าจากการสำรวจสินค้าอาหาร เช่น ราคาข้าวสาร ไก่สด ไข่ไก่ น้ำตาลทราย เนื้อสุกร และน้ำมันพืชราคาสินค้าอาหารของไทยหลายรายการมีราคาต่ำกว่าหลายประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาอาหารของไทยไม่ได้แพงอย่างที่คนไทยคิด แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องค่าครองชีพอาจต่างกันบ้าง โดยการสำรวจราคาข้าวสารของไทยมีราคาถูกสุดอยู่ที่ กก.ละ 31.36 บาท รองมาคือ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนสิงคโปร์แพงสูงอยู่ที่ กก.ละ 62.80 บาท ราคาไก่สดของไทย กก.ละ 92.78 บาท ถูกที่สุดตามมาด้วยเวียดนามและฟิลิปปินส์ ขณะที่สิงคโปร์แพงสุดที่กก.ละ 276.32 บาท

     ด้านราคาไข่ไก่ของไทยราคาฟองละ 3.31 บาทและสิงคโปร์สูงสุด ฟองละ 8.79 บาท และน้ำตาลทรายของไทยกก.ละ 23.63 บาท จีนสูงสุดกก.ละ 88.16 บาท ส่วนราคาเนื้อสุกร ประเทศเวียดนามมีราคาถูกสุด กก.ละ 135 บาท ตามด้วยพม่า และไทย ซึ่งราคาอยู่ที่ กก.ละ 155 บาทขณะที่สิงคโปร์สูงสุด กก.ละ 703.36 บาท และราคาน้ำมันพืชของฟิลิปปินส์ถูกสุด ขนาดขวด1 ลิตร ราคา 48.36 บาท ตามด้วยพม่า และไทย ราคาขวดละ 51.77 บาท และสิงคโปร์สูงสุด ขวดละ135.64 บาท

เงินเฟ้อติดลบ 7 เดือน-กล้าย้ำ!ยังไม่ฝืด

     ไทยโพสต์ : พาณิชย์ * เงินเฟ้อ ก.ค. ลดลง 1.05% ติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 7 เหตุน้ำมันเป็นตัวฉุดหลัก "พาณิชย์" ย้ำอีก! ไม่ใช่เงินฝืด จ่อปรับคาดการณ์ทั้งปีใหม่อีกรอบ จากเดิม 0.6-1.3%

     นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค.2558 เท่ากับ 106.57 เทียบเดือน มิ.ย.2558 ลดลง 0.07% เทียบ ก.ค.2557 ลดลง 1.05% เป็นการติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 7 และเฉลี่ย 7 เดือน ปี 2558 (ม.ค.-ก.ค.) ลดลง 0.85%

   สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ก.ค. ลดลง 1.05% มาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 2.22% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 22.53% ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.10% จากการสูงขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 0.10% ผักและผลไม้สูงขึ้น 7.76% เครื่องประกอบอาหารสูงขึ้น 0.54% เป็นต้น

     ส่วนกรณีเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ยังไม่สะท้อนภาวะเงินฝืด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ต้นทุนสินค้าลดลง แต่ที่ประชาชนไม่ซื้อสินค้าทั้งที่สินค้าส่วนใหญ่ราคาลดลง เพราะมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ชะลอการใช้จ่ายมากกว่า

    นายสมเกียรติ กล่าวว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั้งปีใหม่ เพราะตัวเลขยังคงขยายตัวอยู่ในแดนลบ ผ่าน 7 เดือนยังติดลบ 0.85% โดยขณะนี้ยังยึดประมาณการเดิมคือ ขายตัวในกรอบ 0.6-1.3%.

พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.ค.58 หดตัว -1.05% จากตลาดคาด -1.0%

     นายสมเกียรติ ศรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ในเดือน ก.ค.58 อยู่ที่ 106.57 ลดลง 1.05% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.57 ขณะที่ตลาดคาดติดลบ 1.0% โดยยังเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 58 ลดลง 0.07% ส่งผลให้ CPI ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.58) ลดลง 0.85%

      ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI)  เดือน ก.ค.58 อยู่ที่ 105.93 เพิ่มขึ้น 0.94% จากเดือน ก.ค.57 และเพิ่มขึ้น 0.10% จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 7 เดือนของปี 58 โตขึ้น 1.18%

    สำหรับ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.ค.58 อยู่ที่ 114.41 เพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือน ก.ค.57 และเพิ่มขึ้น 0.41% จากเดือน มิ.ย.58 ตามการสูงขึ้นของราคาผักสด ที่สำคัญ ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักชีและพริกสด จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้ง ทำให้ผักเสียหาย รวมทั้ง เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ปลาน้ำทะเลสด กาแฟผงสำเร็จรูป โซดา อาหารโทรสั่ง (delivery) และข้าวราดแกง ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวสารเหนียว มะนาว ต้นหอม เงาะ และเครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำปลา ซีอิ๊ว และ เครื่องปรุงรส เป็นต้น

    ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 102.34 หดตัว 2.22% จากเดือน ก.ค.57 และลดลง 0.34% จากเดือน มิ.ย.58 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E 20 และ E 85 รวมทั้ง สินค้าค่าของใช้ส่วนบุคคล เช่น สบู่ แชมพูสระผม ครีมนวดผม ผ้าอนามัย และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก ก้อนดับกลิ่น น้ำยาล้างห้องน้ำ และน้ำยารีดผ้า เป็นต้น

     นายสมเกียรติ กล่าวว่า การลดลงของอัตราเงินเฟ้อ 1.05% (YoY) เป็นการลดลงน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว และราคาอาหารสดเริ่มขยับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่มีปริมาณผลผลิตลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง

      อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ประกอบกับ กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมกลุ่มราคาอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัวสูงขึ้น 0.94% ในเดือนก.ค.58

    นายสมเกียรติ มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อที่ติดลบของไทยนั้น เกิดจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีราคาปรับตัวลดลง ตามต้นทุนที่ปรับลดลง ไม่ได้เกิดจากเงินฝืดเพราะคนไม่บริโภคสินค้า ขณะที่เงินเฟ้อในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลต่อกำลังซื้อ เพราะราคาสินค้าบางตัวปรับลดลง แต่การที่คนอาจจะไม่จับจ่ายใช้สอย ไม่ได้เป็นเพราะของแพงขึ้น แต่เลือกจะจะเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น หรือเก็บเงินไว้เพื่ออนาคตมากกว่า

     นายสมเกียรติ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 58 หรือราวเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ หลังจากไตรมาส 3/58 คาดว่าจะติดลบที่ราว 0.3-0.5% เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังปรับตัวลดลง

     ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาปรับเป้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.6-1.3% จากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว และราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวลดลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ที่ยังคงปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งต้องติดตามว่าจะอ่อนค่าลงไปมากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดจะขอเวลาพิจารณาภายใน 1 เดือนนี้

   "คิดว่า อีกสักเดือนคงต้องประเมินใหม่ คิดว่าแนวคงไม่เป็นไปตามนั้นแล้ว...ตอนนี้ตัวเลขยังยืนตัวเดิม"นายสมเกียรติ กล่าว

       อินโฟเควสท์

หม่อมอุ๋ย ไม่กังวลเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 7 เดือน-มองลดดอกเบี้ยไร้ผล

      ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่อัตราเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ว่า โดยส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลแต่อย่างใด เพราะมองว่า มาจากปัจจัยเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่องและปัจจัยจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่นมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทั้งจีน เกาหลีและไทย ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของทุกประเทศ และเมื่อส่งออกไม่ดี ก็ส่งผลทำให้การนำเข้าสินค้าของประเทศใหญ่ๆลดลงไปด้วย

      "จากการวิเคราะห์จากนักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะปรับลงอีกสักระยะ และยังบอกไม่ได้ว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกเมื่อไหร่ สิ่งที่ทำได้คือรัฐบาลต้องพยุงตัวเอง ส่วนการช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจะไม่ใช้มาตรการในการลดดอกเบี้ย เพราะจะทำให้เกิดหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น และเชื่อว่าภาคเอกชนทราบดีว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้เป็นอย่างไร แต่รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนในระดับรากหญ้ามากกว่า เพราะถือว่าเป็นจุดอ่อนในระบบเศรษฐกิจไทย"รองนายกฯ กล่าว

   ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.)นั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดของมาตรการดังกล่าว จึงยังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่มองว่ามาตรการในบางเรื่องอาจจะไม่ใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เป็นมาตรการในระยะยาวมากกว่า

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างสำรวจเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1.5 ล้านไร่ เป็นเกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทาน ที่มีการปลูกพืชไปแล้วและได้รับผลกระทบจากการส่งน้ำ โดยอยู่ระหว่างการหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ เบื้องต้นมีแนวคิดว่าจะเป็นการจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรโดยตรง ซึ่งจะชดเชยตามอัตราที่เกษตรกรได้ลงทุนไป

       อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!