- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 01 August 2015 15:53
- Hits: 1957
กระทรวงพาณิชย์ เผย ผลจัดงานเซ้าเทิร์นฯที่สุราษฎร์ธานี ชาวสวนยางยิ้มมีออเดอร์ตลอดปี
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการเจาะตลาดเพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าไทยตามนโยบายพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ว่า จากการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อสานความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย - ไทย การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันการค้า กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงได้จัดงาน“เซ้าเทิร์น อินเตอร์เนชั่นแนล เทรด เอ็กโปร์” (Southern International Trade Expo) ระหว่างวันที่ 23 – 26 กรกฎาคม 2558 จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าฯได้สรุปผลการจัดงานแสดงสินค้าเพื่อการส่งออก ณ ห้างเซ็นทรัล พลาซ่า มีสินค้าจากประเทศไทย ประกอบด้วยสินค้าอาหาร สุขภาพและความงาม ฮาลาล วัสดุก่อสร้าง และสินค้าจากอินเดียรวม 180 คูหา มีผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า 342 ราย จากประเทศในอาเซียน จีน เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย อิหร่าน เป็นต้น เดินทางมาชมงานและเจรจาธุรกิจมีมูลค่าซื้อขายทันทีระหว่างงานประมาณ 5 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการซื้อขายภายใน 1 ปี ประมาณ 134 ล้านบาท
สำหรับ กิจกรรมการจับคู่ธุรกิจนั้น มีคำสั่งซื้อสินค้ายางและผลิตภัณฑ์รวมมูลค่า 33,738 ล้านบาท ( 970 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย 93 ราย และสถาบันเกษตรกร/สหกรณ์ชุมชน 16 แห่ง จับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้า 58 บริษัท จาก 17 ประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มยางพารา (ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น) มีปริมาณการสั่งซื้อรวม 585,450 ตัน (การเซ็นเอ็มโอยู 18 ฉบับ ) คิดเป็นมูลค่ากว่า 32,715 ล้านบาท (940 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) กำหนดส่งมอบใน 1 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อจากคู่ค้ารายเดิม และในจำนวนนี้สั่งซื้อจากสถาบันเกษตรกรฯ 25,000 ตัน มูลค่า 1,253 ล้านบาท ที่สำคัญเป็นการสั่งซื้อจากคู่ค้ารายใหม่ 17 ราย ปริมาณการสั่งซื้อ 67,890 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,848 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (อะไหล่ยานยนต์ ถุงมือยาง ถุงมือแพทย์ ล้อยาง) มูลค่าการสั่งซื้อรวม 1,023 ล้านบาท( 30 ล้านเหรียญฯ) จากทั้งหมด 12 ราย อาทิ สหรัฐฯ รัสเซีย เบลารุส อังกฤษ ญี่ปุ่น อิหร่าน บราซิล ผลสำเร็จครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งรัฐคุชราตใต้ อินเดีย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน)
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
พาณิชย์ แจงเหตุนำเข้าน้ำมันปาล์ม 5 หมื่นตันก่อนหน้า เป็นไปตามนโยบาย กนป. ยันราคาน้ำมันปาล์มยังอยู่ในระดับสูงกว่าต้นทุน
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ว่าตามที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเลขสต็อกน้ำมันปาล์มในช่วงปลายปี 2557 ต่อต้นปี 2558 และเชื่อมโยงมาสู่การนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ จนส่งผลให้ราคาผลปาล์มน้ำมันลดต่ำลงมากนั้น ทางกระทรวงได้ชี้แจงผ่านสื่อต่าง ๆ หลายครั้ง โดยเฉพาะในการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ซึ่งมีผู้แทนทั้งภาคราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกร ได้เห็นชอบให้ อคส. นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเท่าที่จำเป็น จำนวน 50,000 ตัน และใช้ระยะเวลาที่สั้นสุด โดยให้เร่งรัดนำเข้าภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม และให้ขายให้โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม นำมาผลิตและจำหน่ายเป็นน้ำมันพืชปาล์มบรรจุขวดและถุง ได้ 37.27 ล้านลิตร จำหน่ายหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในราคาไม่เกินลิตรละ 42 บาท และให้โรงกลั่นฯ ที่ซื้อน้ำมันปาล์มดิบนำเข้าจาก อคส. ต้องซื้อน้ำมันปาล์มดิบในประเทศไม่น้อยกว่าปริมาณนำเข้า ราคาไม่ต่ำกว่า ก.ก.ละ 30 บาท ซึ่งโรงกลั่นฯ ได้ซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (29 ม.ค. - 27 ก.พ.58)รวมจำนวน 64,052 ตัน ราคา ก.ก.ละ 30.00 - 37.50 บาท อีกทั้งยังมีมาตรการรองรับผลกระทบให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้รับราคาผลปาล์มไม่ต่ำกว่า ก.ก.ละ 5 บาท ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ราคาผลปาล์ม (น้ำมัน 17%) ณ หน้าโรงสกัดฯ อยู่ที่ ก.ก.ละ 5.50 - 6.50 บาท
อย่างไรก็ตาม ราคาผลปาล์มในช่วงเดือนมีนาคม 2558 เป็นต้นไป ปรับตัวลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่ราคายังอยู่ในเกณฑ์สูงโดยในช่วงเดือนมีนาคม 2558 ราคาผลปาล์ม (น้ำมัน 17%) ณ หน้าโรงสกัดฯ ยังอยู่ที่ ก.ก.ละ 4.35 - 5.43 บาท และเดือนเมษายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลปาล์ม ออกสู่ตลาดสูงสุด 1.42 ล้านตัน ราคาผลปาล์ม (น้ำมัน 17%) ณ หน้าโรงสกัดฯ อยู่ที่ ก.ก. ละ 3.90 4.80 บาท ซึ่งสูงกว่าต้นทุนการผลิตที่ ก.ก.ละ 3.38 บาท
สาเหตุที่ต้องนำเข้าน้ำมันปาล์ม 50,000 ตัน เป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งในปี 2557 ผลผลิตปาล์มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ลดลงจากที่พยากรณ์ไว้มาก ถึง 200,000 - 400,000 ตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ 34,000 - 68,000 ตัน รวมทั้งภาวะตลาดจริงในช่วงดังกล่าว ส่งสัญญาณว่าจะเกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม กระทรวงพาณิชย์จึงได้มอบหมายผู้บริหารระดับสูงลงพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญ เพื่อประเมินสถานการณ์ผลผลิตปรากฏว่า ผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 30 และจากการตรวจสอบสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเมื่อวันที่ 9 - 11 มกราคม 2558 จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงงานไบโอดีเซล และคลังรับฝากทั่งประเทศ 29 จังหวัด 170 โรงงาน โดยมีหลักฐานการตรวจสอบจากถังเก็บน้ำมันปาล์มทุกแห่ง และการตรวจสอบบัญชี รวมทั้งให้ผู้ประกอบการที่เก็บสต็อกน้ำมันปาล์มลงลายมือชื่อยืนยันตัวเลขปริมาณสต็อกเป็นหลักฐาน ปรากฏว่ามีปริมาณสต็อกคงเหลือ จำนวน 113,734 ตัน ต่ำกว่าระดับปกติที่ 200,000 ตันและต่ำกว่าระดับวิกฤติที่ 135,000 ตัน เมื่อเทียบกับตัวเลขสต็อกน้ำมันปาล์มที่ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2557 มี 167,591 ตัน และ ผลปาล์มที่รับซื้อได้และใช้ในการผลิตของเดือนมกราคม 2558 ที่ 419,281 ตัน ซึ่งต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้ถึง 195,186 ตัน ส่งผลให้สต็อกน้ำมันปาล์มสิ้นเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 117,197 ตัน หากไม่มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มในช่วงเดือนมกราคม 2558 จำนวน 9,002 ตัน สต็อกก็จะเหลืออยู่เพียง 108,195 ตัน เท่านั้นซึ่งต่ำกว่าสต็อกที่ได้มาจากตรวจในช่วง 9 - 11 มกราคม 2558
สำหรับ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศราคาแนะนำผลปาล์มทะลายและ ผลปาล์มร่วงราคาเดียวกัน อัตราน้ำมัน 17% ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 4.20 บาท ณ หน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และจุดรับซื้อในพื้นที่ (ลานเท) โดยให้ลานเทสามารถหักค่าใช้จ่ายและค่าขนส่งตามที่จังหวัดกำหนดในแต่ละพื้นที่ และน้ำมันปาล์มดิบราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 26.20 บาท ณ หน้าคลังรับซื้อในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้ราคาน้ำมันพืชปาล์มถึงมือประชาชนผู้บริโภคไม่เกินขวดลิตรละ 42 บาท เป็นการกำหนดเกณฑ์ราคาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ต้องได้รับผลตอบแทนพอสมควร จูงใจให้พัฒนาการผลิตผลปาล์มที่มีคุณภาพ และเป็นการพัฒนาระบบการจำหน่ายที่จะส่งผลให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันและราคาผลปาล์มในภาพรวมสูงขึ้นด้วย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย