WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC-Somkiatศก.ชาติคู่ค้าซบ-ออเดอร์วูบ-ราคาสินค้าเกษตรร่วง ส่งออกแย่สุดในรอบ ปีครึ่ง

     แนวหน้า : ส่งออกยังโคม่า ล่าสุดเดือนมิถุนายน ติดลบ7.87% รูดต่ำสุดในรอบ 3 ปี 6 เดือน พาณิชย์ยืนยันปัจจัยหลักมาจากการส่งออกรถยนต์ที่ลดลงอย่างหนัก เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ราคาสินค้าเกษตรชะลอตัว แต่ยังหวังครึ่งปีหลังสถานการณ์ดีขึ้นเพราะเข้าสู่ช่วงเทศกาล จับจ่าย คำสั่งซื้อเพิ่ม ช่วยส่งออกฟื้น

     นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถานการณ์การค้า

     ระหว่างประเทศของไทย ว่าการส่งออกเดือนมิถุนายน 2558 มีมูลค่า 18,162 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 7.87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 3 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่ธันวาคม 2554 ที่ติดลบ 8.15% ส่งผลให้ 6 เดือนแรก(มกราคม-มิถุนายน 2558) ส่งออกไทยมีมูลค่า106,855.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.84%

     ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ส่งออกเดือนมิถุนายน ติดลบสูง เป็นผลมาจากยอดส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ติดลบถึง 19.1% โดยเฉพาะรถกระบะที่ส่งออกลดลง เพราะมีการเปลี่ยนรุ่น รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป ยังคงมีมูลค่าติดลบต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้ปริมาณการส่งออกจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ติดลบ 4.1% ส่วนมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 7.7%

     เรื่องของรถยนต์ ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มูลค่าส่งออกเดือนมิถุนายนลดลงมาก แต่ก็เชื่อว่าในเดือนหน้าการส่งออกรถยนต์จะกลับมาดีขึ้น และกลับมาเป็นปกติได้ในเดือนสิงหาคมซึ่งจะช่วยดึงให้ส่งออกกลับมาดีได้ ประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะยางพารามันสำปะหลัง ก็เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น และก็น่าจะช่วยดึงให้การส่งออกไทยเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น

     สำหรับทางด้านตลาดส่งออกสำคัญของไทยทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีนออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และอาเซียนเดิมยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกมีเพียงตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่ยังคงมีอัตราขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะกัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลดีมาจากการค้าชายแดน แต่ทั้งนี้ไทยก็ยังรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศคู่ค้าสำคัญไว้ได้ ทั้ง สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และไต้หวัน เป็นต้น และก็มีแนวโน้มว่าในปี 2558 ส่วนแบ่งตลาดของไทยในคู่ค้าสำคัญดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีก่อน

     ขณะนี้ทั่วโลกการส่งออก 5 เดือน(มกราคม-พฤษภาคม 2558) แต่ละประเทศติดลบกับแทบทั้งหมด และถือว่าติดลบมากกว่าไทย มีเพียงจีนเท่านั้นที่การส่งอกยังเป็นบวก โดยการส่งออกของออสเตรเลียติดลบ 21.9% ฝรั่งเศสติดลบ 16.8% สิงคโปร์ติดลบ 133% มาเลเซียติดลบ 13.1% และญี่ปุ่นติดลบ 7.8% เป็นต้น

     ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกของไทย หลักๆ ยังมาจากปัจจัยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังต่ำ และไม่มีทิศทางจะปรับตัวสูงขึ้น ราคาทองคำที่ผันผวน และมีแนวโน้มปรับลดลง อาจส่งผลให้มีการนำเข้ามากขึ้นเพื่อเก็งกำไร อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทราคาสินค้าเกษตร และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นและกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี เพราะจะเป็นช่วงที่ลูกค้ามีคำสั่งซื้อสินค้ามากขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะสินค้าเกษตร สินค้าอาหาร ที่น่าจะดีขึ้น ส่วนเป้าหมายส่งออกทั้งปี 2558 อยู่ระหว่างการทบทวนเป้า จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.2%

     ส่วนการนำเข้าในเดือนมิถุนายนมีมูลค่า 18,012 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 0.21% ส่งผลให้เดือนมิถุนายนไทยเกินดุลการค้า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ไทยนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 103,383 ล้านเหรียญสหรัฐ ดลบ 7.91% ส่งผลให้ 6 เดือนไทยเกินดุลการค้าอยู่ 3,473 ล้านเหรียญสหรัฐ

     นอกจากนี้ในเรื่องของเทียร์ 3 หรือสถานการณ์การค้ามนุษย์ หากไทยยังคงอยู่ในสถานะเดิม ก็มองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกในปีนี้ทันที เนื่องจากทั้งปีน่าจะมีสัญญา คำสั่งซื้ออยู่แล้ว แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องการลงทุน การตัดสินใจจากนักลงทุนต่างประเทศมากกว่า และอาจจะกระทบเกี่ยวเนื่องมาถึงการส่งออกในปีถัดไปได้ ดังนั้นรัฐอาจต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศ

     ก่อนหน้านี้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีทั้งปัจจัยบวกและเสี่ยง ทำให้สศค.ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ปีนี้จะเติบโตลดลงเหลือประมาณ 3% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนว่า จะขยายตัวได้ที่ 3.7% โดยจีดีพีที่ระดับดังกล่าวถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ เนื่องจากภาคการส่งออกที่ถือเป็นสัดส่วนใหญ่ต่อการคำนวณจีดีพีนั้น ขยายตัวติดลบมาต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น

     ปัจจัยเสี่ยงหลักของจีดีพีปีนี้คือภาคการส่งออก เพราะมีสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพีแต่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่การส่งออกที่ลดลงนั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในหลายประเทศทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันแต่เราจะดีกว่าตรงที่ว่าเราติดลบน้อยกว่าประเทศอื่นๆ และยังประเมินว่า การส่งออกน่าจะดีขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!