- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 25 July 2015 21:11
- Hits: 5477
พาณิชย์ เตรียมรับมือผลไม้เริ่มออกสู่ตลาด เล็งผลักดันส่งออกต่างประเทศเพิ่ม
แนวหน้า : นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการผลักดันผลไม้ของภาคเหนือและภาคใต้ที่กำลังออกสู่ตลาดให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีน ที่มีการสั่งซื้อผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น ทั้งทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทุเรียนเป็นที่ต้องการของตลาดจีนมาก ผลผลิตแทบจะไม่พอขาย ประกอบกับช่วงก่อนหน้านี้ทุเรียนของภาคตะวันออกเจอพายุ ทำให้ผลผลิตเสียหาย ทำให้ผลผลิตลดลง จีนจึงต้องรอผลผลิตจากทางภาคใต้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ขณะที่ผลผลิตมังคุดในปี 2558 นี้ก็มีปริมาณลดลง ซึ่งผลผลิตของภาคใต้ลดลงมากถึง 39.09%
“กระทรวงได้เตรียมแผนรับมือผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดเอาไว้แล้ว โดยผลไม้ของภาคเหนือ และภาคใต้เตรียมจะผลักดันให้ส่งออกมากขึ้น ส่วนผลไม้ของภาคตะวันออก ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ได้ทยอยออกสู่ตลาดเกือบหมดแล้ว เหลือแต่ลองกองที่ออกสู่ตลาดแล้วประมาณ 60% และที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาล้นตลาดและราคาตกต่ำ ส่วนลิ้นจี่ของภาคเหนือออกสู่ตลาดหมดแล้ว และที่ผ่านมาไม่มีปัญหาด้านราคา” นางดวงกมล กล่าว
สำหรับ ลำไยที่จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป คาดว่าจะมีผลผลิต 5.57แสนตัน ลดลง 19.97% และในช่วง 2 เดือน (กรกฎาคม-สิงหาคม) น่าจะมีผลผลิตประมาณ 3 แสนตัน ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาด้านราคา เพราะ 70% ของผลผลิตส่งออกไปยังจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม อีก 30% บริโภคในประเทศ
ส่วนผลไม้ของภาคใต้ที่กำลังเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ตุลาคม กระทรวงก็มั่นใจว่าจะบริหารจัดการและดูแลราคาไม่ให้ตกต่ำได้ เหมือนกับการดูแลผลไม้ของภาคตะวันออก เพราะผลไม้ของภาคใต้ที่กำลังจะออกมา ผลผลิตส่วนใหญ่ลดลง โดยทุเรียนลดลง 0.57% มังคุด 39.09% เงาะ 5.98% ลองกอง 19.95%
“ทุเรียน มังคุด และลำไย ไม่น่าห่วง เพราะผลผลิตมีน้อย ตลาดต่างประเทศก็มีความต้องการมาก แต่ลองกอง และเงาะ ที่ผลผลิตส่วนใหญ่ขายในประเทศ กระทรวงได้วางแผนรับมือและช่วยเหลือไว้แล้ว ทั้งการระบายออกจากแหล่งผลิต และการนำไปขายข้ามภาค” นางดวงกมล กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงยังได้จัดทำแผนในการรับมือผลไม้ช่วงออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยจะกระจายผลผลิตจากแหล่งผลิตไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น นำลำไยจากภาคเหนือไปขายภาคใต้ หรือนำผลไม้ภาคใต้ไปขายยังภาคอื่นๆ การประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลไม้ถึงสวน รวมทั้งการจัดงานแสดงสินค้า เพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย เช่น งาน “Southern International Trade Expo 2015” ที่จ.สุราษฎร์ธานี และการจัดงานแสดงสินค้าเพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยที่หนานหนิง ฉางชุน และฮาร์บิ้น เป็นต้น
“เชื่อว่าปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำคงไม่มี แต่ก็พบปัญหาในด้านผู้ผลิตผลไม้บรรจุกระป๋องที่เริ่มขาดวัตถุดิบในการนำมาผลิตสินค้า เช่น ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด ทำให้เป็นปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้กระป๋อง ขณะเดียวกันพบว่าในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ เริ่มมีการโค่นต้นยาง แล้วหันมาปลูกทุเรียนแทน เนื่องจากปัจจุบันราคาดี แต่ก็มีความเป็นห่วงว่ากว่าจะตัดผลผลิตได้ ต้องใช้เวลา 4-5 ปี เมื่อถึงตอนนั้นราคาอาจจะไม่เป็นเช่นนี้แล้ว จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” นางดวงกมล กล่าว