WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

 MOC1พาณิชย์ เผย ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือน มิ.ย.58 ลดง 0.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

   นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่าในเดือนมิถุนายน 2558 ผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ จำนวน 5,161 ราย เพิ่มขึ้น 638 ราย คิดเป็น 14% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558  ซึ่งมีจำนวน 4,523 ราย และลดลง 38 ราย  คิดเป็น 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งมีจำนวน  5,199 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2558  มีจำนวน 1,322 ราย

    มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนมิถุนายน 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 11,905 ล้านบาท ลดลง จำนวน 5,627 ล้านบาท  คิดเป็น 32%  เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งมีจำนวน 17,532 ล้านบาท และลดลง จำนวน 5,696 ล้านบาท  คิดเป็น 32% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งมีจำนวน 17,601 ล้านบาท

    ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 522 ราย อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 312 ราย  ขายส่งเครื่องจักร จำนวน 131 ราย  ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 128 ราย  และขายส่งวัสดุก่อสร้าง 107 ราย ตามลำดับ

     ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 612,177 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 15.65 ล้านล้านบาท  แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 431,208 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,099 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 179,870 ราย

    อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในครึ่งปีแรก 2558 มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ จำนวน 31,557 ราย เพิ่มขึ้น 1,555 ราย คิดเป็น 5% เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2557 และเพิ่มขึ้น 2,091 ราย  คิดเป็น 7% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2557 สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศ  ในครึ่งปีแรก 2558  มีจำนวน  6,898 ราย ลดลงจำนวน 6,220 ราย  คิดเป็น 47%  เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2557 และเพิ่มขึ้น จำนวน 1,048 ราย คิดเป็น 18% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2557

    มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในครึ่งปีแรก 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 93,786 ล้านบาท  ลดลงจำนวน 68,576 ล้านบาท คิดเป็น 42%  เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2557 และลดลง จำนวน  24,975  ล้านบาท คิดเป็น 21% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2557 

   สำหรับ แนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทในช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.58)  คาดว่าตลอดทั้งปี 2558 จะมีนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ ประมาณ 60,000 - 65,000 ราย  ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยได้รับปัจจัยบวกที่เป็นแรงสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ภาคการส่งออก สถานการณ์ ภัยแล้ง และสภาพเศรษฐกิจโลก  ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลต่อการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทโดยรวม

   สำหรับ เรื่องที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดข้ามเขตจังหวัด นั้น ในเดือนมิถุนายน 2558  มีการยื่นขอจดทะเบียนข้ามเขต จำนวน  794 ราย จากการจดทะเบียนทั่วประเทศ จำนวน 5,161 ราย หรือ คิดเป็น 15% โดยแบ่งออกเป็น

   - ส่วนกลาง 565 ราย  คิดเป็น 11% โดยสำนักงานในส่วนกลางที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำ) จำนวน 133 ราย รองลงมา สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 5 (บางนา) จำนวน 106  ราย และ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 3 (รัชดาภิเษก)  จำนวน  90 ราย 

   - ส่วนภูมิภาค 229 ราย  คิดเป็น 4% โดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ สพค.จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 26 ราย  รองลงมา สพค.สมุทรปราการ จำนวน 24 ราย และ สพค.จังหวัดชลบุรี  จำนวน 22  ราย

    นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้เปิดให้บริการโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคล โดยสามารถค้นหาจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนของนิติบุคคล รวมทั้งข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application : DBD e-Service) โดยระบบจะแสดงผลเป็นภาษาไทย ซึ่งสามารถใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ IOS และ Android เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน  2558  รวมทั้งสิ้น 522,043  ครั้ง โดยในเดือนมิถุนายน 2558  มีการเข้าใช้ระบบนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 58,372  ครั้ง คิดเป็น 13%

   อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังคงส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกิจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมได้ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน  12,151 ราย 13,811 เว็บไซต์  ประกอบด้วยนิติบุคคล 3,265 ราย คิดเป็น 27% บุคคลธรรมดา 8,886 ราย คิดเป็น 73%  โดยธุรกิจที่ขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,447 เว็บไซต์ คิดเป็น 18% ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 2,225 เว็บไซต์  คิดเป็น 16% และธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ  จำนวน 1,564 เว็บไซด์ คิดเป็น 11% ตามลำดับ ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคมาใช้บริการ  นอกจากผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์แล้ว กรมยังได้หารือกับตลาดกลางออนไลน์ให้กำกับดูแลสมาชิกให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย  เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับ และอาจต้องพิจารณางดให้บริการเข้าขายสินค้าในตลาดกลางด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการขยายตัวของการซื้อขายทางออนไลน์ของไทยให้เติบโตในอัตราก้าวกระโดดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

    สำหรับ นิติบุคคลที่ยังไม่นำส่งงบการเงินในขณะนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอให้นิติบุคคลนั้น รีบนำส่งงบการเงินโดยเร็ว เพราะนอกจากจะต้องชำระค่าปรับตามระยะเวลาที่นำส่งงบการเงินล่าช้าแล้ว กรมยังได้ร่วมมือกับกรมสรรพากรในการนำส่งรายชื่อนิติบุคคลดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากรเพื่อทำการตรวจสอบทางภาษีต่อไป

     ปัจจุบัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี XBRL มาสนับสนุนการให้บริการรับงบการเงินผ่านทางเว็บไซต์กรม www.dbd.go.th เลือก “การนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing)” ผู้ประกอบการสามารถส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ e-Form และรูปแบบ XBRL in Excel ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558  มีผู้สมัครลงทะเบียน จำนวน 11,801 ราย มาแสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ จำนวน 6,194 ราย และส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 2,005 ราย โดยระบบนี้ สามารถรองรับการนำส่งงบการเงินของนิติบุคคลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ แต่เมื่อเทียบกับจำนวนนิติบุคคลที่ยังดำเนินการอยู่ทั้งหมด จำนวน 612,177 รายแล้ว จะเห็นว่ามีอัตราส่วนการใช้งานระบบ DBD e-Filing น้อยมาก กรมจึงได้ร่วมมือกับบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL ในการจัดทำฐานข้อมูลงบการเงินในรูปแบบ XBRL สำหรับนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงินรอบปีบัญชี 2557 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นิติบุคคลที่จะนำส่งงบการเงินรอบปี 2558 เพียงแค่บันทึกงบการเงินเฉพาะปีล่าสุดปีเดียว โดยไม่ต้องบันทึกข้อมูลงบการเงินรอบปีก่อนหน้าอีก

     ท้ายนี้ กรมฯ ยังได้เปิดให้บริการใหม่อีกหนึ่งบริการ คือ การออกหนังสือรับรองนิติบุคคลเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ  ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงวันที่ 30  มิถุนายน 2558 มีผู้มาใช้บริการ ทั้งสิ้น 1,214  คำขอ จำนวน 1,250 ฉบับ แบ่งเป็นส่วนกลาง 790 คำขอ 819 ฉบับ ส่วนภูมิภาค 424  คำขอ 431 ฉบับ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!