WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOCฉตรชย สารกลยเชิญ CEO ถกแก้วิกฤติส่งออก จัดแอ๊กชั่น แพลนส่ง 4 กลุ่มสินค้ารุกตลาดทำเงินเพิ่ม พาณิชย์จับมือเอกชนฟื้นส่งออก

     แนวหน้า : พาณิชย์ กางแผนปฏิบัติการ (แอ๊กชั่น แพลน)จับมือเอกชนเดินสายโรดโชว์ รุกขยายตลาด ผลักดัน 4 กลุ่มสินค้า หวังช่วยส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมาย 1.2% ทำเงิน 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ประเดิมสัปดาห์หน้าเชิญซีอีโอบริษัทรถยนต์เข้ามาหารือเพื่อร่วมกันวางแผนส่งออกกลุ่มสินค้ายานยนต์

     พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามงานกระทรวงพาณิชย์ประจำสัปดาห์ว่า แม้ว่าหลายฝ่ายจะประเมินสถานการณ์ส่งออกทั้งปีของไทยว่าอาจติดลบ แต่กระทรวงพาณิชย์ยังตั้งเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2558 ไว้ที่ 1.2% หรือมีมูลค่า 230,254 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ กระทรวง ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ(แอ๊กชั่น แพลน)ผลักดันการส่งออกในช่วงเดือนที่เหลือจากนี้

   แผนพิเศษดังกล่าวจะทำการผลักดันการส่งออกใน 4 กลุ่มสินค้า ซึ่งมีสัดส่วน 57% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดได้แก่ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โดยใน 7 เดือน มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกอีก 53,631 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบัน (มกราคม-พฤษภาคม 2558) มีมูลค่าการส่งออกแล้ว 33,081 ล้านเหรียญสหรัฐ

   2.กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ที่มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าอีก 12,413 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่มีมูลค่า 7,575 ล้านเหรียญสหรัฐ, 3.กลุ่มปิโตรเคมี ที่มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าอีก 9,992 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่มีมูลค่า 6,292 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 4.กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าอีก 4,824 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่มีมูลค่า 2,971 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ติดตามดำเนินการต่อไป

   “ในช่วง 7 เดือนจากนี้ จะต้องเพิ่มมูลค่าการค้าอีก 141,560 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ปีการส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 1.2% ซึ่งทางกระทรวง มองเห็นศักยภาพของสินค้า 4 กลุ่มสินค้า จาก 12 กลุ่มสินค้า เพราะเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าการส่งออกสูง และมีโอกาสมาก แต่กระทรวง ก็ไม่ได้ทิ้งแผนเดิม แต่เราจะเร่งทำงานให้มากขึ้น”

   ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามแผนแอ๊กชั่น แพลน ในสัปดาห์หน้า ทางกระทรวง จะทำการเชิญผู้บริหารระดับสูง(CEO) ในกลุ่มยานยนต์ ประกอบด้วย โตโยต้าฮอนด้า บีเอ็มดับบลิวยู และมิตซูบิชิ เข้ามาหารือถึงแผนการส่งออกกลุ่มสินค้ายานยนต์ให้เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวง ก่อนจะร่วมมือกันออกไปโรดโชว์ ขยายตลาดทางการค้าในประเทศต่างๆ จากนั้นจะทยอยหารือกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

    ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ มีแผนขยายตลาดในสินค้า กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก, กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร และกลุ่มปิโตรเคมี ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม จะเป็นการขยายตลาดในสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ โดยในวันที่ 25-30

    กรกฎาคมนี้ จะนำคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเยือนแอฟริกาใต้ เพื่อขยายตลาดสินค้าข้าว ยางพารา รถยนต์ และสิ่งทอ รวมถึงเดินทางไปโมซัมบิก เกี่ยวกับอัญมณี และรื้อฟื้นตลาดข้าว และระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม ในงาน Southern EXPO ได้รับการแจ้งว่ามี 66 บริษัท ของอินเดีย มีความต้องการซื้อยางพาราจากไทยประมาณ 520,000 ตัน อีกทั้งในวันที่ 16 กรกฎาคม ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เกาหลีใต้ จะนำคณะผู้ซื้อจากสมาคมเกาหลีจำนวน 60 ราย เดินทางมาซื้อสินค้ากลุ่มอาหาร อุตสาหกรรมหนัก ไลฟ์สไตล์ และสิ่งทอที่ไทย ตามแผนผลักดันการส่งออกเดิม

    อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเน้นให้ความสำคัญกับตลาดหลัก ทั้ง ตลาดสหรัฐและจีน โดยล่าสุดสหรัฐ ได้ต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) กับสินค้าไทยออกไปอีก ส่วนจีนจะมุ่งเข้าไปในตลาดใหม่ๆ ให้มากขึ้นในกลางทวีป ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจในกรีซนั้น ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในยุโรป แต่เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แล้วเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสส่งสินค้าไปสหรัฐ ได้เพิ่มขึ้น

   “สำหรับ แผนพิเศษจะมีการกำหนดเป้าหมายประเทศที่จะผลักดันการเพิ่มมูลค่าอย่างชัดเจน โดยจะบูรณาการการทำงาน ผลักดันให้บรรลุตามเป้าหมาย แม้ภาคเอกชนจะออกมาระบุว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 2% แต่เชื่อว่าแผนตลาดที่เพิ่มขึ้นและการดึงผู้บริหารเข้ามาร่วมในการผลักดัน จะทำให้การส่งออกเป็นบวก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าก็ตาม”รมว.พาณิชย์กล่าว

เชิญ CEO ถกแก้วิกฤติส่งออก'ฉัตรชัย'ลุยจัดทำแผนครึ่งปีหลังหวังดันเป้าโต 1.2%

    บ้านเมือง : พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำยุทธศาสตร์การส่งออกใน ช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อผลักดันให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.2% มูลค่า 230,254 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่ปัจจุบันในช่วง 5 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-พ.ค.) ส่งออกมีมูลค่ารวม 88,694 ล้านเหรียญสหรัฐ อีก 7 เดือนต้องทำเพิ่มอีก 141,560 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแผนที่จะดำเนินการจะเป็นแผนเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที นอกเหนือจากแผนงานปกติที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศดำเนินการอยู่

   ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินการ กระทรวงฯ จะเชิญผู้บริหารระดับสูง (CEO) ของบริษัทต่างๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมหนัก เกษตรและอาหาร ปิโตรเคมี อัญมณีและเครื่องประดับ มาหารือเพื่อร่วมกันจัดทำแผนผลักดันการส่งออก เพราะเอกชนเองก็มีแผนการส่งออกของตัวเองอยู่แล้ว ก็ต้องมาดูกันว่าจะมาทำแผนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ได้อย่างไร เพื่อให้การทำงานสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายผลักดันการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น

    "วันที่ 13 ก.ค.นี้ จะนำร่องเชิญผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของไทย ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า บีเอ็มดับบลิว และมิตซูบิชิ มาหารือเพื่อร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้การผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะมาคุยกันเลยว่าถ้าจะผลักดันการส่งออกให้ได้เพิ่มขึ้นต้องทำอย่างไร วิธีการแบบไหน รัฐจะช่วยเหลือยังไง ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะดำเนินการร่วมกันทันที โดยจะมีการหารือในลักษณะเดียวกันนี้กับ CEO ของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ด้วย" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

    พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับสินค้าส่งออกใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็น 57% ของยอดการส่งออกรวม โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออกให้ได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมหนัก ประกอบด้วย รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีเป้าหมายการส่งออกขยายตัว 5.1% มูลค่า 86,712 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันส่งออกได้มูลค่า 33,081 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 7 เดือนจากนี้จะต้องส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 53,631 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เป้าหมายส่งออกของเอกชน โดยรวมอยู่ที่ 3.4% มูลค่า 85,252 ล้านเหรียญสหรัฐ

      2.เกษตรและอาหาร ประกอบด้วย ข้าว อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป กุ้ง ผัก ผลไม้ ไก่สดแช่เย็น และแปรรูป น้ำตาล เป้าหมาย ติดลบไม่เกิน 2.5% มูลค่า 19,988 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันส่งออกได้มูลค่า 7,575 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องทำเพิ่มอีก 12,413 ล้านเหรียญสหรัฐ

    3.ปิโตรเคมี ประกอบด้วย เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ต้องติดลบไม่เกิน 10.9% มูลค่า 16,284 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันส่งออกได้มูลค่า 6,292 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องทำเพิ่มอีก 9,992 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.อัญมณีและเครื่องประดับ ประกอบด้วย อัญมณีและเครื่องประดับ (หักทองคำ) เป้าหมาย ขยายตัว 6.8% มูลค่า 7,795 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันส่งออกได้มูลค่า 2,971 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องทำเพิ่มอีก 4,824 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้าอื่นๆ เป้าหมาย 99,476 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันส่งออกได้ 60,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

     พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ในส่วนตลาดส่งออกจะเน้นตลาดสหรัฐ หลังจากมีแนวโน้มการขยายตัวได้สูงขึ้น และไทยยังได้รับผลดีจากการที่สหรัฐฯ ต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ทำให้มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดจีน แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะน่าเป็นห่วง แต่จะเน้นการทำตลาดเมืองใหม่ๆ ที่อยู่กลางทวีป เพราะยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก ขณะที่เมืองเดิมๆ ให้รักษาฐานตลาดเอาไว้ และยังพบว่ารูปแบบการค้า E-Commerce ในจีน มีอัตราขยายตัวสูงถึง 48.7% ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทย โดยขอให้ทูตพาณิชย์ติดตามเพื่อขยายผลต่อไป

     อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.ค.นี้ กระทรวงฯ มีแผนที่จะผลักดันการส่งออก โดยจะจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเยือนแอฟริกาใต้ เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าข้าว ยางพารา และประเทศโมซัมบิก เพื่อเจรจาขยายตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงข้าว ที่ก่อนหน้านี้ตลาดเคยเป็นของไทยและขาดหายไปนาน จึงต้องไปทวงกลับคืน ส่วนตลาดอื่นๆ กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน แต่จะมีทยอยออกมาต่อเนื่อง

     สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออก ยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกยังน่าเป็นห่วง และอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่เชื่อว่าไทยยังมีโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศที่ส่งออกหลายๆ ประเทศต่างมียอดการส่งออกที่ขยายตัวลดลง ขณะที่ไทยแม้จะลดลง ก็ไม่ถือว่าลดลงมาก เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ส่วนปัจจัยอื่นๆ แม้จะไม่ใช่ปัญหาหลักแต่ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เช่น วิกฤติหนี้กรีซ ที่ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนลงกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยุโรป เป็นต้น

ทำแผนพิเศษดันส่งออกโต 1.2% เน้น 4 สินค้าหลักบุกตลาดนำร่องถก'ซีอีโอ'ค่ายรถ

    ไทยโพสต์ : สนามบินน้ำ * พาณิชย์ทำแผนพิเศษ ดันส่งออกปีนี้โตเข้าเป้า 1.2% เน้น 4 สินค้าอุตสาหกรรมหลัก ที่มีสัดส่วนถึง 57% ของมูลค่ารวม นัดถกซีอีโอยักษ์รถยนต์นำร่อง ก่อนเดินทางไปเคาะประตูขายสินค้าจริง เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้

     พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนพิเศษเพื่อผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยปีนี้ขยายตัวได้ 1.2% ตามเป้าหมาย หรือมี มูลค่า 230,254 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในช่วง 7 เดือนที่เหลือ ของปีนี้ จะต้องได้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 141,560 ล้านเหรียญฯ จากช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ทำได้เพียง 86,712 ล้านเหรียญ สหรัฐ

    โดยจะเน้นผลักดันสินค้า 4 กลุ่มหลักที่มีมูลค่าการส่งออกมาก หรือมีสัดส่วน 57% ของมูลค่าการส่งออกรวม คือ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, วัสดุก่อสร้าง, ผลิตภัณฑ์ยาง, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ โดยต้องทำให้มูลค่าการส่งออกช่วง 7 เดือนที่เหลือเพิ่มขึ้นอีก 53,631 ล้านเหรียญสหรัฐ จากช่วง 5 เดือนอยู่ที่ 33,081 ล้านเหรียญสหรัฐ

    2.กลุ่มสินค้าเกษตร และอาหาร ได้แก่ ข้าว, อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป, ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป, น้ำตาล, ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ต้องเพิ่มอีก 12,413 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 7,575 ล้านเหรียญสหรัฐ

    3.กลุ่มสินค้าปิโตรเคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ต้องเพิ่มอีก 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 6,292 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 4.กลุ่ม สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไม่รวมทองคำ ต้องเพิ่มอีก 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอื่นๆ ที่ต้องทำเพิ่มอีก 60,700 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 38,776 ล้านเหรียญสหรัฐ

     แผนผลักดันการส่งออกพิเศษ หรือ Track 2 จะเน้นการเจาะเป็นรายตลาด ตามความต้องการของผู้บริโภค และกำหนดเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้ได้อย่างชัดเจน โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ผลักดันการส่งออกปกติ หรือ Track 1 ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศดำเนินการอยู่แล้ว มั่นใจว่าจะทำให้เป้าหมายการส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ 1.2% ตามเป้าหมายแน่นอน แม้ภาคเอกชนคาดการณ์ว่าจะติดลบ" พล.อ. ฉัตรชัยกล่าว

    สำหรับ แนวทางที่จะดำเนินการในแผนพิเศษ จะเน้นจัดคณะเดินทางไปเคาะประตูขายสินค้าในตลาดเป้าหมาย อย่างสหรัฐ จีน เน้นเจาะเมืองรองที่อยู่ตอนกลางของประเทศ รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งในเดือน ก.ค.นี้ จะนำคณะเดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อขายข้าว ผลิต ภัณฑ์ยางพารา รถยนต์ และไปประเทศโมซัมบิก เพื่อเจรจาให้กลับมาซื้อข้าวไทยอีกครั้ง แต่ก่อนการเดินทางจะเชิญภาคเอกชนมาหารือวางแผนผลักดันกันก่อน

    โดยสัปดาห์หน้าจะเชิญประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ทั้งโตโยต้า, ฮอนด้า, บีเอ็มดับ เบิลยู และมิตซูบิชิ มาหารือ หลังจากนั้นจะเป็นสินค้าแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิ โตรเคมี เป็นต้น.

‘ฉัตรชัย’สั่งพาณิชย์จังหวัด ดูแลค่าครองชีพประชาชนช่วงภัยแล้ง

     แนวหน้า : พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเร่งรัดดำเนินงานตามแผนการของกระทรวงใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การติดตามความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์และค้าปลีกในทุกจังหวัดที่มีกว่า 10,000 ราย ให้จัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้พาณิชย์จังหวัดสำรวจความต้องการ ความเหมาะสม ในการผลักดันธุรกิจ ให้เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะพาณิชย์จังหวัดจะรู้ดีในพื้นที่ของตนเองอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมใดเหมาะสมที่จะเข้าไปตั้งโรงงาน อย่างเช่น พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก อุตสาหกรรมที่เหมาะสม เช่น เสื้อผ้า และสิ่งทอ ซึ่งมีโรงงานเหล่านี้ตั้งอยู่จำนวนมาก

     นอกจากนี้ ยังให้พาณิชย์จังหวัดต่างๆ เดินหน้าทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนหรือความร่วมมือระหว่างพาณิชย์จังหวัดในการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดเพราะที่ผ่านมาได้นำร่องปฏิบัติที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี สามารถแก้ปัญหาเรื่องหอมแดง และหอมหัวใหญ่ล้นตลาดได้

     ในขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ดูแลเรื่องผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยให้ดูแล ติดตามค่าครองชีพของประชาชน ราคาสินค้าเกษตร รวมถึงได้แจ้งให้ทราบถึงความร่วมมือของภาครัฐ และผู้ผลิตสินค้า ที่จะมีการนำสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ไปจำหน่ายให้เกษตรกร ผ่านร้านค้าสหกรณ์ภายใต้การดูแลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

    “ในการดูแลเรื่องปัญหาภัยแล้ง กระทรวงได้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านโครงการธงฟ้าสู่ชุมชนนัดพิเศษ โดยผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3-6 กรกฎาคม 2558 ได้นำสินค้าไปจำหน่ายให้ผู้บริโภคแล้ว 19 จังหวัด 110 ตำบล ประชาชนได้รับประโยชน์ 50,600 ครัวเรือน มียอดจำหน่าย 12.65 ล้านบาท สามารถช่วยลดค่าครองของประชาชนได้ 8.43 ล้านบาท และเชื่อว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 จะมียอดจำหน่าย 90-100 ล้านบาท ลดค่าครองชีพประชาชนได้ 60-70 ล้านบาท”พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!