- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 08 July 2015 12:23
- Hits: 2185
สกัดเหล็กจีนตีตลาดไทย พาณิชย์งัด6มาตรการช่วยผู้ประกอบการ
แนวหน้า : พาณิชย์ออก 6 มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็ก พร้อมเตรียมคุยจีนยกเลิกอุดหนุนการผลิตและส่งออกเหล็กในเวทีอาเซียน-จีน หลังส่งตีตลาดไทย ทำผู้ประกอบการในประเทศเดือดร้อน ด้านสอท.หนุนออกมาตรการตอบโต้
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือ เรื่อง แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ใน 9 ประเด็นหลัก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ไทยได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต่างด้านราคา กระทบต่อราคาเหล็กที่ผลิตในประเทศ ขณะเดียวกันคุณภาพของเหล็กที่ไม่ได้รับการควบคุม อาจส่งผลต่อการก่อสร้างในอนาคต ดังนั้นในที่ประชุม จึงได้มีมติร่วมกันในการกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือใน 6 มาตรการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืน อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
สำหรับ 6 มาตรการที่ได้มีการกำหนดให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ได้แก่ 1.ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2558 เป็นต้นไป ให้กรมการค้าภายใน(คน.) กำหนดสินค้าเหล็กเป็นสินค้าอ่อนไหว ที่ต้องติดตามราคาและสถานการณ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน ทั้ง เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กกล้าแผ่นไร้สนิมรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น
2.ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าเจรจากับรัฐบาลจีน ให้ลดการอุดหนุนการผลิต และการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์มายังประเทศไทย โดยเบื้องต้นจีนได้มีการยกเลิกมาตรการคืนภาษีส่งออกสำหรับสินค้าเหล็กเจือโบรอนบางรายการแล้ว 3.กำหนดให้กรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเหล็ก ขณะนำเข้า ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ อีกทั้งยังให้เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า
4.ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทบทวนมาตรฐานของสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน 5.ให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งศึกษา พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำ(โรงงานถลุงเหล็ก) ในไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ของไทยและ 6.ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในไทย
“ปัญหาการส่งออกเหล็กที่มากเกินไปของจีน ไม่ได้กระทบเฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้นซึ่งหลายๆ ประเทศก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย และแต่ละประเทศต่างก็มีมาตรการไว้ตอบโต้อยู่แล้ว รวมถึงประเทศในอาเซียนด้วย ซึ่งระหว่างวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2558 นี้ ในเวทีประชุมอาเซียน-จีน ที่ประเทศจีน ก็จะมีการหารือถึงเรื่องการให้จีน ยกเลิกการอุดหนุนการผลิตการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน(ACFTA) ผ่านเวที่ ACFTA– JC”
ทั้งนี้ ยอมรับว่าไทยนำเข้าเหล็กจากจีนเป็นปริมาณมาก และเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ไทยนำเข้าเหล็กโดยรวมจากจีนปริมาณ 7 ล้านตันและในปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าเหล็กจากจีนปริมาณรวม 12 ล้านตัน และในปีนี้ ช่วงเวลา 5 เดือน(มกราคม-พฤษภาคม 2558) ไทยนำเข้าเหล็กจากจีนมาแล้ว 5 ล้านตัน ขณะเดียวกันการส่งออกเหล็กของจีนมายังไทย คิดเป็น 50% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกมายังตลาดอาเซียน
นายทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) กล่าวว่าผู้ประกอบการเหล็กยินดีทำตามมาตรการในการดูแลสินค้าเหล็กของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้กำหนดให้เหล็กเป็นสินค้าอ่อนไหว มีการติดตามราคาทุกวัน ซึ่งผู้ประกอบการ
เองก็ได้มีการรายงานสถานการณ์ให้ทราบทุกวันอยู่แล้ว และเห็นว่าการที่ไทยมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และมาตรการดูแลสินค้าเหล็กนำเข้า จากจีน ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะหลายๆประเทศทั่วโลกต่างก็มีมาตรการออกมาดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็มีการติดตามดูแลสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ความต้องการใช้เหล็กของไทยในปีก่อนมี18 ล้านตันต่อปี ซึ่งไทยผลิตเหล็กได้เอง 8 ล้านตันต่อปี และนำเข้าจากจีน 12 ล้านตันต่อปี ส่วนที่เหลือก็มีการส่งออก