- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 06 July 2015 21:41
- Hits: 2436
รมว.พาณิชย์ เผยที่ประชุมฯมีมติกำหนด 6 มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็ก
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อหารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืนว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทุกฝ่ายมีความร่วมมือแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม บนพื้นฐานของการยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
สำหรับ การกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กมีความเชื่อมโยงในหลายมิติ และเป็นปัญหาสะสมต่อเนื่องมากว่า 30 ปี อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมเป็นแกนหลักในการให้ความช่วยเหลือ และเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการแข่งขันให้กับภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กทั้งสายอุปทานให้ดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคงและเข้มแข็ง รองรับกับสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าที่รุนแรง ดังนั้นเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของภาคเอกชน ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ ใน 6 มาตรการ ดังนี้
1. นับตั้งแต่ 1 มิ.ย.58 เป็นต้นไป กรมการค้าภายในได้กำหนดให้เหล็กเส้น, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ, เหล็กแผ่นรีดร้อน, เหล็กกล้าแผ่นไร้สนิมรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น เป็นสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List: SL) ซึ่งมีการติดตามราคาและสถานการณ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน
2. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อให้ลดการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์มายังประเทศไทย ซึ่งขณะนี้จีนได้ยกเลิกมาตรการคืนภาษีส่งออกสำหรับสินค้าเหล็กเจือโบรอนบางรายการแล้ว (คิดเป็นร้อยละ 50 ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกมายังตลาดอาเซียน)
3. กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าสินค้าเหล็ก ณ ขณะนำเข้า โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า
4. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะเดินหน้าประชาสัมพันธ์แผนการกำหนดหรือทบทวนมาตรฐานของสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน โดยยินดีจะรับฟังและพิจารณาข้อมูล/ข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
5. กระทรวงอุตสาหกรรม จะจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย และคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ และเร่งศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำ (โรงงานถลุงเหล็ก) ในไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ของไทย เช่น ผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ตั้งฐานการผลิตในไทยยินยอมให้ความร่วมมือทดสอบคุณภาพสินค้าเหล็กของไทย
6. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) จะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดแนวทางและจัดทำแผนงานเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กยังคงมีความขัดแย้งและเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ โดยเพิกเฉยต่อความถูกต้องในการดำเนินธุรกิจและผลประโยชน์ของประเทศชาติ ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังคงเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เข้มแข็งต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ จึงขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเปิดใจรับฟังข้อมูลและข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และหันหน้าพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกของปัญหาที่ทุกภาคส่วนสามารถยอมรับได้ และกำหนดเป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะยังคงเดินหน้าเป็นคนกลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจ และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคของประเทศต่อไป
อินโฟเควสท์
พณ.ออก 6 ข้อช่วยเหลืออุตฯเหล็ก จ่อคุยจีนยกเลิกอุดหนุนเวทีในอาเซียน
แนวหน้า : พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือ เรื่อง แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 4/2558 ว่า ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ใน 9 ประเด็น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ไทยได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต่างด้านราคา กระทบต่อราคาเหล็กที่ผลิตในประเทศ ขณะเดียวกันคุณภาพของเหล็กที่ไม่ได้รับการควบคุม อาจส่งผลต่อการก่อสร้างในอนาคต ดังนั้นในที่ประชุม จึงได้มีมติร่วมกันในการกำหนดมาตรการให้ความเชื่อเหลือใน 6 มาตรการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืน อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
สำหรับ 6 มาตรการที่ได้มีการกำหนดให้ความช่วยเหลือ ได้แก่
1.ตั้งแต่ 1 มิ.ย.58 เป็นต้นไป ให้กรมการค้าภายใน กำหนดสินค้าเหล็กเป็นสินค้าอ่อนไหว ทีต้องติดตามราคาและสถานการณ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน ทั้ง เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กกล้าแผ่นไร้สนิมรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น
2.ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าเจรจากับรัฐบาลจีน ให้ลดการอุดหนุนการผลิต และการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์มายังประเทศไทย โดยเบื้องต้นจีนได้มีการยกเลิกมาตรการคืนภาษีส่งออกสำหรับสินค้าเหล็กเจือโบรอนบางรายการแล้ว
3.กำหนดให้กรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าสินค้าเหล็ก ขณะนำเข้า ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ อีกทั้งยังให้เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า
4. ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทบทวนมาตรฐานของสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน
5. ให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งศึกษา พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำ(โรงงานถลุงเหล็ก) ในไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ของไทย และ
6.ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในไทย
“ปัญหาการส่งออกเหล็กที่มากเกินไปของจีน ไม่ได้กระทบเฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งหลายๆประเทศก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย และแต่ละประเทศต่างก็มาตรการไว้ตอบโตอยู่แล้ว รวมถึงประเทศในอาเซียนด้วย ซึ่งระหว่าวันที่ 28-30 ก.ค. 2558 นี้ ในเวทีประชุมอาเซียน-จีน ที่ประเทศจีน ก็จะมีการหารือถึงเรื่องการให้จีน ยกเลิกการอุดหนุนการผลิต การส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน( ACFTA) ผ่านเวที่ ACFTA– JC”
ทั้งนี้ ยอมรับว่าไทยนำเข้าเหล็กจากจีนเป็นปริมาณมาก และเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ ไทยนำเข้าเหล็กโดยรวมจากจีนปริมาณ 7 ล้านตัน และในปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าเหล็กจากจีนปริมาณรวม 12 ล้านตัน และในปีนี้ ช่วงเวลา 5 เดือน(ม.ค.-พ.ค. 2558) ไทยนำเข้าเหล็กจากจีนมาแล้ว 5 ล้านตัน ขณะเดียวกันการส่งออกเหล็กของจีนมายังไทย คิดเป็น 50% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกมายังตลาดอาเซียน
นายทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการเหล็กยินดีทำตามมาตรการในการดูแลสินค้าเหล็กของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้กำหนดให้เหล็กเป็นสินค้าอ่อนไหว มีการติดตามราคาทุกวัน ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ได้มีการรายงานรายงานสถานการณ์ให้ทราบทุกวันอยู่แล้ว และเห็นว่าการที่ไทยมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และมาตรการดูแลสินค้าเหล็กนำเข้าจากจีน ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะหลายๆประเทศทั่วโลกต่างก็มีมาตราออกมาดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็มีการติดตามดูแลสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ความต้องการใช้เหล็กของไทยในปีก่อนมี 18 ล้านตันต่อปี ซึ่งไทยผลิตเหล็กได้เอง 8 ล้านตันต่อปี และนำเข้าจากจีน 12 ล้านตันต่อปี ส่วนที่เหลือก็มีการส่งออก