- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 20 June 2015 16:06
- Hits: 2727
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย ที่ประชุม RCEP-TNC ถกเข้ม ยันมุ่งมั่นให้ความตกลงหุ้นส่วนทาง ศก.ระดับภูมิภาฯ สรุปได้ในสิ้นปี 2015
ที่ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-Trade Negotiating Committee : RCEP-TNC) ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 8-13 มิถุนายน 2558 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ถกเข้ม เร่งสรุปผลเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องหลักๆ ที่จะผลักดันให้การเจรจา RCEP มีความคืบหน้าต่อไป
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าผู้แทนไทยในการเจรจา RCEP รอบนี้ เผยว่า “ถึงแม้ประเทศสมาชิกจะมีความเข้าใจถึงความต้องการและข้อจำกัดของกันและกันมากขึ้น แต่ประเทศสมาชิกบางประเทศยังคงมีเป้าหมายของระดับการเปิดตลาดที่แตกต่างกัน และยังคงท่าทีที่ระมัดระวังอย่างมากในการเปิดตลาด โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่มี FTA ระหว่างกันมาก่อน จึงยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่สมาชิกยังมุ่งมั่นที่จะสรุปผลให้ได้โดยเร็ว โดยจะหยิบยกเรื่องขึ้นหารือต่อในระดับรัฐมนตรีสมัยพิเศษ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย”
สำหรับ การประชุมในส่วนของเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน และกฎหมาย อยู่ระหว่างการจัดทำข้อบท ซึ่งมีความคืบหน้าค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ผู้แทนภาครัฐยังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของ SME กับผู้แทนภาคเอกชน โดยประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ความสำคัญกับ SME และต้องการให้ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ SME เข้าใจง่ายและใช้ประโยชน์ได้ง่าย (SME Friendly FTA)
นางสาวสุนันทา กล่าวว่า ระหว่างการประชุมได้มีการหารือระหว่างผู้เชี่ยวชาญเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นครั้งที่ 2 โดยเน้นเรื่องความร่วมมือระหว่างกันเป็นหลัก และอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเรื่องดังกล่าว ในส่วนของไทย ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการสำหรับการหารือเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล
การเจรจา RCEP ถือเป็นความท้าทายของประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เนื่องจากมีการหารือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าหลายเรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องมีความเชื่อมโยงกัน รวมถึงประเทศสมาชิกมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมาตรฐานความเข้มข้นของกฎระเบียบทางการค้าภายในประเทศที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ไทยมองว่า RCEP เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้กว้างขึ้น โดยมอง RCEP เป็นตลาดเดียว และพยายามผลักดันให้มีการลดอุปสรรคทางการค้าให้มากที่สุด
การประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 7 สิงหาคม 2558 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย