- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 18 June 2015 22:59
- Hits: 2115
พาณิชย์ เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจเดือน พ.ค. 58 ทั้งสิ้น 4.52 พันราย ลดลง1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนพฤษภาคม 2558 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ จำนวน 4,523 ราย ลดลง 41 ราย คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีจำนวน 4,564 ราย และลดลง 60 ราย คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 4,583 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2558 มีจำนวน 977 ราย
มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในพฤษภาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 17,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน2,710 ล้านบาท คิดเป็น 18% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีจำนวน 14,822 ล้านบาท และลดลงจำนวน 2,751 ล้านบาท คิดเป็น 14% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 20,283 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 486 รายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 268 ราย ธุรกิจขายส่งเครื่องจักร 110 ราย ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร จำนวน 109 ราย และธุรกิจผลิตไฟฟ้า จำนวน 85 ราย
ปัจจุบัน ณ วันที่ 31พฤษภาคม 2558 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 613,509 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 15.67 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 430,659 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,097 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,753 ราย
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนพฤษภาคม2558 มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 คิดเป็น 1% อาจเป็นผลมาจากการจดทะเบียนธุรกิจค้าสลากในเดือนนี้มีเพียง 10 ราย ลดลงจำนวน 59 รายเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 คิดเป็น 86% ประกอบกับในเดือนพฤษภาคม 2558 มีวันหยุดราชการมากทำให้จำนวนวันทำการน้อยกว่าเดือนอื่นๆและจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 45.2 ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา (มี.ค.58) ที่ระดับ 52.4 ตามความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั้งด้านการผลิตและผลประกอบการที่ปรับตัวลดลง แต่ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอีก 3 เดือนข้างหน้า มีค่าสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 54.4 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในด้านต่างๆ ได้แก่การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ภาคครัวเรือนชะลอการบริโภค และการส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลต่อการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทโดยรวม
สำหรับเรื่องที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดข้ามเขตจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2557 นั้น โดยในเดือนพฤษภาคม 2558 มีการยื่นขอจดทะเบียนข้ามเขต จำนวน 687 ราย จากการจดทะเบียนทั่วประเทศ จำนวน 4,523 ราย หรือคิดเป็น 15% โดยแบ่งออกเป็น
- ส่วนกลาง 481 ราย คิดเป็น 11% โดยสำนักงานในส่วนกลางที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำ) จำนวน 99 ราย รองลงมา สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 3 (รัชดาภิเษก) จำนวน 88 ราย และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 5 (บางนา) จำนวน 69 ราย
- ส่วนภูมิภาค 206 ราย คิดเป็น 4% โดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ สพค.จังหวัดชลบุรี จำนวน 25 ราย รองลงมา สพค.ปทุมธานี จำนวน 23 ราย และ สพค.จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 9 ราย
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้เปิดให้บริการโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคลโดยสามารถค้นหาจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนของนิติบุคคล รวมทั้งข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application : DBD e-Service) โดยระบบจะแสดงผลเป็นภาษาไทย ซึ่งสามารถใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ IOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 463,671 ครั้งโดยในเดือนพฤษภาคม 2558 มีการเข้าใช้ระบบนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 43,585 ครั้ง คิดเป็น 10%
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังคงส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกิจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมได้ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 11,835 ราย 13,488 เว็บไซด์ ประกอบด้วยนิติบุคคล 3,191 ราย คิดเป็น 27% บุคคลธรรมดา 8,644 ราย คิดเป็น 73% โดยธุรกิจที่ขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,427 เว็บไซด์ คิดเป็น 18% ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 2,170 เว็บไซด์ คิดเป็น 16% และธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 1,495 เว็บไซด์ คิดเป็น 11% ตามลำดับ ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคมาใช้บริการ นอกจากผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์แล้ว กรมยังได้หารือกับตลาดกลางออนไลน์ให้กำกับดูแลสมาชิกให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับ และอาจต้องพิจารณางดให้บริการเข้าขายสินค้าในตลาดกลางด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการขยายตัวของการซื้อขายทางออนไลน์ของไทยให้เติบโตในอัตราก้าวกระโดดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้มีการเปิดตัวโครงการให้บริการรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์(DBD e-Filing) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี XBRL มาสนับสนุนการให้บริการในการรับงบการเงินเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการผ่านเว็บไซต์กรม www.dbd.go.th > เลือก “การนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing)” ผู้ประกอบการสามารถส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์(DBD e-Filing) ได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ e-Form และรูปแบบ XBRL in Excel ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการสมัครลงทะเบียน จำนวน 10,736 ราย มาแสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ จำนวน 5,440 ราย และส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วจำนวน 1,981 ราย โดยระบบนี้ สามารถรองรับการนำส่งงบการเงินของนิติบุคคลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั่วประเทศโดย 5 จังหวัดที่มีการนำส่งสูงสุดได้แก่
(1) กทม. จำนวน 713 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.9
(2) นครราชสีมา จำนวน 143 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.2
(3) นนทบุรี จำนวน 127 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.4
(4) สมุทรปราการ จำนวน 115 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.8
(5) ขอนแก่น จำนวน 106 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.3
สำหรับ สถิตินำส่งงบการเงินประจำปี 2558 มีนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงินแล้วร้อยละ 81 ของนิติบุคคล ที่ต้องนำส่งงบการเงิน หรือคิดเป็นจำนวน 441,661 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (1 ม.ค.- 2 มิ.ย. 57) เพิ่มขึ้นจำนวน 25,017 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 ซึ่งนิติบุคคลนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชี 2556 มีจำนวน 416,644 ราย ทั้งนี้ ในปี 2558 สามารถแยกพื้นที่ในการนำส่งงบการเงิน ได้ดังนี้
- ส่งงบที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 248,247 ราย คิดเป็น 56%
- ส่งงบที่ภูมิภาค จำนวน 191,722 ราย คิดเป็น 43%
- ส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) จำนวน 1,981 ราย คิดเป็น 1%
อย่างไรก็ตาม ยังมีนิติบุคคลที่ยังไม่นำส่งงบการเงินอีก 19% หรือคิดเป็นจำนวน 103,695 ราย กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงขอเชิญชวนให้นิติบุคคลที่ยังไม่ได้นำส่งงบการเงินให้รีบนำส่งงบการเงินโดยเร็ว เนื่องจากกรมได้กำหนดอัตราค่าปรับตามระยะเวลาที่นำส่งงบการเงินล่าช้า
ในโอกาสนี้กรมฯ ยังเพิ่มทางเลือกในการขอหนังสือรับรองให้ผู้ประกอบธุรกิจโดยเปิดให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 มีผู้มาใช้บริการ ทั้งสิ้น 968 คำขอ จำนวน 991 ฉบับ แบ่งเป็นส่วนกลาง 638 คำขอ 656 ฉบับ ส่วนภูมิภาค 330 คำขอ 335 ฉบับ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย