- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 18 June 2015 22:56
- Hits: 2140
พาณิชย์ บูรณาการสร้างฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์จ.เชียงใหม่ ผลักดันสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ (พณ) จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเกษตรจังหวัด บูรณาการสร้างฐานข้อมูลผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อผลักดันสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ
นายไพโรจน์ กุลละวณิชย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ส่งเสริมตลาดเกษตรอินทรีย์ และกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลาง (Hub ) ในการส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ของ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ผ่านมาฐานข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่ปรากฏชัดเจน ประกอบกับการผลักดันผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ไปสู่ตลาดสากลนั้น จะต้องมีการรับรองจากองค์กรระดับประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยเป็นรายเล็กๆ และกระจายกันอย่างทั่วไป จะมีรายใหญ่ๆ เพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่มีกำลังเพียงพอจะขอการรับรองได้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยกำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่อง วิธีการ คือ บูรณาการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ วิธีการคือ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งในจังหวัดแจ้งข้อมูลให้เกษตรกรทราบ และให้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยแยกเป็น 3 ประเภท คือ ๑) เกษตรปลอดภัย หมายถึงใช้สาร ใช้ปุ๋ย แต่อยู่ในระยะเวลากำหนด ๒) เกษตรปลอดสาร เช่น ผักกางมุ้ง ไฮโดรโปนิกส์ ใช้ปุ๋ยแต่ไม่ใช้สาร ๓) เกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรธรรมชาติ ขณะนี้มีเกษตรกรสนใจสมัครเป็นเข้าร่วมโครงการฯ จาก 13 อำเภอ ใน 32 ตำบล รวมเกษตรกรทั้งสิ้นจำนวน 248 ราย อำเภอที่มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุด ได้แก่ อำเภอฮอด จำนวน 117 ราย รองลงมาคือ อำเภอแม่ริม จำนวน 52 ราย
ในลำดับต่อไป สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่จะได้ร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตรอินทรีย์ (ดร.ตะวัน ห่างสูงเนิน) ออกไปให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงวิธีการผลิต ขั้นตอนการทำเกษตรอินทรีย์ และให้มีการรับรอง ในรูปแบบประชาคมรับรองประชาคม คือการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS : Participatory Guarantee System) เพื่อตรวจสอบการผลิตนั้นๆ โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนที่องค์กรระหว่างประเทศให้การรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ เมื่อเกษตรกรทำได้ครบถ้วนตามขั้นตอนและคณะกรรมการประชาคมตรวจผ่านแล้ว มูลนิธิเกษตรอินทรีย์จะออกไปตรวจและออกใบรับรองให้ โดยเกษตรกรไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากได้ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้ง 3 ระดับ ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ จะดำเนินการส่งเสริมด้านการตลาด โดยจะส่งเสริมให้มีร้านค้าในพื้นที่ผลิต หากมีผลผลิตมากก็จะส่งเสริมให้นำเข้ามาจำหน่ายในจังหวัดเป็นลำดับต่อไป ในกรณีได้ฐานข้อมูลผู้ประกอบการ ซึ่งมีผลผลิตจำนวนมาก จะประสานห้างโมเดิร์นเทรดทั้งในจังหวัดและส่วนกลาง มาส่งเสริมและพัฒนา เพื่อนำไปจำหน่ายในห้างทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค และต่างประเทศ ในส่วนของการดำเนินการระดับภาค อีก 16 จังหวัดของภาคเหนือ จะดำเนินการต่อไปในปีงบประมาณถัดไป ดังนั้นเมื่อได้ฐานข้อมูลผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์ของภาคเหนือทั้งหมด ก็จะทำให้สามารถบริหารจัดการและพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่ตลาดสากลได้
ความคืบหน้าการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประสานมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ออกไปให้ความรู้ จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในวันที่ 23 มิ.ย. 2558 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการถึงจำนวน 117 ราย และครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 ก.ค. 2558 ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 52 ราย
“จึงใคร่ขอเชิญชวนเกษตรกรผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอนาคต ทั้งนี้เกษตรกรที่ยังไม่ได้สมัคร สามารถติดต่อองค์กรบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ หรือดาวน์โหลด ใบสมัครทางหน้าเว็บไซต์ของสำนักงานพาณิชย์ฯ www.moc.go.th/chiangmai ข่าวประชาสัมพันธ์ได้ หัวข้อข่าว “ขอเชิญเข้าร่วมโครงการส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2558” และส่งใบสมัครกลับไปยังสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เรามาช่วยกันสร้างความปลอดภัยให้ทั้งกับตัวเองและผู้บริโภคกันเถิด”นายไพโรจน์ฯ กล่าว ในท้ายสุด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย