- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 03 June 2015 10:37
- Hits: 1652
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. ลดลง 1.27% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 คงเป้าทั้งปีเป็นบวก 0.6%
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. ลดลง 1.27% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 คาด Q2/58 ยังติดลบ 1.1% แต่เริ่มเห็นแนวโน้มเป็นบวก ตามตัวเลขกำลังซื้อและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น คงเป้าเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้เพิ่มขึ้น 0.6% พร้อมยันเศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.94% และ 5 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 1.27%
นายสมเกียรติ ตรีรัตน์พันธ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ 106.53 ลดลง 1.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ 1.1% และเป็นการปรับลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน แต่เพิ่มขึ้น 0.17% เทียบกับเดือนก่อนหน้า
สำหรับ ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 5 เดือน ปี 2558 (มกราคม-พฤษภาคม) ลดลง 0.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีก ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิล 95 และค่ากระแสไฟฟ้า ที่ปรับลดลง
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสด และพลังงาน เดือน พ.ค. อยู่ที่ 105.76 เพิ่มขึ้น 0.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.05% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ Core CPI เฉลี่ย 5 เดือนเพิ่มขึ้น 1.27%
นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 คาดยังคงติดลบอยู่ที่1.1% และยืนยันว่ายังไม่เกิดภาวะเงินฝืดแน่นอน ส่วนทั้งปีคาดว่าจะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้ที่ระดับ 0.6% เนื่องจากพบว่าตัวเลขกำลังซื้อเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนจากตัวเลขราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือน พฤษภาคม 2558 อยู่ที่ 63.68 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากเดือนเมษายนอยู่ที่ 57.31 ดอลลาร์ต่อบาเรล
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนยังเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อหรือไม่นั้น มองว่า หากลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1% จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น 0.03%
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
พาณิชย์ มองเงินเฟ้อครึ่งปีหลังเป็นขาขึ้นตามทิศทางน้ำมัน ทั้งปีไม่ติดลบ
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รักษาการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังว่าจะเริ่มเป็นช่วงขาขึ้น แต่คงเพิ่มไม่ขึ้นสูงมาก โดยคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 0.6% ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ที่ 0.6-1.3%
สำหรับ สาเหตุที่เงินเฟ้อจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้นนั้น เป็นผลมาจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี อันเป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มากขึ้นในประเทศแถบตะวันตก ซึ่งการที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วยจะส่งผลให้ราคาน้ำมันที่นำเข้าแพงขึ้นและมีผลต่อดัชนี CPI
"แนวโน้มเงินเฟ้อในครึ่งปีหลังอยู่ในช่วงขาขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และมองว่าปลายปีราคาน้ำมันจะขึ้นมาก จึงทำให้ CPI เพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวที่ทางฝั่งตะวันตกมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น มีผลดึงดัชนีให้เพิ่มขึ้น" นายสมเกียรติ ระบุ
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้คาดว่าจะยังลดลง 1.1% แต่อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าขณะนี้ประเทศไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากประชาชนยังมีความต้องการซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุที่อัตราเงินเฟ้อในแต่ละเดือนยังติดลบนั้นเป็นผลสำคัญจากราคาน้ำมันที่ลดลง และทำให้ต้นทุนสินค้าต่างๆ ปรับตัวลดลงตาม
"ตัว Core CPI ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ที่ CPI ลดลง เป็นเพราะราคาน้ำมันยังต่ำ ทำให้ราคาสินค้าลดลงตาม ไม่ใช่ภาวะของเงินฝืด เพราะตอนนี้คนไม่ได้ไม่อยากซื้อของ แต่ต้นทุนสินค้าและบริการมันลดลงตามราคาน้ำมัน" นายสมเกียรติ กล่าว
ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.นั้น มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งปีไม่มากนัก โดยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า หากมีการลดดอกเบี้ยลง 1% จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.03% ต่อปีเท่านั้น
อินโฟเควสท์
พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ค.หดตัว 1.27% แต่ CORE CPI โต 0.94%
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) เดือน พ.ค.58 อยู่ที่ 106.53 หดตัว 1.27% เมื่อเทียบกับ พ.ค.57 จากที่ตลาดคาดหดตัว 1.1% จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 1.04 (YoY) ตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีก ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน 95 ค่ากระแสไฟฟ้า ( คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีมติให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ลง 9.35 สตางค์/หน่วย มีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2558 ) เนื้อสุกร อาหารโทรสั่ง (delivery) และอาหารประเภทผักสดและผลไม้บางชนิดที่ปรับราคาลดลง ได้แก่ เงาะ และมะนาว
อย่างไรก็ตาม CPI พ.ค.58 เพิ่มขึ้น 0.17% จากเม.ย.58 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นตามการสูงขึ้นของราคาผลไม้สดและผักสด ที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ส้มเขียวหวาน มังคุด ต้นหอม ถั่วฝักยาว และพริกสด ไข่ไก่ ไก่สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าเล่าเรียน - ค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมทั้ง การปรับตัวสูงขึ้นของค่าเช่าบ้าน
ส่งผลให้ CPI 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.58) หดตัว 0.77% จากการลดลงของดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.80 ตามการลดลงของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 6.54 ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.75 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 1.18 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 1.13 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.66 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.19 สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น ร้อยละ 1.19 ตามการสูงขึ้นของหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.47 หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.43 หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.97 หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.13 และหมวดอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.43 ( อาหารบริโภค-ในบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 2.11 อาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 2.97) ขณะที่หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 2.58 หมวดผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 0.14
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ค.58 อยู่ที่ 105.76 เพิ่มขึ้น 0.94% จากพ.ค.57 และเพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ Core CPI 5 เดือนแรก โต 1.27%
สำหรับ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน พ.ค.58 อยู่ที่ 113.83 เพิ่มขึ้น 0.11% จาก พ.ค.57 ตามการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.06 หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.66 หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.82 และหมวดอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.00 ( อาหารบริโภค-ในบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.57 อาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 1.72 ) ขณะที่หมวดเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ลดลงร้อยละ 1.18 หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 2.98 และหมวดผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 0.23 และเพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามการสูงขึ้นของราคาผลไม้สด ได้แก่ ทุเรียน เงาะส้มเขียวหวาน มังคุด ส่วนผักสดที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ต้นหอม ถั่วฝักยาว ข้าวโพดฝักอ่อน และผักกาดขาว รวมทั้ง ไข่ไก่ ไก่สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ( กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ) ปรับราคาสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร ( น้ำพริกแกง เครื่องปรุงรส กะปิ ) ผักสดและผลไม้บางชนิดมีราคาลดลง เช่น ดอกกุ้ยฉ่าย ผักคะน้า ผักชี ผักกาดหอม มะระจีน ผักบุ้ง กะหล่ำปลี มะนาว มะม่วง และแก้วมังกร
ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 102.58 หดตัว 2.00% จาก พ.ค.57 แต่เพิ่มขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกโดยเฉลี่ยภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน 95 นอกจากนี้ ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียน – ค่าธรรมเนียมการศึกษา ระดับประถมศึกษา มัธยม และเทคนิคอาชีวะ ภาครัฐบาลและภาคเอกชน ปรับราคาสูงขึ้น รวมทั้ง สบู่ถูตัว มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ ค่ากระแสไฟฟ้า มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ลง สำหรับรอบเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม 2558 เท่ากับ 49.61 สตางค์/หน่วย ( เดิม 58.96 สตางค์/หน่วย ) ค่าทัศนาจรต่างประเทศ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ได้แก่ น้ำยาล้างจาน และผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง) มีราคาลดลง
อินโฟเควสท์