- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 30 May 2015 13:28
- Hits: 2164
ส่งออกเม.ย.ติดลบ 1.70% คลังชี้บริโภคฟื้นหนุนศก.โตรถยนต์หดจ่อหั่นเป้าผลิต
ไทยโพสต์ : สนามบินน้ำ * ส่งออกเดือน เม.ย.ติดลบ 1.70% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ของปีนี้ คาดเดือนหน้าเห็นแววกลับมาเป็นบวก หลังคู่ค้าเริ่มนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐ อาเซียน และจีน คลังเผยการบริโภคขยายตัว หนุนเศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้านสถาบันยานยนต์รับตลาดรถยนต์ปีนี้ชะลอตัว จ่อลดเป้าผลิตเหลือ 2 ล้านคัน
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน เม.ย.2558 มีมูลค่า 16,900.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.70% ซึ่งเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ใน รอบปีนี้ เป็นมูลค่าที่ส่งออกได้ น้อยและต่ำสุดในรอบ 3 ปี เพราะเดือน เม.ย. มีวันหยุดราชการมาก ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 17,423.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.84% โดยไทยขาดดุลการค้า มูลค่า 522.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
"การส่งออกในเดือน เม.ย. มีอัตราการขยายตัวติดลบน้อยลง เมื่อเทียบกับ 4 เดือนก่อนหน้านี้ โดยเดือน ม.ค.ติดลบ 3.46% ก.พ.ลบ 6.15% และ มี.ค.ลบ 4.45% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทิศทางการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีโอกาสที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ อาจจะเป็นเดือนหน้าหรือเดือนถัดไป เพราะสัญญาณต่างๆ เริ่มดี ขึ้น"
สำหรับ การส่งออกรวม 4 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 70,265.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.99% การนำเข้ามีมูลค่า 69,359.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.53% โดยได้ดุล การค้ามูลค่า 905.9 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้การส่งออกดีขึ้น การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น อาทิ อเมริกา, อาเซียน และจีน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐ กิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากตัวเลขการบริโภคที่ฟื้นตัวได้ดี การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากการบริโภคยังขยายตัวได้สูงถึง 12.7% แม้ว่าจะน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 20.1% เป็นเพราะในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมีวันหยุดยาว ทำให้การทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจมีน้อยกว่าปกติ
ขณะที่การส่งออกของไทยที่มีปัญหา ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งแก้ไข มีการมาบุก ส่งออกประเทศเพื่อนบ้านทำให้ขยายตัวสูง 10-20% คาดว่าการส่งออกของไทยยังสามารถบวกได้เล็กน้อย แม้ว่าล่าสุดยังขยายตัวติดลบ
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาหลายหน่วยงานก็ได้ออกแถลงข่าวปรับประมาณการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลง ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้รายได้ของเกษตรลดลง การบริโภค อุปโภคก็น้อยลงตาม
นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า การผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2558 จะอยู่ที่ 2 ล้านคัน จากเดิมตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.15 ล้านคัน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผล ต่อกำลังซื้อของประชาชน และคาดว่าในปี 2559 จะกลับมาดีขึ้น เพราะมีโครงการอีโคคาร์ ระยะที่ 2 และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี).
พาณิชย์เผยส่งออกเม.ย.58 ติดลบ 1.7%นำเข้าหด 6.84%ขาดดุลฯ 523 ล้านเหรียญฯ
กระทรวงพาณิชย์ แถลงมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐว่า การส่งออกเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 16,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -1.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และในช่วง 4 เดือนแรก คือ เดือนมกราคม-เมษายน 2558 มีมูลค่า 70,265 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -3.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA)
ขณะที่การนำเข้าเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 17,423 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -6.84 (YoY) และในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2558 มีมูลค่า 69,359 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -6.53 (AoA) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนเมษายน 2558 ขาดดุล 523 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรก คือ เดือนมกราคม-เมษายน 2558 เกินดุล 906 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
"การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2558 สถานการณ์ในภาพรวมส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยชะลอตัวในอัตราที่ลดลง และยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ในตลาดสำคัญไว้ได้ ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าที่มีปัญหา หดตัวในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมถึงแม้จะยังคงหดตัว แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ลดลงเช่นเดียวกัน"เอกสารกระทรวงพาณิชย์ ระบุ
ส่วนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินบาท การส่งออกเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 548,461 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 มีมูลค่า 2,280,954 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) ในขณะที่การนำเข้าเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 572,284 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.66 (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 มีมูลค่า 2,278,488 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.01 (AoA) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนเมษายน 2558 ขาดดุล 23,823 ล้านบาท และในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 เกินดุล 2,466 ล้านบาท
สำหรับ ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการส่งออก การส่งออกของไทยที่ยังคงหดตัว เกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัว เนื่องจากกำลังซื้อในตลาดโลกยังคงลดลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่นและอาเซียนที่มีมูลค่าการนำเข้ารวมจากทั่วโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกที่ส่งสัญญาณดีขึ้น ได้แก่
1) การนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยการนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และจีน หดตัวในอัตราที่ลดลง สอดคล้องกับการที่ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดในตลาดสำคัญได้ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น
2) ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง และมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากการใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลช่วยหนุนให้การส่งออกปรับตัวในทิศทางดีขึ้นในระยะต่อไป
3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากอุปทานในตลาดโลกที่เริ่มลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการที่บริษัทน้ำมันในสหรัฐอเมริกายกเลิกการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil)
ตลาดส่งออก โดยตลาดสหรัฐอเมริกา และกลุ่ม CLMV ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดจีนกลับมาขยายตัวครั้งแรกในปีนี้ การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 8.4 (YoY) เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง สูงขึ้นร้อยละ 38.3, 44.1, 7.1 (YoY) ตามลำดับ เช่นเดียวกับตลาด CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 (YoY) โดยเฉพาะกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน
ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ -3.0 และ -3.5 (YoY) ตามลำดับ เป็นผลจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) ส่งผลให้ค่าเงินเยนและค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ทำให้ยอดคำสั่งซื้อชะลอตัว
ขณะที่การส่งออกไปจีน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในปีนี้ ที่ร้อยละ 1.1 (YoY) โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยางที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอย่างมาก หลังจากหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากความต้องการกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดการนำเข้าลงจากการที่สามารถผลิตใช้ได้เองภายในประเทศ
ด้านการค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดนขยายตัวต่อเนื่อง มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 7.9 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 77,761 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.9 (YoY) โดยไทยทำการค้าชายแดนกับมาเลเซียสูงที่สุดมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 47.1 ของการค้าชายแดนรวม ซึ่งลดลงร้อยละ -10.0 (YoY) รองลงมา ได้แก่ เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา โดยขยายตัวร้อยละ 10.9, 1.8 และ 15.7 (YoY) ตามลำดับ และในภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 13,077.7 ล้านบาท
ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 8,416.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -29.5 (YoY) โดยภาพรวมการค้าผ่านแดนไทยทำการค้ากับจีนตอนใต้สูงสุด ขยายตัวร้อยละ 21.2 (YoY) รองลงมาได้แก่ เวียดนาม ลดลงร้อยละ -37.0 (YoY) ขณะที่การค้าผ่านแดนกับสิงคโปร์ ลดลงร้อยละ –49.9 (YoY) และในภาพรวมไทยได้ดุลการค้าผ่านแดนรวม 3 ประเทศ เป็นมูลค่า 1,032.2 ล้านบาท
อินโฟเควสท์