WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC copyพาณิชย์ แจงความคืบหน้าร่างกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ คาดเสนอเข้า สนช.เพื่อพิจารณาได้เร็วๆ นี้

      กระทรวงพาณิชย์ เผยความคืบหน้าของร่างกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณาแล้ว คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาได้เร็วๆ นี้

      นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น หวังให้ไทยเป็นประเทศ ที่ง่ายต่อการค้า การลงทุน และดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดบทบาทให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบกำกับดูแลนั้น

  ขณะนี้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ ๒๖กุมภาพันธ์ 2558 มีกำหนดระยะเวลาการพิจารณาดำเนินการในชั้นกรรมาธิการ 60 วัน และคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาในวาระต่อไปได้ในเร็วๆ นี้

 การที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจขึ้น ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เป็นการลดข้อจำกัดการนำทรัพย์สินมาใช้ เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ซึ่งตามกฎหมายในปัจจุบันกำหนดให้นำทรัพย์สินไปจำนองหรือจำนำเท่านั้น และการจำนองกฎหมายได้จำกัดประเภทของทรัพย์สินที่นำมาจำนองไว้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินมีทะเบียนบางประเภท

   ส่วนการจำนำกฎหมายกำหนดให้ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นด้วย ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในกิจการไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้  เช่น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า หรือสินค้าคงคลัง เป็นต้น หรือหากนำทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการไปจำนำ ก็จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขาดโอกาสในการนำทรัพย์สิน เครื่องมือ หรืออุปกรณ์เหล่านั้นไปแสวงหารายได้ เพราะต้องส่งมอบให้แก่ผู้รับจำนำ

  รวมทั้งในการดำเนินธุรกิจก็อาจจะมีทรัพย์สินประเภทอื่นที่มีมูลค่า ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น และรวมทั้งมีสิทธิเรียกร้องต่างๆ เช่น ลูกหนี้การค้า ก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ หรือแม้แต่กิจการทั้งกิจการก็สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้เช่นเดียวกัน

  กฎหมายหลักประกันธุรกิจดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น รวมทั้งกฎหมายยังกำหนดให้มีระบบการบังคับหลักประกันที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม เป็นการลดภาระทางศาลและการบังคับคดีโดยเจ้าพนักงาน 

 นอกจากนี้ ยังเป็นการลดปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีส่วนช่วย ในการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจของไทยตามตัวชี้วัดด้านการให้สินเชื่อของธนาคารโลก (Doing Business) อีกประการหนึ่งด้วย

 อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจขึ้นในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่รับจดแจ้งสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ แก้ไขรายการ และยกเลิกการจดแจ้งสัญญาหลักประกันทางธุรกิจรวมทั้งต้องจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับการจดแจ้งหลักประกันทางธุรกิจ และข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้บังคับหลักประกันเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบดูได้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติและขับเคลื่อนให้การดำเนินงานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลการจดทะเบียนตามกฎหมายฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว

 นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ โดยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามผลการเตรียมความพร้อมการรองรับภารกิจตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.....และคณะทำงานเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวทั้งด้านโครงสร้างองค์กร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งทีมงานเพื่อยกร่างกฎหมายลำดับรอง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้    

  ขณะนี้ คณะทำงานได้ดำเนินการศึกษาและหารือร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศที่มีภารกิจด้านการจดทะเบียนหลักประกันฯ และธนาคารโลก เพื่อเปรียบเทียบ ประมวล วิเคราะห์ ถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้                 

 1) กฎหมายหลักประกันของต่างประเทศ 2) ระบบการจดทะเบียนของต่างประเทศ และเทคโนโลยีที่ใช้  3) แนวปฏิบัติที่ดี 4) ปัญหา อุปสรรค และ 5) แนวการดำเนินงานจริง เพื่อเจ้าหน้าที่ประมวล วางแผนการจดทะเบียนหลักประกันฯ ของไทยให้มีความเป็นสากลเทียบเท่านานาประเทศ

 สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!