- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 17 June 2014 22:48
- Hits: 3510
พาณิชย์ แนะไทยใช้โอกาสเป็นฮับเชื่อมภูมิภาค หลังจีนปรับทิศทางลงทุนสู่อาเซียน
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในอาเซียนมากขึ้นและเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของทุกประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทย โดยในปี 2556 การค้าไทย-จีนมีมูลค่า 4.57 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับปี 2555
ทั้งนี้ เดิมจีนเติบโตจากภายนอก (จากการเกินดุลการค้าและการลงทุนที่ไหลเข้าจีน) แต่ปัจจุบันเน้นการเติบโตแบบยืดหยุ่นและลดเป้าหมายการเติบโตเหลือร้อยละ 7 โดยจะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ (การบริโภคและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ กลายเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่สำหรับอาเซียน) รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาพื้นที่ตอนในและฝั่งตะวันตกของประเทศ เช่น มหานครฉงชิ่ง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญในภาคตะวันตก อีกทั้งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องจักรกล โดยในปี 2555 การค้าไทย-ฉงชิ่ง มีมูลค่า 981 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 200% และคาดว่าหลังจากเปิดสะพานมิตรภาพใหม่แห่งที่ 4 แล้ว การค้าอาเซียน-ฉงชิ่ง และการค้าไทย-ฉงชิ่งจะขยายตัวอีกหลายเท่าตัว
นางอัมพวัน กล่าวว่า นอกจากการค้าการลงทุนแล้ว จีนก็ยังให้ความสำคัญต่อระบบโลจิสติกส์และการเชื่อมระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน และรถไฟความเร็วสูง โดยนักลงทุนตั้งเป้าไปที่สีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่าสำคัญของกัมพูชา แต่ทั้งนี้ สีหนุวิลล์อาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ของจีน เนื่องจากกัมพูชามีข้อจำกัดด้านแรงงานที่มีทักษะและยังถูกจัดเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Country: LDC) การปรับตัวเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศอาจทำได้ช้า จึงน่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับไทยในการพิจารณาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดนไทย-กัมพูชาใกล้คลองลึก จ.ตราด ซึ่งเป็นจุดที่สามารถนำเข้าแรงงานค่าจ้างถูกจากกัมพูชาได้ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจีน
นอกจากนี้ หากมีการพิจารณาเชื่อมเส้นทางรถไฟกับรถไฟความเร็วสูงของจีน โดยในส่วนของไทยอาจเป็นรถไฟรางคู่ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการส่งออกสินค้าไปจีน รวมทั้งไป EU ด้วย เนื่องจากจีนเปิดให้บริการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงฉงชิ่ง-เบลเยี่ยมแล้ว โดยใช้เวลาในการเดินทางเพียง 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ หากเส้นทางฉงชิ่ง-ชายแดนลาว-จีน เปิดดำเนินการ(ใช้เวลาเดินทาง 2-3 วัน) จะทำให้การค้าอาเซียน-จีน มีความคล่องตัวมากขึ้นอย่างมหาศาล
"จากสังคมเมืองของจีนและอำนาจซื้อของครัวเรือนจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลดีต่อสินค้าไทย อาทิ อิเล็กทรอนิกส์/เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ อาหารแปรรูป และการท่องเที่ยว ซึ่งการสร้างความใกล้ชิดกับตลาดจีนที่กำลังเติบโตจะสร้างโอกาสให้ไทยอย่างมาก" นางอัมพวัน กล่าว
อินโฟเควสท์