- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 10 May 2015 08:34
- Hits: 2333
พาณิชย์ ชี้อนิสงส์น้ำมันโลกลดลง กดเงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนติด
แนวหน้า : 'พาณิชย์'เปิดตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าลดลง 1.04% ถือว่าติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ชี้เหตุราคาน้ำมัน และอาหารสดราคาลดลง และยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ติดลบสูงสุดทำสถิติในรอบ5 ปี 7เดือน ยันยังไม่เข้าสู่ภาวะ 'เงินฝืด'
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค หรือตัวเลขเงินเฟ้อ ประจำเดือนเม.ย. 2558
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือเงินเฟ้อเดือน เม.ย. เท่ากับ 106.35 สูงขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยปรับตัวสูงขึ้นตามการราคาผักสดและผลไม้สำคัญที่สูงขึ้น เช่น กะหล่ำปลีก ผักคะน้า ผักชี มะนาว ต้นหอม ผักกาดหอม ส้มเขียวหวาน เนื้อหมู และอาหารโทรสั่ง รวมทั้งค่าเช่าบ้าน บุหรี่ และสุรา
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถือว่า ลดลง 1.04% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน หรือติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 7 เดือน โดยลดลงตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ และราคาอาหารสดประเภทเนื้อหมู ไก่สด ไข่ไก่ และผลไม้สดที่มีการปรับลดลง ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.2558) ลดลง 0.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ ความเคลื่อนไหวของสินค้าที่มีการสำรวจ 450 รายการ ในเดือน เม.ย. มีสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น 148 รายการ เช่น เนื้อสุกร กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักชี มะนาว ต้นหอม ส่วนสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงมี 199 รายการ และสินค้าที่ปรับราคาลดลง 103 รายการ เช่น มะม่วง ไข่ไก้ ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสะท้อนให้เห็นว่า ราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลง และสินค้าที่ราคาสูงขึ้น มีมากกว่าสินค้าที่ปรับลดลง ทั้งนี้ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.63% จากเดือนก่อน ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 1.93% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.31% จากเดือนก่อน
“การปรับลดลงของดัชนีเงินเฟ้อในตอนนี้ยังมีปัจจัยราคาน้ำมันเข้ามาถ่วง โดยหากไม่หักน้ำมัน และอาหารออก หรือคิดเป็นเงินเฟ้อพื้นฐาน จะพบว่าดัชนีมีทิศทางขาขึ้น โดยสูงขึ้น 1% แสดงให้เห็นว่าไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด”
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเงินเฟ้อคาดว่าในหลังเดือน พ.ค.2558 เงินจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่มีทิศทางปรับราคาขาขึ้น และจะส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2/2558 เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2558 นี้ โดย กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อไว้ในกรอบเดิมที่ 0.6-1.3% ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้ 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
“ส่วนเรื่องดอกเบี้ย ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 1.5% คงต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะมีผลอย่างไรก่อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วน่าจะกระตุ้นการบริโภคให้สูงขึ้น และกดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง แต่ก็จะกระทบกับสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าให้อาจมีต้นทุนสูงขึ้นได้” นายสมเกียรติ กล่าว
ในวันเดียวกัน นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ลงพื้นที่ตรวจการจำหน่ายสินค้าภายใต้โครงการ “เทใจ..คืนสุข..ต้อนรับเปิดเทอม” ที่เทสโก้ โลตัส แคราย โดยมีนางสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการ บริษัท เทสโก้ โลตัส ร่วมตรวจสอบสินค้าด้วย
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ราคาชุดนักเรียนในช่วงเปิดเทอมนี้ยังทรงตัว ซึ่งกรมการค้าภายในได้มีการควบคุมราคาชุดนักเรียนให้มีความเหมาะสม ช่วงที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีการขึ้นราคาแบบผิดปกติ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตเครื่องแบบนักเรียนรายใหญ่ร่วมกันลดราคา เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ส่วนกรณีโรงเรียนที่มีเครื่องแบบเฉพาะโรงเรียน กรมการค้าภายในได้แจ้งขอความร่วมมือกับทางโรงเรียน ซึ่งได้รับการตอบรับจากทางโรงเรียนเป็นอย่างดีว่าจะตรึงราคาให้เหมาะสมกับภาวะตลาด
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด 19 ราย อาทิ ผงซักฟอก ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มาร่วมลดราคาด้วย
เงินเฟ้อเม.ย.ลบ 1.04%หนักสุด6ปีทองผันผวน'เฟด-กรีซ'เสี่ยงหุ้นลุ้นพ.ค.นักลงทุนหวนซื้อ
ไทยโพส * เงินเฟ้อ เม.ย.ติดลบ 1.04% หนักสุดรอบ 5 ปี 7 เดือน พาณิชย์ยันไม่เกิดเงินฝืด คนยังจับจ่ายใช้สอย นักวิเคราะห์เผยราคาทองผันผวน เหตุเฟดไม่ชัดเจนขึ้นดอกเบี้ย ปัญหากรีซยังเสี่ยง ลุ้นหุ้นเดือน พ.ค.ฟื้น ขาเทรดกลับมาลงทุนปกติ ดัชนีขึ้นได้แต่ไม่สูง เหตุเศรษฐกิจซึมกดดัน
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย.2558 เท่ากับ 106.35 เทียบเดือน มี.ค.2558 สูงขึ้น 0.02% แต่เทียบเดือน เม.ย.2557 ลดลง 1.04% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับจาก ม.ค.2558 และเป็นการขยายตัวติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 7 เดือน และเฉลี่ย 4 เดือนปี 2558 (ม.ค.-เม.ย.) เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนลดลง 0.65%
“เงินเฟ้อเดือน เม.ย.ที่ติดลบ 1.04% เป็นเพราะราคาน้ำมันเป็นตัวหลักที่ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนนี้ลดลงถึง 22.69% ทำให้ต้นทุนสินค้าตัวอื่นๆ ลดลงตาม จึงไม่มีแรงกดดันต่อราคาสินค้า ไม่ใช่ว่าคนไม่อยากซื้อ ยังซื้อปกติ ไม่ได้เกิดภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด ซึ่งดูได้จากเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักกลุ่มพลังงานและอาหารสดออกไป ยังเพิ่มขึ้น 1.02%” นายสมเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงประเมินเงินเฟ้อทั้งปีตามกรอบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ 0.6-1.3% ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยเติบโต 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาทองคำที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวน สาเหตุหลักมาจากแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรจากการคาดการณ์ว่าเฟดจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงปัญหาหนี้ของกรีซยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง หลังจากเจรจาหลายรอบแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้ ยังมีการสู้รบในเยเมน วิกฤติราคาพลังงาน และอุปสงค์ที่เกิดขึ้นจริงลดลงถึง 9%
ทั้งนี้ แนวโน้มราคาทองคำโลกในระยะสั้น มองว่าจะฟื้นตัวได้ จากการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ดีขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจโตเพียง 0.2% ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยมองว่าค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ไม่ทรุดลง เนื่องจากกลไกหลักกำลังเริ่มทำงาน แต่ยอมรับว่ามีผลต่อค่าเงินบาท เช่นเดียวกับการลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งราคาทองคำในประเทศจะได้รับอานิสงส์ปรับสูงขึ้นด้วย
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) เผยแพร่บทวิเคราะห์ว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยเดือน พ.ค.2558 นักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนตามปกติ โดยผลประกอบการไตรมาส 1/2558 จะเป็นตัวแปรที่มีผลต่อตลาดค่อนข้างมาก และกระตุ้นให้ตลาดมีการซื้อขายมากขึ้น และทิศทางดัชนีหุ้นไทย คาดว่าจะสูงขึ้น แต่จะไปไม่ได้ไกลนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่นักลงทุนยังจับตาดูว่าจะฟื้นตัวได้หรือไม่.