- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 05 May 2015 21:30
- Hits: 1677
พาณิชย์ หั่นเป้าส่งออกปี 58 เหลือโต 1.2% จากเดิม 4% หลังส่งออกไตรมาสแรกปีนี้ติดลบ 4.69%
พาณิชย์ หั่นเป้าส่งออกปี 58 เหลือโต 1.2% จาก4% หลังส่งออก มี.ค.58 ติดลบ 4.45% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ด้านนำเข้าติดลบ 5.89% เกินดุลการค้า1.5 พันล้านดอลล์ ส่วน 3 เดือนแรกปี 58 ส่งออก ติดลบ 4.69%
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 58 เหลือเติบโต 1.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4% โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้การนำเข้า ของประเทศต่างๆ ลดลง โดย ตัวเลขการส่งออกของไทย ในเดือน มี.ค. มีมูลค่า 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.45% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการ ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ส่วนการนำเข้าในเดือน มี.ค. มีมูลค่า 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 5.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าประมาณ 1.5 พันล้าน ดอลลาร์
ส่วนการส่งออกในไตรมาสแรกปีนี้ หดตัวลง 4.69% จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า ลดลง 6.43% ส่งผลให้มียอดเกินดุลการค้า 1.43 พันล้านดอลลาร์
อนึ่ง การส่งออกของไทยเดือนมีนาคม 2558 สถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้น โดยชะลอตัวในอัตราที่ลดลง และยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ในตลาดสำคัญไว้ได้ ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าที่มีปัญหา ปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวได้สูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมถึงแม้จะยังคงหดตัว แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ลดลงเช่นเดียวกัน
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินบาท การส่งออกเดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 610,984 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.15 (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558 มีมูลค่า 1,732,493 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) ในขณะที่การนำเข้าเดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 569,300 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.57 (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558 มีมูลค่า 1,706,205 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.13 (AoA) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนมีนาคม 2558 เกินดุล 41,683 ล้านบาท และในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558 เกินดุล 26,289 ล้านบาท
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 18,886 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -4.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558 มีมูลค่า 53,365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -4.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) ในขณะที่การนำเข้าเดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 17,391 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -5.89 (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558 มีมูลค่า 51,936 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -6.43 (AoA) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนมีนาคม 2558 เกินดุล 1,495 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558 เกินดุลร้อยละ 1,429 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรส่งสัญญาณดีขึ้น โดยสินค้าสำคัญหดตัวในอัตราที่ลดลง โดยภาพรวมเดือนมีนาคม 2558 ลดลงร้อยละ –2.6 (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยางพาราซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ลดลงร้อยละ -27.9 (YoY) ตามราคายางพาราที่ปรับลดลง แต่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นจากปริมาณการส่งออกที่กลับมาขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.2 (YoY) เช่นเดียวกับ ทูน่ากระป๋อง และข้าว ที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัวในอัตราที่ลดลง ขณะที่ สินค้าที่ยังคงมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้น ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สูงขึ้นร้อยละ 11.1, 21.0, 34.9, 10.3 และ 7.5 (YoY) ตามลำดับ
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยภาพรวมเดือนมีนาคม 2558 ลดลงร้อยละ -3.2 (YoY) จากปัจจัยหลักคือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงทรุดตัวลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตล้นตลาด กดดันให้ราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียมปรับตัวค่อนข้างสูง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกปรับตัวลดลงตามเช่นกัน นอกจากนั้น การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่างทองคำที่ลดลงถึงร้อยละ -40.5 (YoY) จากระดับราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง ทำให้ผู้ส่งออกชะลอการส่งออกและหันไปนำเข้าเพื่อเก็งกำไรแทน
ทั้งนี้ หากไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนมีนาคม 2558 จะลดลงเพียงร้อยละ -1.3 (YoY) แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การส่งออกเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น
โดยสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมหักสินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมันและทองคำลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 (YoY) อย่างไรก็ดี สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ยังคงขยายตัวได้ดีขึ้นมาก ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 24.2, 20.2 และ 9.0 (YoY) ตามลำดับ รวมทั้งรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่าสูงถึง 2,446 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขยายตัวร้อยละ 5.0 (YoY)
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออก การส่งออกของไทยที่ยังคงหดตัว เกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทยในปัจจุบันที่ชะลอตัว เนื่องจากกำลังซื้อในตลาดโลกยังคงลดลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่นและอาเซียนที่มีมูลค่าการนำเข้ารวมจากทั่วโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนีเซีย ยังคงพบว่าการส่งออกของประเทศเหล่านั้นต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก มีดังนี้
ปัจจัยภายนอก ได้แก่
1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง ส่งผลให้การนำเข้าของประเทศในต่างๆ ทั่วโลกลดลงอย่างเห็นได้ชัด
2. ความผันผวนของของอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ส่งผลให้สินค้าไทยในสายตาของผู้ซื้อในตลาดเหล่านั้นแพงขึ้น
3. ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรตกต่ำและยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะข้าว และยางพารา
4. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรุดตัว กระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีความเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน
5. อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) และมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTM) โดยเฉพาะสินค้า ผัก ผลไม้ ของอินโดนีเซีย และเวียดนาม และมาตรการสุขอนามัยในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
6. ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ
7. นโยบายภายในของประเทศคู่ค้าที่ลดการนำเข้า และหันไปพึ่งพิงการผลิตและอุตสาหกรรมภายในประเทศมากขึ้น
8. การตัดสิทธิ GSP ในสหภาพยุโรป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558
ปัจจัยภายใน ได้แก่
1. การขาดแคลนวัตถุดิบ อาทิ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ปลา
2. การขาดแคลนแรงงาน และผลิตภาพไม่สูงเท่าที่ควร
3. การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำและได้สิทธิพิเศษทางภาษี
ตลาดส่งออก โดยตลาดสหรัฐอเมริกา และกลุ่ม CLMV ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่องขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นยังคงหดตัว การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 5.6 (YoY) เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ตามปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง สูงขึ้นร้อยละ 29.9, 11.3, 12.4 (YoY) ตามลำดับ เช่นเดียวกับตลาด CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 17.4 (YoY) โดยเฉพาะกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ -8.4 และ -2.1 (YoY) ตามลำดับ เป็นผลจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) ส่งผลให้ค่าเงินเยนและค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ทำให้ยอดคำสั่งซื้อชะลอตัว การส่งออกไปจีนก็ลดลงร้อยละ -8.3 (YoY) ตามการส่งออกยางพาราที่ยังลดลงต่อเนื่องและน้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณชะลอตัวและลดการนำเข้า เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของไทยในตลาดคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนี้
แนวทางการดำเนินการด้านการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากจะมุ่งเน้นการผลักดันส่งออกไปยังตลาดใหม่เพิ่มขึ้น เช่น อาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา รัสเซีย และ CIS ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดหลักคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เพื่อให้การส่งออกของไทยสามารถกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำหนดแผนการผลักดันการส่งออกเพิ่มเติม ดังนี้
1. จัดทำแผนงานรองรับในตลาดสำคัญ ได้แก่
ญี่ปุ่น ผลักดันสินค้าอาหาร โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้ากลุ่มสิ่งทอ และเร่งสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของอาหารไทยโดยใช้สื่อ Online
สหรัฐอเมริกา เน้นผลักดันสินค้ามูลค่าเพิ่ม เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเพื่อสุขภาพเจาะกลุ่มลูกค้าฮิสแปนิกในสหรัฐฯ โดยเน้นช่องทาง Modern Trade สำหรับกลุ่มฮิสแปนิก จะนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจกับผู้นำเข้ารายสำคัญ รวมทั้งเจาะกลุ่มลูกค้าเครือโรงแรม/ ธุรกิจเรือสำราญ/ กลุ่ม Food & Restaurant/ Catering service
อินเดีย ใช้กลไกความร่วมมือในการสร้างความสัมพันธ์ (รัฐ-รัฐ/รัฐ-เอกชน) โดยจัดประชุม Joint Business Forum ระหว่างสภาอุตฯ ไทยและอินเดีย รวมทั้งขยายตลาดเมืองรองในอินเดีย โดยมุ่งเน้นสินค้าอาหาร วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน (เมืองสุราต รัฐคุชราจ/เมืองกูวาฮาตี รัฐอัสสัม)
จีน เน้นเจาะตลาดสินค้าอาหารแปรรูป อาหารฮาลาล โดยใช้ช่องทาง Modern Trade เข้าร่วมงาน Trade Fair สำคัญ รวมทั้งขยายตลาดสู่เมืองรองของจีน
อาเซียน โดย อาเซียน (5) ผลักดันสินค้ามูลค่าสูง เช่น แฟชั่นแบรนด์ เสื้อผ้า ส่วน CLMV เน้นผลักดันสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม พลาสติก และสินค้าวัสดุก่อสร้าง โดยใช้ช่องทาง Modern Trade ในเมืองใหญ่และเมืองรอง
2. ผลักดันการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้า ซึ่งแบ่งออกเป็น 12 กลุ่ม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เกษตรและอาหาร ตลาด CLMV สินค้าไลฟ์สไตล์ สิ่งทอและเครื่องหนัง ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ วัสดุและบริการก่อสร้าง โลจิสติกส์ สุขภาพและความงาม ดิจิตอลคอนเทนต์ และสินค้าฮาลาล โดยจะเริ่มเรียกประชุมหารือภาคเอกชน ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2558 เพื่อกำหนดแผนบุกตลาดพร้อมกัน และสรุปแผนให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อดำเนินการ Road show ตามแผนทันที
3. อำนวยความสะดวกทางการค้าให้มากขึ้น โดยจะหารือกับภาคเอกชนและรวบรวมมาตรการที่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ เช่น ด้านโลจิสติกส์และพิธีการศุลกากร เป็นต้น และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อจะได้มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
4. ให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาการค้าในระยะสั้นผ่านคณะกรรมการของทั้งสองฝ่ายจากแต่ละประเทศ รวมทั้งเพิ่มการทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ ได้แก่ ปากีสถานและตุรกี
5. เพิ่มช่องทางการค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีต้นทุนดำเนินธุรกิจต่ำสุด
6. ร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ผลักดันให้ SMEs ที่มีพัฒนาการแล้ว สามารถขยายการค้าออกไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้นผ่านโครงการพี่จูงน้อง ซึ่งจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดน ขยายตัวต่อเนื่อง
มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 7.9 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 86,052.8 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 2.8 (YoY) โดยไทยทำการค้าชายแดนกับมาเลเซียสูงที่สุดมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 46.6 ของการค้าชายแดนรวม ซึ่งลดลงร้อยละ -8.78 (YoY) รองลงมา ได้แก่ เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา โดยขยายตัวร้อยละ 15.4, 10.2 และ 23.3 (YoY) ตามลำดับ และในภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 21,148.4 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์
จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 11,805.5 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 5.4 (YoY) โดยภาพรวมการค้าผ่านแดนไทยทำการค้ากับจีนตอนใต้สูงสุด ขยายตัวร้อยละ 46.8 (YoY) รองลงมาได้แก่ เวียดนาม ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 60.1 (YoY) ขณะที่การค้าผ่านแดนกับสิงคโปร์ ลดลงร้อยละ -50.8 (YoY) และในภาพรวมไทยได้ดุลการค้าผ่านแดนรวม 3 ประเทศ เป็นมูลค่า 167.3 ล้านบาท
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
พาณิชย์ เผยมี.ค.ส่งออกหด 4.45% นำเข้าวูบ 5.89% เกินดุลฯ1,495 ล้านดอลล์
กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าภาวะการส่งออกในเดือน มี.ค.58 หดตัว 4.45% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 18,886 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าหดตัว 5.89% มีมูลค่า 17,391 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1,495 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่การส่งออกในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.58) มูลค่า 53,365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 4.69% นำเข้าไตรมาสแรก 51,936 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.43% ดุลการค้าไตรมาสแรก เกินดุล 1,429 ล้านเหรียญสหรัฐ
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกเดือน มี.ค.ดีขึ้น โดยเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน และยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่สำคัญไว่ได้ ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตร/สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มที่มีปัญหาพบว่าปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และแม้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะยังหดตัวแต่ก็มีอัตราชะลอลง
ปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออกของไทยขณะนี้ยังมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายในประเทศมาจาก 1. การขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น สินค้ากุ้ง ที่ประสบปัญหาโรค EMS และปลาที่ประสบปัญหาการทำประมงกับอินโดนีเซีย รวมถึงปัญหา IUU 2. ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 3. มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า และได้สิทธิพิเศษทางภาษี
ขณะที่ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้เหลือโต 3.5% จากเดิม 3.8%, การนำเข้าในภาพรวมของทุกประเทศลดลง, ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศคู่ค้าของไทย, ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะข้าว ยางพาราและน้ำตาล, ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากระดับ 87 ดอลลาณ์/บาร์เรลในเดือนต.ค.57 เหลือ 58 ดอลลาร์ในเดือน ก.พ.58,
มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NTB), ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ, นโยบายภายในประเทศของประเทศคู่ค้า เช่น จีนและอินโดนีเซียที่หันมาพึ่งพาการผลิต และพึ่งพาอุตสาหกรรมภายในประเทศมากขึ้น ในขณะที่สหรัฐดึงการลงทุนหลายอย่างกลับไปผลิตเองในประเทศ, กรณีที่สหภาพยุโรปตัดสิทธิ GSP ในสินค้าไทยหลายรายการตั้งแต่ 1 ม.ค.58
พาณิชย์ เผยมี.ค.ส่งออกหดตัว 4.45% นำเข้าหดตัว 5.89% เกินดุล 1,495 ล้านดอลล์
กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ภาวะการส่งออก ในเดือนมี.ค. 58 หดตัว 4.45% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 18,886 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าหดตัว 5.89% มีมูลค่า 17,391 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1,495 ล้านเหรียญสหรัฐ
อินโฟเควสท์