WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOCก.พาณิชย์ เผย ปรับเพิ่มเป้าหมายมูลค่าการค้าไทย-เวียดนามเป็น 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2020

  ก.พาณิชย์ เผยหลังปี 57 การค้าไทย-เวียดนามพุ่งเกือบ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงปรับเพิ่มเป้าหมายจาก 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯเป็น 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2020(พ.ศ.2563) ขณะที่เตรียมผลักดันจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมไทย-เวียดนาม เพื่อแก้ปัญหาการค้า 2 ประเทศ ในการประชุมครม.ไทย-เวียดนาม เดือน ก.ค.58 นี้ ด้านธุรกิจดูแลรักษาสัตว์เลี้ยง สุขภาพความงาม ที่เวียดนามกำลังต้องการและทำกำไรดี

   พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการเดินทางเยือนเวียดนาม (กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์) ระหว่างวันที่ 21 – 23 เมษายน 2558 เพื่อสานต่อภารกิจอันเป็นผลสืบเนื่องจากการเดินทางเยือนเวียดนามของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 โดยได้พบหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม รวมทั้งผู้ประกอบการไทยในเวียดนาม ทั้งที่กรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์  ตลอดจนการเดินทางไปดูงานสถานการณ์การผลิตและการค้าข้าวของเวียดนาม

   การหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ได้ผลสำเร็จเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย โดยเห็นชอบที่จะขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันจากเดิมที่ตั้งไว้  15,000 ล้านเหรีญสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 (พ.ศ.2563) โดยเห็นว่ามูลค่าการค้าในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2557 มีมูลค่า 11,826 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.16 การเพิ่มมูลค่าเป้าหมายการค้าจึงเป็นการสะท้อนความตั้งใจของทั้งสองประเทศที่จะขยายความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

  กลไกที่จะช่วยส่งเสริมการขยายมูลค่าการค้าดังกล่าวคือการเพิ่มความร่วมมือที่ใกล้ชิดผ่านเวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ครั้งที่ 2 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2558 ก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย – เวียดนาม (Joint Cabinet Retreat: JCR) ครั้งที่ 3 ในเดือนกรกฎาคม 2558 โดยในการประชุม JTC ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยกประเด็นหารือถึงการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมไทย-เวียดนาม (Thai – Vietnam Joint Business Council) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศเพื่อเป็นช่องทางการสร้างความสัมพันธ์อันดี เพื่อลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน การทบทวนเรื่องการห้ามนำเข้าผลไม้ไทย 4 ชนิด คือ ลำไย เงาะ ลิ้นจี่ และมะม่วง จากปัญหาด้านสุขอนามัยพืช การกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านข้อมูลการค้าข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อโประโยชน์ของ เกษตรกรทั้งสองประเทศรวมทั้งขอให้รัฐบาลเวียดนามเร่งรัดอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับโครงการการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในเวียดนามให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีด้วย

   ในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามขอให้ไทยเร่งรัดการดำเนินการในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 2 รายการที่นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้อนุมัติโครงการแล้ว คือ โครงการโรงกลั่นน้ำมันดิบของบริษัท ปตท. และการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ขนาด 1,200 ล้านเมกะวัตต์ ของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะได้ประสานและเร่งรัดติดตามความคืบหน้าต่อไป

   ในส่วนของการหารือกับผู้ประกอบการไทยในเวียดนามกว่า 30 ราย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่านักธุรกิจทุกรายเห็นตรงกันว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ยังมีปัจจัยบวกที่ไทยควรให้ความสนใจไปขยายการค้าการลงทุนเพิ่มในหลายด้าน เพราะเศรษฐกิจเวียดนามมีการเจริญเติบโตที่ดี ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น คาดว่าใน 10 ปี ข้างหน้า จะมีกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านคนเป็น 20 ล้านคน ประกอบกับคนเวียดนามมีทัศนคติเชิงบวกต่อคนไทยและสินค้าไทย เวียดนามยังมีแรงงานเพียงพอและค่าแรงยังต่ำกว่าไทย

  รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายสนับสนุนการค้าการลงทุนที่ชัดเจนต่อเนื่อง และยังมีแต้มต่อด้านภาษี แม้จะมีปัญหาเรื่องกฎ ระเบียบภายในที่มีการแก้ไขปรับปรุงบ่อย และปัญหาขั้นตอนการปฏิบัติงานของรัฐอาจมีความล่าช้า และไม่เท่าเทียมระหว่างกรณีของคนเวียดนามกับนักธุรกิจต่างชาติ รวมทั้งยังมีปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่บ้าง แต่เมื่อผ่านขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจในช่วงปีแรกๆ ไปได้แล้ว ส่วนใหญ่จะประสบผลสำเร็จสามารถทำกำไรจากการค้าและการลงทุนได้เป็นอย่างดี และยังมีธุรกิจการค้าสินค้าและบริการหลายประเภทที่ตลาดเวียดนามยังมีความต้องการมาก เช่น ธุรกิจการดูแลรักษาสัตว์เลี้ยง บริการด้านสุขภาพและความงาม เป็นต้น

   เนื่องจากการเริ่มต้นธุรกิจในต่างประเทศเป็นเรื่องค่อนข้างยากลำบาก กระทรวงพาณิชย์จึงสนับสนุนให้มีโครงการพี่จูงน้อง โดยให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จแล้วเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดความรู้ กำกับดูแล และแนะนำแนวทางการดำเนินการให้ SME หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ให้ก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยไม่ต้องลองผิด ลองถูก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ค้ารายใหม่สามารถลดความเสี่ยงและประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งตลาดเวียดนามขณะนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย เช่น อมตะ SCG CPF ปตท. ธนาคารกรุงเทพ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ รับที่จะดูแลผู้ประกอบการรายใหม่ภายใต้โครงการดังกล่าว โดยจะมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 เมษายน ศกนี้

  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างกลุ่มอมตะ กับ บริษัทต่วน โจว เพื่อก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ฮาลอง จังหวัดไฮฟอง ทางตอนเหนือใกล้กับกรุงฮานอย เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาลเวียดนาม เพราะจะสามารถสร้างงานให้กับคนไทยและเวียดนามที่จะเข้าไปทำธุรกิจต่อเนื่องในพื้นที่ที่จะเป็นชุมชนใหม่ขนาดใหญ่รองรับการจ้างงานได้กว่า 3 แสนคน สินค้าและบริการของไทยจึงยังมีโอกาสที่ดีมากในเวียดนาม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้มีแผนกิจกรรมสร้างความร่วมมือที่ดีอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการค้าที่ตั้งไว้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!