WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

IUU FISHINGประวิตร เผยยังไม่ใช้ม.44 แก้ใบเหลือง EU สั่งทำแผนให้ ครม.ใน 2 สัปดาห์

    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(IUU FISHING)ว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมองว่ากฎหมายอื่นครอบคลุมการดำเนินงานแล้ว ซึ่งภายใน 1 เดือนจะต้องมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา, การชี้แจงกับต่างประเทศ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมาย, กฎหมายลูก และพ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน

    พล.อ.ประวิตร ไม่คิดว่าไทยจะได้ใบเหลืองจากอียู เพราะไทยได้ดำเนินการมาโดยตลอด แต่ยังไม่เป็นไปตามหลักสากล จึงได้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานทั้งหมดและตกลงกันว่าจะดำเนินการในด้านของกฎหมาย การติดตั้ง GPS เพื่อติดตามเรือ และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อชี้แจงให้สหภาพยุโรป(อียู) เข้าใจการดำเนินการของไทย พร้อมจัดตั้งชุดเฉพาะกิจใน 22 จังหวัดเพื่อตรวจสอบเรือที่จะออกจากท่า และจะเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามความคืบหน้าในแต่ละสัปดาห์ โดยมั่นใจว่าไทยจะต้องได้ใบเขียวจาก EU ก่อนกำหนดใน 6 เดือนอย่างแน่นอน

   ส่วนการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาที่ไทยอยู่ในอันดับเทียร์ 3 นั้น อาจมีปัญหาในเรื่องของการจับกุมและดำเนินคดี ซึ่งจะต้องเรียกประชุมอีกครั้ง แต่ในขณะนี้มีความพยายามในการแก้ไขเพื่อให้ปรับลดอันดับลง

    ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำแผนปฎิบัติงาน(Action Plan) เสนอมายังที่ประชุม ครม.ใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อเป็นแผนดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ ควบคู่ไปกับการออกกฎหมาย  ขณะเดียวกันเรือประมงตั้งแต่ 60 ตันกลอสขึ้นไป จะต้องมีการติดตั้ง ระบบติดตามเรือให้ครบทุกลำ โดยให้กองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ขณะที่เรือตั้งแต่ 30-60 ตันกลอส ก็ให้มีการติดตั้งระบบติดตาม VMS ได้ทันที พร้อมกับมอบหมายให้กรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพจัดชุดเฉพะกิจ ตรวจสอบ ติดตามเรือ ดูใบอนุญาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    ขณะที่การชี้แจงทำความเข้าใจกับอียูนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศไปดำเนินการ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ต้องไปทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่นำเข้าสินค้าประมงไทย ส่วนเรื่องคดีความต่างๆ สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ รายงานความคืบหน้าคดีความต้องมีความชัดเจน

   พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย เพื่อรวบรวมข้อมูล ดำเนินการชี้แจงและแก้ปัญหาอย่างครบถ้วนขึ้นด้วย

                        อินโฟเควสท์

สภาฯ หอการค้าไทย มั่นใจ ใบเหลืองอียูไม่กระทบส่งออกภาพรวมปีนี้ จี้ รัฐเดินหน้าเรียกความเชื่อมั่นคืน

    นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล  กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ว่า กรณีที่คณะกรรมาธิการยุโรป หรือ EU ในอุตสาหกรรมประมงไทย ประกาศเตือนอย่างเป็นทางการ หรือ ให้ใบเหลือกับประเทศไทย กรณีประเมินว่าไทยดำเนินการไม่เพียงพอในการป้องกัน ขจัด และยับยั้ง การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU FISHING นั้น ยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่กระทบในเรื่องของการส่งออกอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลยุโรปไม่ได้มีการประกาศห้ามนำเข้าสินค้า

     แต่ที่กระทบนั้น เป็นในส่วนของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะไม่สนับสนุนสินค้าไทย หากไทยไม่ดำเนินการตามที่กลุ่ม EU ต้องการ ดังนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นมากกว่า ดังนั้นรัฐบาลไทยจะต้องเร่งดำเนินการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยการออกโรดโชว์ หรือเดินทางไปเจรจาเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทย ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการไทยมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว และพร้อมที่จะดำเนินการตามที่ทางการ EU ได้กำหนด ซึ่งมองว่าแนวทางในการพยายามหาทางแก้ไขของรัฐบาลนั้นจะสามารถทำให้ไทยกลับมาได้ใบเขียวภายใน 6 เดือน

     "สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้และคิดว่าน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด คือ การเดินหน้าออกไปเรียกความเชื่อมั่น โดยจะต้องเริ่มจากผู้นำเข้าของทาง EU ก่อน เพราะหากผู้นำเข้าโอเค นั่นสะท้อนว่าผู้บริโภคของทางยุโรปก็จะไม่มีปัญหาด้วย ส่วนในแง่ของการนำเข้าหน่วยงานรัฐของยุโรปไม่ได้มีการประกาศห้ามนำเข้าสินค้าไทยแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมองว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกโดยภาพรวมในปีนี้อย่างแน่นอน"นายพรศิลป์ กล่าว

สั่งทูตพาณิชย์แจงทั่วโลกยันไทยลุยแก้ปัญหาประมงหลังโดนใบเหลือง

     บ้านเมือง : สั่งทูตพาณิชย์ชี้แจงคู่ค้าเดินหน้าแก้ไขปัญหาประมงไทย หลังโดนใบเหลือง พร้อมให้กู้ภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่น เชื่อไทยหลุดจากใบเหลืองอียู ขณะที่แบงก์ชาติหวังเอกชนจับมือรัฐแก้ปัญหาใบเหลืองสินค้าประมง วอนอียูให้พิจารณาความตั้งใจของประเทศไทยด้วย

     พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมการมานานพอสมควรในการแก้ไขปัญหาประมงไทย โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และยังมีการออกกฎหมายเพิ่มหลายฉบับ ซึ่งอาจจะประกาศใช้ไม่ทันในช่วงนี้ แต่เชื่อว่าภายในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้นแน่นอน เนื่องจากมีการเร่งรัดแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานประมงและกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงก็จะประกาศใช้เร็วๆ นี้

     ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่าการส่งออกสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไทยไปสหภาพยุโรป (อียู) ปี 2555 มีมูลค่า 611.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2556 มูลค่า 646.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2557 มูลค่า 389.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วงเดือนมกราคมกุมภาพันธ์ 2558 มูลค่า 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 21.12 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

     ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประเทศไทยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาประมง (IUU Fishing) ว่า ยังไม่มีผลกระทบต่อการระงับนำเข้าสินค้าประมงจากไทย เนื่องจากอียูให้ระยะเวลา 6 เดือน ในการแก้ไขปัญหาประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในระหว่างนี้ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  (ทูตพาณิชย์) ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาประมง ได้แก่ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำการชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกู้ภาพลักษณ์สินค้าประมงของไทยให้ผู้นำเข้าในประเทศต่างๆ ได้เข้าใจว่าไทยได้พยายามในการผลักดันเรื่องการแก้ไขปัญหาประมงอย่างเต็มที่

   "ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องสถานการณ์ประมงในไทย โดยยกเป็นวาระแห่งชาติ มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประมง ที่จะมีการเพิ่มเติมในเรื่องของบทลงโทษ ซึ่งขณะนี้ได้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว เหลือเพียงการบังคับใช้ที่ต้องเร่งให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด"

     นอกจากนี้ ไทยยังได้เร่งจัดระเบียบเรือประมง โดยมีการติดตั้งระบบตรวจสอบ VMS และการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง และการผลักดันให้ห้างค้าปลีกจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับในการซื้อวัตถุดิบประมงจากแหล่งผลิตที่ถูกกฎหมาย

   อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากที่ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่บังคับใช้ และการดำเนินมาตรการต่างๆ ตามที่อียูเรียกร้อง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน และจากนั้นเชื่อว่าจะทำให้อียูปลดใบเหลืองที่ให้กับไทย

   นางอภิรดี กล่าวว่า สำหรับการจัดทำมาตรการรับมือกรณีการส่งออกสินค้าประมงได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมที่จะผลักดันการส่งออกสินค้าประมงไปยังตลาดใหม่ นอกเหนือจากตลาดอียู โดยจะขยายตลาดไปยังตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และกลุ่ม CLMV ซึ่งในวันที่ 24 เม.ย.นี้ จะมีการหารือกลุ่มทำงาน 10 กลุ่ม โดยจะมีการหารือถึงแนวทางในการรับมือในเรื่องนี้ด้วย

   ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่สภาพยุโรป หรืออียู ประกาศให้ใบเหลืองประเทศไทย และให้เวลา 6 เดือน แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในสินค้าประมง หากไม่คืบหน้าจะแบนการนำเข้าสินค้าประมงของไทย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้กำชับไปยังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กกร. ให้เอกชนช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหานี้อย่างเต็มที่ โดยอยากให้อียูมองที่ความตั้งใจของประเทศไทยที่มุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาพิจารณาด้วย เพราะไม่เช่นนั้นคงจะเสียกำลังใจได้

     ส่วนผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยนั้น นายประสาร กล่าวว่า ขณะนี้การส่งออกของไทยโตได้น้อย ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงจึงทำให้การส่งออกไปยังจีนลดน้อยลง และที่ผ่านมาไทยส่งออกไปจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบค่อนข้างมาก

พณ.เชื่อหลังบังคับใช้ กม.ประมงฉบับใหม่ อียูจะปลดใบเหลืองสินค้าประมงไทย

    นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป(อียู)ให้ใบเหลืองประเทศไทยกรณีการทำประมงผิดระเบียบการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม(IUU) ของอียู ว่า แม้อียูจะยังไม่ระงับนำเข้าสินค้าประมงจากไทย เนื่องจากอียูให้ระยะเวลา 6 เดือนในการแก้ไขปัญหาประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กระทรวงพาณิชย์ก็มีแผนรองรับกรณีที่การส่งออกสินค้าประมงได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาต่อการตัดสินดังกล่าว

    โดยในวันที่ 24 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมกลุ่มทำงานสินค้า 10 กลุ่ม เพื่อขยายตลาดการส่งออก ซึ่งในนั้นมีกลุ่มอาหารที่รวมสินค้าประมงอยู่ด้วยนั้น จะมีการหารือถึงตลาดรองรับการส่งออกสินค้าประมงในตลาดใหม่ๆ เบื้องต้นจะเน้นขยายตลาดส่งออกเพิ่มเติมไปยังตลาดตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, เวียดนาม)

   "นอกเหนือจากตลาดอียูที่ไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาประมงแล้ว จะมีการหาตลาดใหม่ๆไว้เพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคหรือผู้นำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทยยังคงมั่นใจในมาตรฐานสินค้าของไทย" นางอภิรดี กล่าว

    พร้อมกันนี้ ตนเองได้สั่งการให้ผู้อำนวยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(ทูตพาณิชย์) ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาประมง ได้แก่ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ในการชี้แจงภาพลักษณ์สินค้าประมงของไทยให้ผู้นำเข้าในประเทศต่างๆ ได้เข้าใจว่าไทยได้พยายามผลักดันเรื่องการแก้ไขปัญหาประมงอย่างเต็มที่

     โดยที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องสถานการณ์ประมงในไทย โดยยกเป็นวาระแห่งชาติ มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประมง ที่จะเพิ่มเติมบทลงโทษ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว เหลือเพียงการบังคับใช้ที่ต้องเร่งให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

    รมช.พาณิชย์ เชื่อว่า หลังจากร่างกฏหมายประมงฉบับใหม่บังคับใช้น่าจะทำให้อียูปลดใบเหลืองให้กับไทย เนื่องจากได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อียูได้กำหนดให้ไทยแก้ไขสถานการณ์ประมงผิดกฎหมายได้ รวมทั้งขณะนี้ไทยกำลังเร่งจัดระเบียบเรือประมง โดยมีการติดตั้งระบบตรวจสอบ VMS และการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง และการผลักดันให้ห้างค้าปลีกจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับในการซื้อวัตถุดิบประมงจากแหล่งผลิตที่ถูกกฎหมาย

     "ร่างกฎหมายประมงได้ผ่าน สนช.แล้ว แต่ยังไม่ทันบังคับใช้ อียูได้ให้ใบเหลืองกับไทยก่อน แต่เชื่อว่าหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ในช่วง 6 เดือน ที่อียูให้แก้ไขปรับปรุงระบบประมงของไทย อียูจะปลดใบเหลืองให้แน่นอน" นางอภิรดี กล่าว

    ขณะที่ นายโฆษิต โลหะวัฒนะกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการตลาดการค้าต่างประเทศ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF) กล่าวว่า อียูให้ใบเหลืองไทยจะไม่กระทบการค้าของบริษัทฯ เนื่องจากสินค้ากุ้งของบริษัทฯมาจากการเลี้ยงในฟาร์ม ขณะเดียวกันธุรกิจของบริษัทฯไม่มีเรือประมง โดยบริษัทปฏิบัติการตรวจสอบภายในเข้มงวดตลอดห่วงโซ่การผลิตทั้งคู่ค้าและบริษัทตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา และเริ่มเดินหน้าตรวจสอบทั้งระบบโดยหน่วยงานตรวจสอบอิสระชั้นนำระดับสากล เพื่อให้มั่นใจว่าตลอดขบวนการผลิตของบริษัทฯปราศจากปัญหาแรงงาน และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทฯได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานอิสระชั้นนำระดับสากลเพื่อยืนยันความถูกต้องและความเข้มงวดในระบบตรวจสอบย้อนกลับ

     ทั้งนี้ บริษัทฯได้เตรียมหาแหล่งผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการส่งออกจากประเทศไทยไว้ตั้งแต่ปี 56 โดยจะใช้การผลิตจากโรงงานที่เวียดนามเพื่อส่งออกไปยังอียูแทน และซีพีเอฟยังมีฐานการผลิตอีกหลายแห่งที่จะสามารถส่งออกไปอียูได้

     ด้านนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่ โดยเฉพาะทูน่า มีการนำเข้าวัตถุดิบกว่าปีละ 8-9 แสนตัน มูลค่า 40,000-50,000 ล้านบาท ภายหลังการแปรรูปก็ได้ทำการส่งออกถึงปีละ 120,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกในตลาดอียู 12,000 ล้านบาท หรือเพียง 10% โดยหากประเทศผู้นำเข้ารายอื่นกำหนดระเบียบที่เข้มขึ้นตามอียู ก็จะทำให้เกิดผลกระทบมาก แต่จากมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรฯกำลังดำเนินการก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ข้อกล่าวหาของอียูที่จะให้ใบแดงกับไทยได้แน่นอน

  อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!