- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 20 April 2015 23:41
- Hits: 1608
1.การบริหารจัดการสินค้าเกษตรหลักที่สำคัญในเชิงรุก
1.1 ข้าว
ระบายข้าวในสต็อกผ่านการประมูลทั่วไป รวม 6 ครั้ง และขายข้าวฤดูใหม่ให้กับรัฐบาลต่างประเทศ 4 สัญญา ปริมาณรวมประมาณ 3 ล้านตัน มูลค่ารวมประมาณ 36,000 ล้านบาท ซึ่งปริมาณข้าวที่ขายให้กับรัฐบาลต่างประเทศ ประกอบด้วย จีน 4 แสนตัน ฟิลิปปินส์ 5 แสนตัน และอินโดนีเซียอีก 1.5 แสนตัน และยังมีสัญญาอยู่ระหว่างการเจรจาส่งมอบในระยะต่อไปอีกกว่า 2.6 ล้านตัน ทั้งนี้ มีผลจากการผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ทำให้เมื่อสิ้นปี 2557 ยอดส่งออกข้าวทะลุกว่า 10 ล้านตัน สามารถทวงแชมป์ส่งออกข้าวโลกคืนมาได้อีกครั้ง นอกจากนี้ มีแผนจะเดินทางไปทวงคืนและขยายตลาดข้าวในอีกหลายประเทศ
ช่วยเหลือเกษตรกร โดยไม่ใช้มาตรการบิดเบือนกลไกตลาด ผ่านการขอความร่วมมือผู้ประกอบการเอกชนซึ่งมีมาตรการสำคัญ อาทิ มาตรการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ทำให้ต้นทุนลดลงโดยเฉลี่ยไร่ละ 432 บาท มาตรการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเพื่อชะลอการขาย มาตรการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกข้าวเปลือก และจัดตลาดนัดรับซื้อจากเกษตรกร ช่วยให้ราคา ณ ท่าข้าว โรงสี ปรับเพิ่มขึ้นตันละ 100-800บาท เป็นต้น ผลของมาตรการดังกล่าวช่วยให้รักษาระดับราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ไว้ที่ราคาตันละ 8,200-8,500 บาท และจะดำเนินการต่อไปสำหรับนาปรัง
1.2 สินค้าเกษตรอื่นๆ ได้วางแผนเชิงรุกร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเตรียมรับมือก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่สินค้ามันสำปะหลัง ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และยางพารา
1.3 ผลไม้ ได้กำหนดแผนการระบายผลไม้ไปยังตลาดที่ห่างไกลแหล่งผลิต รวมถึงด่านการค้าชายแดนและการส่งออก โดยจัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าผักและผลไม้ไปเยือนอินโดนีเซีย มีการสั่งซื้อผลไม้สดทันทีมูลค่ากว่า 35 ล้านบาท และคาดว่าจะมียอดสั่งซื้อเพิ่มอีกกว่า 190 ล้านบาท
2. การดูแลค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย
2.1 ติดตาม เฝ้าระวัง สถานการณ์และราคาสินค้าทุกวัน รวมถึงการชั่งตวงวัด เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย
2.2 จัดงาน "ธงฟ้า"ตามจังหวัดและอำเภอต่างๆ และจัด"ธงฟ้าเคลื่อนที่"ถึงบ้านผู้มีรายได้น้อยตามแหล่งชุมชนทุกจังหวัดเพื่อสร้างทางเลือกให้คนไทยมีสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดกว่าร้อยละ ๓๐ มีการจัดต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 1,000 ครั้ง มูลค่าจำหน่ายกว่า 1,300 ล้านบาท ลดค่าครองชีพได้ถึง 550 ล้านบาท
2.3 โครงการ "เทใจ คืนสุข สู่ประชาชน" โดยร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อกว่า 12,000 สาขาทั่วประเทศ พร้อมใจกันลดราคาถึงร้อยละ 70
มียอดขายทั้งสิ้นประมาณ 50,000 ล้านบาท และช่วงเปิดเทอม ระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึง 10 พฤษภาคม ได้จัดทำโครงการ "เทใจ คืนสุข ต้อนรับเปิดเทอม" ร่วมกับห้างและร้านค้าทั่วประเทศเพื่อลดราคาชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เป็นการลดภาระผู้ปกครองห้วงเวลาเปิดเทอม
2.4 โครงการ "หนูณิชย์พาชิม" เป็นการคืนความสุขทุกจานให้แก่ประชาชน โดยคัดสรรร้านอาหารราคาถูก สะอาด ดี และอร่อย ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 2,600 ร้านทั่วประเทศ จำหน่ายจานละ 30-35 บาท สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ถึงวันละเกือบ 2.2 ล้านบาท
3. ด้านต่างประเทศ
3.1 ให้ความสำคัญกับ AEC รวมทั้งการเจรจาระหว่างอาเซียนกับคู่ค้า 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) จะครอบคลุมตลาดที่มีประชากรกว่า 3 พันล้านคน
3.2 เจรจา FTA คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เริ่มการเจรจากับตุรกีและปากีสถาน เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่กับ 16 ประเทศ รวมทั้งอาเซียน
3.3 นำคณะไป Road show ณ ประเทศอินเดีย ตกลงร่วมกับรัฐมนตรีการค้าอินเดียจะขยายการเจรจา FTA ของสองประเทศ และเอกชนได้ลงนาม MOU หลายฉบับ อาทิ การก่อสร้างท่าเรือในมุมไบ มีมูลค่า 10,000 ล้านบาท การลงทุนของภาคเอกชนของอินเดียตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ ณ จังหวัดระยองเพื่อส่งออก มูลค่าการลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลให้ใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มปีละกว่าแสนตัน
3.4 ด้านการส่งออก ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่า 92,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 0.88 เนื่องจากประสบปัญหา อาทิ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ค่าเงินของคู่ค้าคู่แข่งอ่อนตัวลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินบาทไทย ประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรโลกลดต่ำ เป็นต้น กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะรักษาตลาดหลัก โดยใช้กลยุทธ์ เช่น จัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ในประเทศ เพื่อให้ผู้ซื้อต่างประเทศมาเลือกสินค้า นำผู้ประกอบการไทยไปจัดกิจกรรมในต่างประเทศ และดำเนินมาตรการผลักดันตลาดใหม่ๆ ที่จะส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เมืองรองในประเทศ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ ดำเนิน “โครงการพี่จูงน้อง” ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่นำผู้ประกอบการ SMEs บุกตลาดต่างประเทศ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการต่างๆ กว่า 5,000 ราย โดยมีสินค้าเป้าหมาย ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว อาหารเสริม เครื่องดื่ม สปาและผลิตภัณฑ์สปา
4. การเตรียมความพร้อมให้ไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยกำหนดเป้าหมายผลักดันมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนและการค้าผ่านแดนให้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 35 จากปีก่อนหน้า โดยได้ริเริ่ม “แม่สอดโมเดล”
4.1 จัดงานมหกรรมการค้าชายแดนและจับคู่ธุรกิจ ณ จังหวัดตาก เกิดการซื้อขายทันทีรวมกว่า 400 ล้านบาท และทำสัญญาเพื่อลงทุนระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และมีการหารือระหว่างรัฐมนตรีประเทศเพื่อนบ้านกำหนดแนวทางความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ได้จัดเพิ่มเติมแล้ว ณ จังหวัดมุกดาหารและสระแก้ว และกำหนดจะจัดต่อไป ณ จังหวัดตราดและสงขลา
4.2 อำนวยความสะดวกทางการค้า
จัดตั้งศูนย์ AEC Business Support Center ใน 8 ประเทศอาเซียนให้บริการข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าการลงทุน มีผู้ประกอบการไปขยายตลาดอาเซียนได้ 534 ราย มีมูลค่าการสั่งซื้อประมาณ 1,511 ล้านบาท
เร่งสร้างศักยภาพธุรกิจไทยอย่างครบวงจร โดยยกระดับการบริหารจัดการและเชื่อมโยงเครือข่ายมากกว่า 17,000 ราย อีกทั้งพัฒนาและให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศแก่ผู้ประกอบการและนักออกแบบพร้อมสู่เวทีการค้าโลกอีกกว่า 57,000ราย
เร่งรัดจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ขจัดคำขอเครื่องหมายการค้าที่ค้างอยู่ประมาณกว่า 40,000 คำขอ และลดระยะเวลาการจดทะเบียนจากเดิม 20 เดือน เหลือ 9 เดือน ทำลายของกลางละเมิดร่วม 7 แสนชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนกว่า 5,600 ราย รวมทั้งสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า
นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ จัดตั้งคลังข้อมูลการค้า ให้บริการรับงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Filing) ขยายตลาดการค้าผ่านเว็บไซต์ Thaitrade.com และ Thaicommercestore.com เป็นต้น ทั้งนี้ จะจัดทำแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ "ลายแทงของถูก" เพื่อเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าอย่าง 'ฉลาดซื้อ ประหยัดใช้'เริ่มเปิดบริการในเดือนพฤษภาคม นี้
5. การวางรากฐานในอนาคตเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นชาติการค้า
5.1 ด้านโครงสร้าง ได้ผลักดันจัดตั้งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เพื่อทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนสู่ชาติการค้า
5.2 ขยายการค้าบริการให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาโลจิสติกส์ และจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นชาติการค้าต่อไป
5.3 ด้านกฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เป็นสากลมากขึ้น เช่น พ.ร.บ. เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ร.บ.นำเข้าส่งออก เป็นต้น เพื่อก้าวสู่ชาติการค้า
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย