- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 20 April 2015 23:40
- Hits: 1599
รมว.พาณิชย์ เน้นงาน 6 เดือนข้างหน้าผลักดันส่งออก-ดูแลสินค้าเกษตร-พร้อมรับ AEC
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวในการแถลงผลงานรอบ 6 เดือน(12 ก.ย.57-12 มี.ค.58)ถึงการดูแลด้านการส่งออก โดยยอมรับว่าจุดอ่อนในการทำงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา คือ โชคไม่ดีที่เข้ามาบริหารงานในภาวะที่เศรษฐกิจมีปัญหา แต่ยืนยันว่าข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ทุกคนมีความพร้อมและตั้งใจทำงาน และมีแผนการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งวันพรุ่งนี้(21 เม.ย.) จะเชิญภาคเอกชนมาร่วมให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกของประเทศต่อไป
"เราโชคไม่ดีที่เข้ามาในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา แต่ยืนยันว่าทุกคนพร้อมทำงาน มีแผนงานชัดเจน พรุ่งนี้เราจะเชิญภาคเอกชนมาหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
ในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากระทรวงพาณิชย์จะให้ความสำคัญกับการดูแลใน 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การส่งออก ซึ่งการทำงานในช่วงจากนี้ไปจะให้ความสำคัญกับการเชิญหน่วยงานภาคเอกชนเข้ามาหารือให้มากขึ้น 2.การดูแลสินค้าเกษตร ที่จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ 3.การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการตามแผนในการเตรียมความพร้อมให้แก่ทุกภาคส่วนไปค่อนข้างมากแล้ว และเมื่อเข้าสู่ AEC อย่างสมบูรณ์ในปลายปี 58 นี้ ก็จะใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากการค้าชายแดน 4.การสนับสนุน SMEs ให้เข้าสู่เวทีโลก
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ผลงานที่สำคัญ ประกอบด้วยงาน 5 ด้าน คือ 1.ด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรหลักที่สำคัญในเชิงรุก โดยในส่วนของสินค้าข้าวได้มีการระบายข้าวในสต็อกผ่านการประมูลทั่วไปรวม 6 ครั้ง และขายข้าวฤดูใหม่ให้กับรัฐบาลต่างประเทศ 4 สัญญา ปริมาณรวมประมาณ 3 ล้านตัน มูลค่ารวมประมาณ 36,000 ล้านบาท ซึ่งปริมาณข้าวที่ขายให้กับรัฐบาลต่างประเทศ ประกอบด้วย จีน 4 แสนตัน ฟิลิปปินส์ 5 แสนตัน และอินโดนีเซียอีก 1.5 แสนตัน และยังมีสัญญาอยู่ระหว่างการเจรจาส่งมอบในระยะต่อไปอีกกว่า 2.6 ล้านตัน ทั้งนี้มีผลจากการผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ทำให้เมื่อสิ้นปี 57 ยอดส่งออกข้าวทะลุกว่า 10 ล้านตัน สามารถทวงแชมป์ส่งออกข้าวโลกคืนมาได้อีกครั้ง นอกจากนี้มีแผนจะเดินทางไปทวงคืนและขยายตลาดข้าวในอีกหลายประเทศ
สำหรับ การช่วยเหลือเกษตรกรนั้นไม่ใช้มาตรการบิดเบือนกลไกตลาด ผ่านการขอความร่วมมือผู้ประกอบการเอกชนซึ่งมีมาตรการสำคัญ อาทิ มาตรการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ทำให้ต้นทุนลดลงโดยเฉลี่ยไร่ละ 432 บาท มาตรการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเพื่อชะลอการขาย มาตรการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกข้าวเปลือก และจัดตลาดนัดรับซื้อจากเกษตรกร ช่วยให้ราคา ณ ท่าข้าว โรงสี ปรับเพิ่มขึ้นตันละ 100-800บาท เป็นต้น ผลของมาตรการดังกล่าวช่วยให้รักษาระดับราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ไว้ที่ราคาตันละ 8,200-8,500 บาท และจะดำเนินการต่อไปสำหรับนาปรัง
ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆ นั้นได้วางแผนเชิงรุกร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเตรียมรับมือก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่สินค้ามันสำปะหลัง, ผลไม้, ปาล์มน้ำมัน, ข้าวโพด และยางพารา ขณะที่สินค้าผลไม้ ได้กำหนดแผนการระบายผลไม้ไปยังตลาดที่ห่างไกลแหล่งผลิต รวมถึงด่านการค้าชายแดนและการส่งออก โดยจัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าผักและผลไม้ไปเยือนอินโดนีเซีย มีการสั่งซื้อผลไม้สดทันทีมูลค่ากว่า 35 ล้านบาท และคาดว่าจะมียอดสั่งซื้อเพิ่มอีกกว่า 190 ล้านบาท
2.ด้านการดูแลค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ติดตาม เฝ้าระวัง สถานการณ์และราคาสินค้าทุกวัน รวมถึงการชั่งตวงวัด เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย นอกจากนี้ยังจัดงาน "ธงฟ้า"ตามจังหวัดและอำเภอต่างๆ และจัด"ธงฟ้าเคลื่อนที่"ถึงบ้านผู้มีรายได้น้อยตามแหล่งชุมชนทุกจังหวัดเพื่อสร้างทางเลือกให้คนไทยมีสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดกว่าร้อยละ 30 มีการจัดต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 1,000 ครั้ง มูลค่าจำหน่ายกว่า 1,300 ล้านบาท ลดค่าครองชีพได้ถึง 550 ล้านบาท
ขณะที่โครงการ'เทใจ คืนสุข สู่ประชาชน' โดยร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อกว่า 12,000 สาขาทั่วประเทศ พร้อมใจกันลดราคาถึงร้อยละ 70 โดยมียอดขายทั้งสิ้นประมาณ 50,000 ล้านบาท และช่วงเปิดเทอม ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-10 พ.ค.จะจัดทำโครงการ "เทใจ คืนสุข ต้อนรับเปิดเทอม" ร่วมกับห้างและร้านค้าทั่วประเทศเพื่อลดราคาชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เป็นการลดภาระผู้ปกครองช่วงเวลาเปิดเทอม พร้อมกันนี้ยังมีโครงการ "หนูณิชย์พาชิม" เป็นการคืนความสุขทุกจานให้แก่ประชาชน โดยคัดสรรร้านอาหารราคาถูก สะอาด ดี และอร่อย ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 2,600 ร้านทั่วประเทศ จำหน่ายจานละ 30-35 บาท สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ถึงวันละเกือบ 2.2 ล้านบาท
3. ด้านต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับ AEC รวมทั้งการเจรจาระหว่างอาเซียนกับคู่ค้า 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย หรือ RCEP(Regional Comprehensive Economic Partnership) จะครอบคลุมตลาดที่มีประชากรกว่า 3 พันล้านคน, การเจรจา FTA ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เริ่มการเจรจากับตุรกีและปากีสถาน เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่กับ 16 ประเทศ รวมทั้งอาเซียน
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงการนำคณะไป Road show ที่ประเทศอินเดียว่า ได้มีการตกลงร่วมกับรัฐมนตรีการค้าอินเดียจะขยายการเจรจา FTA ของสองประเทศ และเอกชนได้ลงนาม MOU หลายฉบับ อาทิ การก่อสร้างท่าเรือในมุมไบ มีมูลค่า 10,000 ล้านบาท การลงทุนของภาคเอกชนของอินเดียตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ที่จังหวัดระยองเพื่อส่งออก มูลค่าการลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลให้ใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มปีละกว่าแสนตัน
ส่วนการส่งออกในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่า 92,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 0.88 เนื่องจากประสบปัญหา อาทิ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ค่าเงินของคู่ค้าคู่แข่งอ่อนตัวลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินบาทไทย ประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรโลกลดต่ำ เป็นต้น กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะรักษาตลาดหลัก โดยใช้กลยุทธ์ เช่น จัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ในประเทศ เพื่อให้ผู้ซื้อต่างประเทศมาเลือกสินค้า นำผู้ประกอบการไทยไปจัดกิจกรรมในต่างประเทศ และดำเนินมาตรการผลักดันตลาดใหม่ๆ ที่จะส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เมืองรองในประเทศ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ ดำเนิน'โครงการพี่จูงน้อง'ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่นำผู้ประกอบการ SMEs บุกตลาดต่างประเทศ
4.ด้านการเตรียมความพร้อมให้ไทยเข้าสู่ AEC กำหนดเป้าหมายผลักดันมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนและการค้าผ่านแดนให้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 58 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 35 จากปีก่อนหน้า โดยได้ริเริ่ม “แม่สอดโมเดล" มีการจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนและจับคู่ธุรกิจ จังหวัดตาก เกิดการซื้อขายทันทีรวมกว่า 400 ล้านบาท และทำสัญญาเพื่อลงทุนระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และมีการหารือระหว่างรัฐมนตรีประเทศเพื่อนบ้านกำหนดแนวทางความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ได้จัดเพิ่มเติมแล้วที่จังหวัดมุกดาหารและสระแก้ว และกำหนดจะจัดต่อไปที่จังหวัดตราดและสงขลา
สำหรับ อำนวยความสะดวกทางการค้า มีการจัดตั้งศูนย์ AEC Business Support Center ใน 8 ประเทศอาเซียนให้บริการข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าการลงทุน มีผู้ประกอบการไปขยายตลาดอาเซียนได้ 534 ราย มีมูลค่าการสั่งซื้อประมาณ 1,511 ล้านบาท, เร่งสร้างศักยภาพธุรกิจไทยอย่างครบวงจร โดยยกระดับการบริหารจัดการและเชื่อมโยงเครือข่ายมากกว่า 17,000 ราย อีกทั้งพัฒนาและให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศแก่ผู้ประกอบการและนักออกแบบพร้อมสู่เวทีการค้าโลกอีกกว่า 57,000ราย มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ จัดตั้งคลังข้อมูลการค้า ให้บริการรับงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Filing) ขยายตลาดการค้าผ่านเว็บไซต์ Thaitrade.com และ Thaicommercestore.com เป็นต้น ทั้งนี้ จะจัดทำแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ "ลายแทงของถูก" เพื่อเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าอย่าง "ฉลาดซื้อ ประหยัดใช้" เริ่มเปิดบริการในเดือน พ.ค.นี้
5.ด้านการวางรากฐานในอนาคตเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นชาติการค้าในด้านโครงสร้างได้ผลักดันจัดตั้งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เพื่อทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนสู่ชาติการค้า มีการขยายการค้าบริการให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาโลจิสติกส์ และจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นชาติการค้าต่อไป ขณะที่ด้านกฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เป็นสากลมากขึ้น เช่น พ.ร.บ.เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา, พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า และ พ.ร.บ.นำเข้าส่งออก เป็นต้น
สำหรับ การแถลงผลงานของกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้ นอกจากจะมีภาคเอกชนของไทยร่วมรับฟังแล้ว ยังมีเอกอัครราชทูต, อุปทูต, ผู้ช่วยทูตจากต่างประเทศประมาณ 40 ประเทศ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย รวมทั้งสมาคมการค้าจากต่างประเทศ เช่น สมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์(EABC) เข้าร่วมรับฟังด้วย
อินโฟเควสท์
พณ.แถลงผลงาน 6 เดือนจ่อบุก AEC ชูผลิตแอพขายของผ่านออนไลน์
แนวหน้า : พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงผลงาน รอบ 6 เดือน เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมี มีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ เอกชน รวมถึงทูตจากต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงบทบาทหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ โดยสังเขปว่า ในด้านการส่งออกนั้น มีผู้ประกอบการไทยร่วมเข้าโครงการส่งออกกว่า 5 พันราย เช่นข้าว เครื่องดื่ม สปา นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสัมพันธ์กับตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้ ซึ่งไทยได้จัดตั้งศูนย์ AEC ใน 8 ประเทศอาเซียน ซึ่งสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ขายสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุน SME อย่างเต็มที่ และเร่งรัดให้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญหา และ แก้ไขระบบกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญา เร่งสนับสนุนสินค้าชุมชน ให้เข้าระบบ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ เน้นให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต บริการรับรองหนังสือนิติบุคคล สนับสนุนอีคอมเมริ์ชขายสินค้าออนไลน์ โดยเตรียมพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับหาซื้อสินค้าราคาประหยัด รวมถึงจะได้ทำการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เน้นการค้าบริการกับประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาโลจิสติกส์ไทย พร้อมทั้งปรับกฏหมายการค้าให้ทันสมัยมากขึ้น ขยายความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า คุ้มครองผู้ถือหุ้น และจะได้ทำการปรับปรุงระบบกฏหมายการค้าให้เกิดความเป็นธรรม กระผมและข้าราชการมีความตั้งใจสนับสนุนให้ไทยเป็นชาติการค้าต่อไป