WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนปี’58 : ผ่าทางตันดันยอดโต 4%

    ส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนปี’58 : ผ่าทางตันดันยอดโต 4% เน้นชูจุดขายผ่านงานดีไซน์-เปิดช่องทางการตลาดแนวรุก

   ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2558 คงต้องยอมรับว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยดูไม่ค่อยสดใสมากนัก จากปัจจัยรุมเร้าทั้งภายนอกและภายในประเทศ สินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนก็เช่นกัน โดยช่วงเดือนแรกปี 2558 ยอดการส่งออกมีมูลค่าอยู่ที่ 84.46 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557

    ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยจะต้องเผชิญในปี 2558 พบว่ามีอยู่ไม่น้อย ทั้งแรงกดดันเรื่องความสามารถในการแข่งขันที่ไทยยังคงเสียเปรียบคู่แข่ง (จีน เวียดนาม มาเลเซีย) โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา ต้นทุนแรงงานและราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น (ไม้ยางพารา)

    นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคทางการค้า เรื่องกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า (สหรัฐ สหภาพยุโรป) ที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการตรวจสอบแหล่งวัตถุดิบที่มาของไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังคงผันผวนในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน เป็นต้น

     แม้จะมีความท้าทายที่รออยู่ แต่ในภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยอดการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในปี 2558 น่าจะมีโอกาสประคับประคองให้ขยายตัวในแดนบวกได้ โดยจะมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,200-1,250 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.0-4.0 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 3.1

    โดยหลักๆ น่าจะได้รับแรงหนุนจาก 1.กำลังซื้อในตลาดหลักอย่าง สหรัฐ (มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 23 ไปยังตลาดโลก) ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลับมาเติบโตต่อเนื่องจากปี 2557 โดยมีสินค้าศักยภาพในการทำตลาด ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคในสหรัฐ (รวมถึงตลาดหลักอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น) รูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ได้รับความนิยมในตลาดกลุ่มนี้ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เน้นขายงานดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งาน รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เน้นงานฝีมือ เช่น งานแกะสลักหรืองานเชิงศิลปะ เป็นต้น

   2.ความต้องการในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) และตลาดคู่ค้าใหม่อย่าง จีนและอินเดีย ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นตลาดที่น่าจับตามองในปี 2558 นี้ โดยตลาดอาเซียนนั้น ความต้องการหลักจะอยู่ที่เฟอร์นิเจอร์เพื่อรองรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มที่พักอาศัย กลุ่มโรงแรม อาคารสำนักงานและธุรกิจบริการเป็นหลัก ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในขณะที่ตลาดจีนและอินเดีย พบว่าความต้องการหลักจะไปอยู่ที่กลุ่มชนชั้นกลางที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่สังคมเมือง (Urbanization) เช่น เฟอร์นิเจอร์เพื่อตกแต่งที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม ที่ค่อนข้างกะทัดรัด ดีไซน์ทันสมัยและมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่อเนกประสงค์ ภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสม รวมถึงเฟอร์นิเจอร์กลุ่มงานฝีมือ เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ไม้แกะสลักที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นต้น

   3.กลยุทธ์เชิงรุกของผู้ประกอบการที่หันมาเจาะตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ การเข้าไปเปิดตลาดการค้าในรูปแบบใหม่ๆ อย่าง การขยายสาขาแฟรนไชส์ในประเทศที่มีศักยภาพ การจับมือพันธมิตรทางการค้าเจาะตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม การเปิดช่องทางการขายผ่านออนไลน์ รวมไปถึงการขยายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและแรงงาน อาทิ เมียนมาร์ ลาว เป็นต้น

    ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการมองเทรนด์ผู้บริโภคและมีการปรับตัวไปสู่รูปแบบการผลิตสินค้าที่รองรับความต้องการดังกล่าว น่าจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการเจาะกำลังซื้อผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้ากำลังเป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถทำกำไรได้ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไปที่มีในตลาด ที่ยังมุ่งแข่งขันด้านราคาเป็นสำคัญ และทำกำไรต่อชิ้นได้ค่อนข้างน้อย

     ธุรกิจส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทย...ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันด้านสงครามราคา ในขณะที่คู่แข่งสำคัญพยายามสร้างจุดยืนให้กับสินค้าของตนมากขึ้น

     โจทย์สำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทยในระยะข้างหน้า แรงกดดันหลักยังคงมาจากขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ค่อยๆ แผ่วลง ภายใต้การแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะด้านราคา ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ของไทยแม้จะมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบในประเทศที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะไม้ยางพารา ซึ่งสามารถนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราที่มีลวดลายของเนื้อไม้สวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะมีความเป็นธรรมชาติสูง มีความโดดเด่นด้านงานศิลปะและวัฒนธรรมที่เน้นฝีมือแรงงานที่ประณีต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่สามารถขยับจากการแข่งขันในตลาดระดับทั่วไปหรือ Mass Production ที่เน้นจุดขายด้านราคา ไปสู่ตลาดเฉพาะหรือ Niche Market ที่เน้นขายสินค้าเชิงคุณค่าให้ได้กำไรต่อชิ้นที่สูงขึ้นได้

     ทั้งนี้ เพราะจุดอ่อนของเฟอร์นิเจอร์ไทย ยังเน้นการผลิตแบบรับจ้างผลิต (OEM) ที่ยังมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่สามารถทำราคาได้ต่ำกว่า และสินค้ามีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม มาเลเซีย ในขณะเดียวกันมีเพียงผู้ประกอบการส่วนน้อยเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานด้านดีไซน์ เปิดตลาดผู้บริโภคและช่องทางการขายใหม่ๆ ไปสู่

    ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงในสินค้าที่มีความเฉพาะตัว (Unique) มากขึ้น ที่สำคัญคือแบรนด์ไทยยังมีความแข็งแกร่งน้อย จึงทำตลาดค่อนข้างลำบาก

   ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs (ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ประกอบการทั้งหมดในธุรกิจ) ที่ยังผลิตสินค้าในรูปแบบ Mass Production และยังไม่มีจุดขายที่ชัดเจน อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แรงงานและแนวทางในการพัฒนาธุรกิจ ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่พยายามปรับตัว คือ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ค่อนข้างมีความพร้อมด้านเงินทุน แรงงานและมีศักยภาพในการขยายช่องทางการทำตลาด และอีกส่วนหนึ่งคือกลุ่มผู้ประกอบการที่ขายไอเดียและงานดีไซน์ รวมถึงผู้ประกอบการที่เปิดตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ น่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ค่อนข้างมีโอกาสเติบโต และมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

    ผ่าทางตันธุรกิจส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทย เน้นชูจุดขายผ่านงานดีไซน์และเปิดช่องทางการตลาดแนวรุก

    หากวิเคราะห์ถึงความอยู่รอดของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทยในอนาคต นอกจากผู้ประกอบการจะต้องรู้จักเปลี่ยนมุมมองแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการควรจะต้องยกระดับโครงสร้างการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ตั้งแต่สายการผลิตต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยควรมุ่งเน้นไปที่การชูจุดขายผ่านงานดีไซน์และเปิดช่องทางการทำตลาดในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น

    โดยการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) เพื่อสร้างสินค้าให้มี Value Added สูงขึ้น ซึ่งเป็นจุดขายและจุดที่สร้างกำไรให้แก่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มากที่สุด เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยุคใหม่ต้องการสินค้าที่มีความแตกต่าง โดดเด่นหรือมีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง อาทิ การพัฒนาวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตที่แปลกใหม่หรือการนำมาใช้ซ้ำ ผลิตสินค้าที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์หรือนำเสนอเรื่องราวให้กับตัวสินค้าเพิ่มความน่าสนใจ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการรายใหญ่ค่อนข้างที่จะได้เปรียบในส่วนนี้ เนื่องจากมีความพร้อมด้านเงินทุนและทรัพยากรบุคคล อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการSMEs ก็สามารถพัฒนากระบวนการส่วนนี้ได้ โดยการนำเสนอสินค้าพรีเมียม หรือสินค้าที่ Made to Order ให้มากขึ้น ผ่านการออกแบบที่สร้างสรรค์ในระดับราคาที่เหมาะสม

      ผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ของตลาดผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งทิศทางของเฟอร์นิเจอร์ที่จะรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1.เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้วัตถุดิบใหม่ๆที่ทดแทนการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือวัตถุดิบรีไซเคิล (การนำเส้นใยพลาสติกมาใช้ทดแทนหวาย เป็นต้น) กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ สหรัฐ และสหภาพยุโรป เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนและกลุ่มองค์กรต่างๆ

     2.เฟอร์นิเจอร์อเนกประสงค์และเน้นประโยชน์ใช้สอย เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้หลายฟังก์ชั่นสำหรับพื้นที่จำกัดในสังคมเมือง เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ปรับเป็นได้ทั้งเตียง โซฟา ที่เก็บของ เป็นต้น กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ ญี่ปุ่น จีนและอาเซียน เน้นเจาะผู้บริโภคคนเมือง ที่พักอาศัยตามคอนโดมิเนียมหรือสำนักงานต่างๆ

     3.เฟอร์นิเจอร์เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต เน้นการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ช่วยรักษาสุขภาพ หรือนำหลักการออกแบบที่เหมาะสมกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย มาช่วยในการออกแบบ เช่น เตียงนอนเพื่อสุขภาพ เก้าอี้ลดการปวดหลัง หมอนกันไรฝุ่น เป็นต้น กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ ญี่ปุ่น สหรัฐ และสหภาพยุโรป เน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ

     4.เฟอร์นิเจอร์ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรม/งานเชิงศิลปะ เน้นการผสมผสานวัฒนธรรมฝั่งตะวันตกกับตะวันออกเข้าด้วยกัน เช่น โต๊ะรับแขกที่มีลวดลายแกะสลัก แต่น้ำหนักเบา เป็นต้น กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป เน้นเจาะผู้บริโภคระดับกลาง-บน ที่ต้องการงานที่มีเอกลักษณ์และความแตกต่าง

   โดยในส่วนนี้ผู้ประกอบการอาจจะมีการร่วมมือกับดีไซเนอร์หรือผู้มีชื่อเสียง เข้ามาร่วมออกแบบ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้า หรือปรับปรุงสินค้าที่ผลิตอยู่ให้สอดรับกับวิถีชีวิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น

    ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ปัจจุบันการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของไทยในภาพรวมมีกระบวนการสูญเสียในการผลิตสูงถึงร้อยละ 20-30 ถือเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับไว้ หากลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ ก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนได้ในระดับหนึ่ง โดยการปรับปรุงเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้ได้งานที่ได้มาตรฐานมากขึ้น อีกทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนแรงงาน

   เปิดช่องทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าปลายทางมากขึ้น ในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคยุคใหม่ วิธีการหนึ่งที่ได้รับความสนใจคือ การหาข้อมูลผ่านสื่ออินเตอร์เนต ดังนั้นการนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารู้จักสินค้าและบริการของผู้ประกอบการได้มากขึ้น สามารถทำได้ทั้งผู้ประกอบการรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำ

   พัฒนาและขยายช่องทางการทำตลาดในต่างประเทศให้มากขึ้น โดยการเปิดสาขาหรือหาตัวแทนจำหน่ายในประเทศคู่ค้าใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เช่น กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย อาทิ เมียนมาร์ เป็นต้น กลุ่มประเทศที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังเติบโต อาทิ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ควรมีพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการส่งมอบสินค้าให้ตรงตามเวลา รวมถึงเน้นเปิดตลาดกับกลุ่ม Sale หรือ Developer โครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่างๆ เพื่อนำเสนองานในลักษณะของ Contract ให้มากขึ้น เป็นต้น

   โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในปี 2558 นี้ แม้จะมีหลากหลายปัจจัยที่

   กดดันต่อภาพรวมการส่งออก แต่โดยรวมแล้วคาดว่าน่าจะประคับประคองให้เติบโตต่อไปได้

    อย่างไรก็ดี เมื่อมองไประยะข้างหน้า ประเด็นที่น่าจับตามองจะอยู่ที่ความสามารถในการแข่งขันกับคู่ค้าในตลาดโลก ที่แต่ละประเทศเริ่มพัฒนาขีดความสามารถให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นหนทางอยู่รอดของผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทย คงจะอยู่ที่การยกระดับจากการผลิตแบบ Mass Production ไปสู่ตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงในตลาด Niche Market มากขึ้น

  ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!