- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 10 April 2015 22:11
- Hits: 1595
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สร้างระบบการให้บริการที่รุดหน้าเพื่อพาผู้ประกอบธุรกิจพร้อมเข้าแข่งขันในเวทีอาเซียน
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยและอีก 9 ชาติ ในอาเซียนกำลังมีภารกิจร่วมกันในการนับถอยหลังเพื่อเดินหน้าเข้าสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปลายปีนี้ (2558) ทำให้ภายหลังจากปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว จะสร้างการเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างประเทศในอาเซียนอย่างไร้พรมแดน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากสมาชิกอาเซียนได้อย่างมหาศาล สำหรับบทบาทภารกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีความเกี่ยวโยงด้านการให้บริการจดทะเบียน และข้อมูลธุรกิจที่ต้องทันสมัยอยู่เสมอ ดังนั้นการพัฒนาระบบการให้บริการเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่กรมฯ ได้ตระหนักและเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมากรมฯ ได้สร้างนวัตกรรมการให้บริการเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ใน 2 รูปแบบ คือ ‘การให้บริการจดทะเบียนข้ามเขตทั่วประเทศ’ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจให้เข้าถึงการบริการจัดตั้งธุรกิจ ที่ง่ายมากขึ้น จากเดิมที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียน ณ จังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่เท่านั้น อาจทำให้เกิดความซับซ้อน ไม่คล่องตัวในการจัดตั้งบริษัทใหม่ และไม่สอดรับกับนโยบายพัฒนาการให้บริการที่มุ่งไปสู่การเป็นประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ (จากข้อมูลของ World Bank Group: Doing Business ปี 2015 ได้จัดให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 26 โลก และที่ 3 ของอาเซียน) สำหรับบริการนี้จะสร้างความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจตั้งใหม่ให้สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนข้ามเขตจังหวัดได้โดยไม่ว่าธุรกิจจะมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใดก็สามารถยื่นคำขอได้ที่หน่วยงานของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทั่วประเทศ ทั้ง 87 แห่ง สำหรับสถิติผู้มาใช้บริการจดทะเบียนข้ามเขตทั่วประเทศตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557-ปัจจุบัน มีจำนวน 6,995 ราย โดยแบ่งเป็นส่วนกลางจำนวน 5,093 ราย และ ส่วนภูมิภาคจำนวน 1,902 ราย
นอกจากนี้ กรมฯ ได้พัฒนาอีกหนึ่งบริการที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความสะดวกในการติดต่อธุรกิจกับนักลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ลดขั้นตอน และระยะเวลาในการดำเนินการ ประหยัดค่าใช้จ่ายซึ่งนับเป็นต้นทุนสำคัญในการทำธุรกิจคือ ‘บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลเป็นภาษาอังกฤษ’ เพราะไม่เพียงแต่ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาสากลที่ใช้สื่อสารระหว่างกันในการติดต่อธุรกิจกับชาวต่างชาติแล้ว ประชาคมอาเซียนก็เช่นกันได้กำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างกันใน 10 ชาติ ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การเจรจาและเอกสารทางธุรกิจย่อมต้องใช้ภาษาอังกฤษ จากที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจ้างแปลเอกสารจากหน่วยงานภายนอกซึ่งทำให้มีขั้นตอนและต้นทุนการทำธุรกิจที่มากขึ้น กรมฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญพร้อมพัฒนาการให้บริการในรูปแบบดังกล่าวเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งกรมฯ กำหนดค่าบริการเพียงฉบับละไม่เกิน 1,200 บาทเท่านั้น อีกทั้งยังสร้างความน่าเชื่อให้กับภาคธุรกิจเพราะเป็นหนังสือที่ออกมาจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจสามารถมาขอรับบริการได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทั่วประเทศทั้ง 87 แห่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่กรมฯ ได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558-ปัจจุบัน มีผู้มาขอรับบริการหนังสือรับรองนิติบุคคลเป็นภาษาอังกฤษแล้วจำนวนทั้งสิ้น 576 ฉบับ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย