- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 09 April 2015 22:38
- Hits: 1974
พณ.เผยยอดธุรกิจใหม่ มี.ค.โต 9% เดินหน้าตรวจเอกชนตั้งบริษัทหลอกชาวบ้าน
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนสูง ล่าสุดกำลังตรวจสอบ 100 กว่าราย เพราะไม่มีหลักฐานแสดงว่ามีเงินทุนเข้าบริษัทจริง โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เชิญมาพบ และขอให้ดำเนินการเรื่องเงินทุนจดทะเบียนให้ถูกต้องตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ ถ้าไม่ดำเนินการ จะมีข้อความหมายเหตุในงบการเงินว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีทุนจดทะเบียนจริง ต้องระวังในการทำธุรกิจ เพราะไม่มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงจะแจ้งเตือนในแอพพลิเคชั่น DBD e-service ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการตั้งบริษัทไปหลอกลวงประชาชน และขั้นตอนต่อไปจะพิจารณายกเลิก รวมถึงจะส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานพันธมิตร เช่น กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบในเชิงลึกและดำเนินการต่อไป
"ที่ผ่านมามีบางบริษัทยื่นขอจดทะเบียนโดยมีทุนจัดตั้งสูงถึง 900,000 ล้านบาท เบื้องต้นกรมฯ ได้ชะลอการจดทะเบียนไว้ก่อน และเรียกหลักฐานดู ซึ่งทางผู้ยื่นจดก็ไม่ได้ยื่นหลักฐานเข้ามา และล่าสุดกรมฯ ได้ออกประกาศเรื่องทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท ต้องแสดงหลักฐานเงินทุนเข้าบริษัท และได้แจ้งให้ยืนยันการจดทะเบียน ทางผู้จดก็ไม่มาจดอีก จึงได้ขอยกเลิกการจดทะเบียนไปแล้ว" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าว
ขณะเดียวกัน ยังได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 10,000 ล้านบาท โดยเรียกบริษัทมาตรวจสอบหลักฐานการลงทุน และมีหลายกรณีที่ได้ส่งให้กรมสรรพากรช่วยตรวจสอบเพิ่มเติม และบางกรณีได้มีการส่งดำเนินคดีแล้ว
สำหรับ สถิติการจดทะเบียนธุรกิจเดือน มี.ค.58 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ 5,698 ราย เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.57 โดยมีทุนจดทะเบียน 16,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% และจดทะเบียนเลิก 1,181 ราย เพิ่มขึ้น 42% มีทุนจดทะเบียน 3,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% ส่วนในช่วง 3 เดือน(ม.ค.-มี.ค.) ปี 58 มีผู้จดทะเบียนตั้งใหม่รวม 17,309 ราย เพิ่มขึ้น 12% มีทุนจดทะเบียนรวม 49,527 ล้านบาท ลดลง 22% และจดเลิก 3,674 ราย เพิ่มขึ้น 27% มีทุนจดทะเบียนรวม 8,950 ล้านบาท ลดลง 20%
อินโฟเควสท์
พาณิชย์ เผย ยอดจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ทั่วประเทศ มี.ค. 58 จำนวน 5.69 พันราย โต1% จากเดือนก่อน มั่นใจทั้งปีแตะ 6 - 6.5 หมื่นราย ตามเป้า
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนมีนาคม 2558 โดยมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,698 ราย เพิ่มขึ้น 67 ราย คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีจำนวน 5,631 ราย และเพิ่มขึ้น 450 ราย คิดเป็น 9% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 5,248 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2558 มีจำนวน 1,181 ราย
มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในมีนาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 16,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน 1,277 ล้านบาท คิดเป็น 9% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีจำนวน 14,815 ล้านบาท และ เพิ่มขึ้น จำนวน 676 ล้านบาท คิดเป็น 4% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 15,416 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 647 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 293 ราย ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 140 ราย ธุรกิจผลิตไฟฟ้า จำนวน 126 ราย และธุรกิจการทำบัญชีและตรวจสอบบัญชี 125 ราย
ปัจจุบัน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 607,433 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 15.67 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 425,250 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,085 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,098 ราย
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าแนวโน้มการจดทะเบียน ปี 2558 เป็นไปตามการคาดการณ์ที่ตั้งไว้จำนวน 60,000 - 65,000 ราย ซึ่งสูงกว่าปี 2557 โดยการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท ในไตรมาส 1/2558 (ม.ค.-มี.ค.) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท 17,309 ราย เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2557 (ต.ค.-ธ.ค.) 32% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2557 (ม.ค.-มี.ค.) 12 % สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในไตรมาส 1/2558 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เติบโตสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.3% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของรัฐบาลในการลงทุนโครงการต่างๆ เช่นโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐบาลในการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในด้านต่างๆ เช่น ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ราคาสินค้าเกษตร การส่งออกการบริโภคภาคเอกชน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนการจดทะเบียนโดยรวม
สำหรับ เรื่องที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดข้ามเขตจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2557 นั้น พบว่า ในเดือนมีนาคม 2558 มีการยื่นขอจดทะเบียนข้ามเขต จำนวน 883 ราย จากการจดทะเบียนทั่วประเทศ จำนวน 5,698 ราย หรือ คิดเป็น 15% โดยแบ่งออกเป็น
- ส่วนกลาง 648 ราย คิดเป็น 11% โดยสำนักงานในส่วนกลางที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำ) จำนวน 150 ราย รองลงมา สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 5 (บางนา) จำนวน 115 ราย และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 3 (รัชดาภิเษก) จำนวน 90 ราย
- ส่วนภูมิภาค 235 ราย คิดเป็น 4% โดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ สพค.ชลบุรี สพค.สมุทรสาคร จำนวนละ 30 ราย รองลงมา สพค.จังหวัดปทุมธานี จำนวน 22 รายและ สพค.จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 18 ราย
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้เปิดให้บริการโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคลโดยสามารถค้นหาจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนของนิติบุคคล รวมทั้งข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application : DBD e-Service) โดยระบบจะแสดงผลเป็นภาษาไทย ซึ่งสามารถใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ IOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 380,745 ครั้งโดยในเดือนมีนาคม 2558 มีการเข้าใช้ระบบนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 46,744 ครั้ง คิดเป็น 14%
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังคงส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกิจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมได้ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 11,634 ราย 13,278 เว็บไซด์ ประกอบด้วยนิติบุคคล 3,141 ราย คิดเป็น 27% บุคคลธรรมดา 8,493 ราย คิดเป็น 73% โดยธุรกิจที่ขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,412 เว็บไซด์ คิดเป็น 18% ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 2,121 เว็บไซด์ คิดเป็น 16% และธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 1,467 เว็บไซด์ คิดเป็น 11% ตามลำดับ ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคมาใช้บริการ นอกจากผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์แล้ว กรมยังได้หารือกับตลาดกลางออนไลน์ให้กำกับดูแลสมาชิกให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับ และอาจต้องพิจารณางดให้บริการเข้าขายสินค้าในตลาดกลางด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการขยายตัวของการซื้อขายทางออนไลน์ของไทยให้เติบโตในอัตราก้าวกระโดดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
ท้ายนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้มีการเปิดตัวโครงการให้บริการรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์(DBD e-Filing) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี XBRL มาสนับสนุนการให้บริการในการรับงบการเงินเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการผ่านเว็บไซต์กรม www.dbd.go.th > เลือก “การนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing)” ผู้ประกอบการสามารถส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ e-Form และรูปแบบ XBRL in Excel ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 มีผู้สมัครลงทะเบียน จำนวน 4,069 ราย มาแสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ จำนวน 1,574 ร าย และส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 41 ราย
ในโอกาสนี้กรมฯ ยังเพิ่มทางเลือกในการขอหนังสือรับรองให้ผู้ประกอบธุรกิจโดยเปิดให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 มีผู้มาใช้บริการ ทั้งสิ้น 506 คำขอ จำนวน 513 ฉบับ แบ่งเป็นส่วนกลาง 342 คำขอ 347 ฉบับ ส่วนภูมิภาค 164 คำขอ 166 ฉบับ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย