WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เงินเฟ้อ มีค.58 ต่ำสุดรอบ5ปีครึ่ง แนะจับตาราคาพลังงาน

    แนวหน้า : นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ประจำเดือน มี.ค. 2558 เท่ากับ 106.33 ลดลง 0.57% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 ที่ลดลง 0.41% และเดือน ก.พ. ที่ลดลง 0.52% และยังเป็นอัตราที่ติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 6 เดือน จากเดือน ก.ย. 2557 ที่ลดลง 1.00% สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือน(ม.ค.-มี.ค.) ลดลง 0.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าหมวดเชื้อเพลิงที่ลดลงมากถึง 19.49% ซึ่งหมวดเชื้อเพลิงมีสัดส่วนในการคำนวณดัชนีฯ ถึง 10% จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงมาก ทั้งนี้ยอมรับว่าผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากเป็นเพราะน้ำมันที่ลดลง มีผลต่อต่อต้นทุนสินค้าที่ลดลง ซึ่งเงินเฟ้อระดับนี้ค่อนข้างน่าพอใจเพราะจะกระตุ้นให้มีการจับจ่ายมากขึ้น

     "อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ แม้จะติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนแรก และมีแนวโน้มจะยังคงติดลบต่อในไตรมาส 2 แต่เชื่อว่า ไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะยังมีเงินเฟ้อในระดับอ่อนๆ ราคาสินค้ายังปรับเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่าย ผู้ผลิตสินค้ายังผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มราคาน้ำมันยังคงปรับขึ้น แต่ไม่เร็วเท่ากับที่ผ่านมา" นายสมเกียรติ กล่าว

    สำหรับ การสำรวจสินค้า 450 รายการ มีสินค้าที่ปรับราคาขึ้น 149 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 33.11% ของสินค้าที่สำรวจ เช่น ข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง ข้าวกล่อง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสาร แชมพูสระผม และค่าตัดผม ส่วนสินค้าที่ราคาคงที่ 209 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 46.45% และสินค้าที่ปรับลดราคา 92 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 20.44% เช่น เนื้อสุกร ไก่สด กระดูกซี่โครงหมู ปลานิล กุ้งขาว ไข่ไก่ ข้าวสารเหนียว ก๋วยเตี๋ยว อาหารว่าง กาแฟผงสำเร็จรูป ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม น้ำยาปรับผ้านุ่ม เสื้อเชิ้ต แป้งผัดหน้า ปูนซีเมนต์ อาหารเสริม และโทรศัพท์มือถือ

      อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่ 0.6-1.3% ภายใต้สมมติฐาน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

พาณิชย์ เผย CPI มี.ค.หดตัว 0.57%ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน-คาด Q2/58 ยังลบ

    นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI)เดือน มี.ค.58 อยู่ที่ 106.33 ลดลง 0.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.17% จากเดือน ก.พ.58 โดยเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 66 เดือน นับตั้งแต่ ก.ย.52

  ทั้งนี้ CPI เดือนมี.ค. ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อในช่วง 3 เดือนแรก (ไตรมาส 1/58) ติดลบ 0.50% จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกโดยเฉลี่ยในประเทศเทียบกับเดือนก่อนหน้า ประเภท แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 ก๊าซธรรมชาติ (NGV)  รวมทั้ง ค่าโดยสารสาธารณะ (รถเมล์เล็ก) ค่าเช่าบ้าน ผักสดและผลไม้  เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและร้อนจัดส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ราคาเนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ ราคายังคงลดลงต่อเนื่อง

    สำหรับ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน มี.ค.58 อยู่ที่ 112.94 เพิ่มขึ้น 1.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.02% จากเดือน ก.พ.58 ตามการลดลงของราคาอาหารสด ที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อสุกรปริมาณเข้าสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการบริโภคใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา ไก่สด กระดูกซี่โครงหมู ปลานิล และกุ้งขาว ราคาปรับลดลง รวมทั้งราคาไข่ไก่ ข้าวสารเหนียว ก๋วยเตี๋ยว อาหารว่าง และกาแฟผงสำเร็จรูปปรับราคาลดลงเช่นกัน ขณะที่กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง และข้าวสารเจ้า ปรับราคาสูงขึ้น

     ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 102.72 ลดลง 1.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.27% จากเดือน ก.พ.58 จากการทยอยปรับขี้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ  ได้แก่  น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 เบนซิน 95 ก๊าซธรรมชาติ (NGV) นอกจากนี้ ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารรถเมล์เล็ก 1/รถสองแถว ยาสีฟัน น้ำมันหล่อลื่น แชมพูสระผม และค่าแต่งผมสตรี ปรับราคาสูงขึ้น ขณะที่ ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม น้ำยาปรับผ้านุ่ม เสื้อเชิ้ต แผ่นไม้อัด แป้งผัดหน้า ปูนซีเมนต์ ยาวิตามิน/อาหารเสริม เครื่องรับโทรศัพท์มือถือมีราคาลดลง

     นายสมเกียรติ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 2/58 คาดว่ายังอยู่ในแดนลบช่วง -0.5 ถึง -0.7% อย่างไรก็ดี แม้เงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส แต่ก็ยังไม่ใช่สถานการณ์เงินฝืดตามทฤษฎี เพราะไม่ได้เข้าสู่ภาวะที่ประชาชนไม่จับจ่ายใช้สอย หรือผู้ผลิตต่างทยอยปรับลดราคาสินค้าลงเพื่อจูงใจให้คนซื้อ แต่สาเหตุขณะนี้มาจากปัจจัยหลักที่สินค้ากลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง และเชื่อว่าแนวโน้มราคาพลังงานจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) ยังคงเป็นบวก ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 1.31% ซึ่งเป็นระดับเงินเฟ้ออ่อนๆ และยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งทำให้ทั้งปีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะไม่ติดลบอย่างแน่นอน

      ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ยังกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของปีนี้ไว้ที่ 0.6-1.3% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) เติบโต 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล และค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีที่ 32-34 บาท/ดอลลาร์

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!