WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ เผย ก.พ.58 ส่งออกหดตัว 6.14% นำเข้าโต 1.47% เกินดุล 390 ล้านดอลล์

     น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยเดือน ก.พ.58 การส่งออกหดตัว 6.14% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 17,230 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 1.47% มีมูลค่า 16,840 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 390 ล้านเหรียญสหรัฐ

    อย่างไรก็ดี หากไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าการส่งออกในเดือนก.พ. จะลดลงเพียง 2.4% ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกในเดือนก.พ.ติดลบสูงสุดในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่ ส.ค.57 ที่ติดลบ 7.40%

    ขณะที่ 2 เดือนแรก(ม.ค.-ก.พ.)ปี 58 ส่งออกหดตัว 4.82% มีมูลค่า 34,478 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าหดตัว 6.69% มีมูลค่า 34,545 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 66 ล้านเหรียญสหรัฐ

    โดยตลาดส่งออกของไทยนั้น ตลาดสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ 5.1% เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตามปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เช่นเดียวกับตลาด CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 7% โดยเฉพาะกัมพูชา และพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแด ขณะที่การส่งออกไปตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่นลดลง 11.7% และสหภาพยุโรป ลดลง 4.7% เป็นผลจากเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย(QE) ส่งผลให้เงินเยนและเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาท ทำให้ยอดคำสั่งซื้อชะลอตัวลง ขณะที่การส่งออกไปจีนในเดือนก.พ.ลดลง 15.1% ตามการส่งออกยางพาราที่ยังลดลงต่อเนื่อง และน้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณชะลอตัว

     "ถ้าสหภาพยุโรปดีขึ้น การส่งออกในช่วงหลังของเราก็น่าจะดีขึ้น เพราะตอนนี้สหภาพยุโรปกำลังอีดเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และน่าจะส่งผลมายังส่งออกของเรา ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงนำเข้าสินค้าจากไทยมากเป็นอันดับ 1 เพราะฉะนั้นเรายังมีหวังว่าอนาคตการส่งออกไปญี่ปุ่นน่าจะขยายตัวได้"ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

    ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลสำคัญต่อการส่งออกในเดือน ก.พ.นี้มาจาก 1.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง 2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง กระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีความต่อเนื่องกับน้ำมัน รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรยังไม่ฟื้นตัว และราคาทองคำที่ผันผวนส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก 3.เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ส่งผลให้สินค้าไทยในสายตาของผู้ซื้อในตลาดเหล่านี้แพงขึ้น

   "ปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่เจอ หลายประเทศติดลบมากกว่าเราเสียอีก ประเทศไทยอยู่ในสภาวะกลางๆ" น.ส.ชุติมา ระบุ   ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังเชื่อว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ยังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ แต่จะได้ตามเป้าหมายที่ 4% หรือไม่นั้นต้องขอสรุปตัวเลขการส่งออกในช่วงไตรมาส 1 นี้ก่อน ขณะเดียวกันยังมีการนำเข้าในส่วนของสินค้าวัตถุดิบ และสินค้าทุน ซึ่งเป็นตัวชี้ว่ายังมีการผลิตเพื่อส่งออกอย่างต่อเนื่อง

   "จากที่ได้ประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์เชื่อว่าขยายตัวแน่ รอให้สิ้นไตรมาสนี้ก่อนจะมาทบทวนตัวเลขและจะแถลงให้ทราบว่าเป้าส่งออกปีนี้เท่าไร ขอเวลารวบรวมตัวเลขก่อน แต่จากที่ได้รายงานมาเรามีความหวังว่าการส่งออกมีโอกาสขยายตัวแน่นอน" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

    พร้อมระบุว่า สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องดำเนินการต่อจากนี้ คือ การส่งเสริมการค้าและทำการค้าในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น การอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มากขึ้น ทั้งด้านโลจิสติกส์และพิธีการทางศุลกากร โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการส่งออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม การเจราจาเพื่อแก้ปัญหาการค้าในระยะสั้นผ่านผู้แทนการค้าของ 2 ฝ่ายจากแต่ละประเทศ และเพิ่มการทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ ขณะเดียวกันจะเพิ่มช่องทางการค้าผ่านระบบ E-commerce พัฒนาสินค้าให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของตลาด และพัฒนาศักยภาพของ SMEs ให้สามารถขยายการค้าไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น

  อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!