- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 20 March 2015 21:04
- Hits: 2132
พาณิชย์ฯ เตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ รับมือกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ก่อนเข้า AEC
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดสัมมนา'เตรียมพร้อม...รองรับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ' ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน คาดหวังให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ก่อนที่จะไปปฏิบัติงานจริงเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้
พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิด การสัมมนา “เตรียมพร้อม...รองรับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2558 ว่า รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยต้องการให้ไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการค้า การลงทุน หวังดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้การนำทรัพย์สินมาใช้เป็นหลักประกันชำระหนี้ได้ 2 ลักษณะ คือ การจำนอง และการจำนำ โดยการจำนองจำกัดเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ที่มีทะเบียนบางประเภทไปตราไว้เพื่อประกันการชำระหนี้ ส่วนการจำนำต้องส่งมอบสินทรัพย์นั้นให้แก่ผู้รับจำนำอีกด้วย ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ โดยผู้ประกอบการไม่สามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในกิจการไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เครื่องจักรที่ใช้ประกอบการ ตลอดจนทรัพย์สินทางปัญญา และหากต้องส่งมอบทรัพย์สินเหล่านี้ให้แก่ผู้รับจำนำแล้ว ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ข้อจำกัดเหล่านี้จึงเป็นการปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และหันไปพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบ สุดท้ายต้องหันไปพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบ สร้างปัญหาให้แก่ผู้กู้ยืมเงิน และก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ
“ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจของไทยตามตัวชี้วัดด้านการให้สินเชื่อของธนาคารโลก (Doing Business) ซึ่งนอกจากจะช่วย ลดข้อจำกัดบางประการข้างต้นแล้ว ยังมีการกำหนดกระบวนการบังคับหลักประกันที่มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นธรรม ช่วยลดภาระของศาลและพนักงานในกระบวนการบังคับคดี ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ”
ตามร่างกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจขึ้นในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำหน้าที่รับจดแจ้ง แก้ไขรายการจดทะเบียน และยกเลิกการจดแจ้งสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวมทั้งต้องจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับการจดแจ้งหลักประกันทางธุรกิจ และข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้บังคับหลักประกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบดูได้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติและขับเคลื่อนให้การดำเนินงานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลการจดทะเบียนตามกฎหมายฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้มีความพร้อมก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้จริง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย