- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 06 March 2015 22:25
- Hits: 1498
แก้เกณฑ์พวกผูกขาด สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม
แนวหน้า : นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) เปิดเผยว่า กรม เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นการแก้เกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาด จากผู้ที่เกี่ยวข้องจากเดิมที่กำหนดส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วน 50% ยอดขายมูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเข้าเกณฑ์การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ปรับลดลงมาเหลือส่วนแบ่ง 30% แต่คงยอดขายไว้ที่ 1,000 ล้านบาท
การจะเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ต้องดูที่ปัจจัยแวดล้อมของการแข่งขันในธุรกิจด้วย การแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการผูกขาดในธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามาแล้ว แต่ภาคเอกชนบางส่วนไม่สบายใจ จึงขอให้รับฟังความคิดเห็นกันอีกรอบคาดว่าจะจัดรับฟังความคิดเห็นได้ในวันที่ 10 มีนาคมนี้
“หลังจากรับฟังความเห็นของกรม จะรวบรวมความเห็นต่างๆ เสนอต่อคณะกรรมการแข่งขันอีกครั้ง หากบอร์ดเห็นชอบการแก้ไขหลักเกณฑ์ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)และจะบังคับใช้ต่อไป คาดว่าจะบังคับใช้เกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ได้ในเดือนมีนาคมนี้”
การแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ตั้งใจจะให้มีผลบังคับใช้ออกมาให้ทันรัฐบาลชุดปัจจุบัน หลักใหญ่จะเป็นการแก้ไขเพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วย 1.การแก้ไขที่มาของคณะกรรมการ ซึ่งจะมีกระบวนการการคัดสรรเพิ่มขึ้น 2.โครงสร้างการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยแยกออกจากปัจจุบันที่อยู่ภายในกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้กระบวนการบริหารรวดเร็วขึ้น 3.กำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องเข้ามาอยู่ภายในกฎหมายแข่งขันทางการค้า อาจจะมีข้อยกเว้นโดยต้องดูที่พฤติกรรมตามนโยบายของรัฐ เช่นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งประโยชน์ต่อสาธารณะ
4.การลดหย่อนโทษจากเดิมที่ไม่มีกำหนดเรื่องนี้แต่จะเพิ่มเข้ามา เช่นการลงโทษตามมาตรา 27 ในกรณีให้ผู้ที่ร่วมกระทำความผิด แต่กันมาเป็นพยานก็จะลดหย่อนโทษให้ 5.กำหนดหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติ หรือไกด์ ไลน์ ให้มีสภาพบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย จากเดิมจะไม่มีผลในทางกฎหมาย และ6.การปรับบทลงโทษ จากเดิมที่เป็นโทษทางอาญาเท่านั้น จะเพิ่มให้มีบทลงโทษทางแพ่ง และทางปกครองด้วย สำหรับกรณีความผิดที่ไม่มีผลกระทบในวงกว้างนัก แต่จะเป็นการกระทำความผิดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ ก็จะปรับจากโทษอาญาและแพ่ง