- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 10 June 2014 10:43
- Hits: 3611
พาณิชย์ เตรียมรวบรวมกฎหมายค้างสำคัญหลายฉบับ เสนอต่อ คสช.เร่งรัดผลักดัน
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตรียมเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเศรษฐกิจ ที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ คาดว่า คสช. จะสามารถเร่งรัดให้มีการดำเนินการ ได้ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว จะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยรวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558
สำหรับ กฎหมายที่ต้องการให้แก้ไขปรับปรุง ประกอบด้วยกฎหมายในกฤษฎีกา 4 ฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่ง และกฎหมายมหาชน และกฎหมายที่ไม่ได้เข้าสู่การพิจาณาของกฤษฎีกา 2 ฉบับ คือกฎหมายหลักประกันธุรกิจ ซึ่งขับเคลื่อนโดยกระทรวงการคลัง แต่ทางสำนักหลักประกันทางธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นผู้บริหารกฎหมายฉบับดังกล่าว ดูแลทะเบียน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และกฎหมายต่างด้าว ที่ต้องมีทบทวนบัญชีท้ายประจำปี การแก้ไขคำนิยามใช้ชัดเจน เช่น นอมินี หรือตัวแทนการประกอบธุรกิจที่เป็นต่างชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ การพิจารณา จัดอันดับว่ากฎหมายไหนสำคัญเป็นอันดับแรกคงต้องขึ้นอยู่กับการหารือของ คสช. อีกที ว่าจะกำหนดกฎหมายใดเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว แต่ทั้งนี้ก็มองว่ากฎหมายในกฤษฎีกา 4 ฉบับ น่าจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขก่อน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีการทำสำรวจ มีความพร้อมที่จะปรับปรุงอยู่แล้ว ในขณะที่กฎหมายที่ไม่ได้เข้ากฤษฎีกา 2 ฉบับ ยังอาจล่าช้าไปบ้าง เพราะมีขั้นตอนอยู่มาก ยังต้องมีการระดมความคิดเห็นอีก แต่ก็หวังให้มีการแก้ไขกฎหมายเศรษฐกิจต่าง ๆ เหล่านั้นโดยเร็ว
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายหรือร่างกฎหมายที่สำคัญ ๆ ที่ยังค้างการพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาดำเนินการซึ่ง คือร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งยังไม่มีการนำเสนอข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แม้ว่าจะมีการดำเนินการมาแล้วกว่า 10 ปี โดยหลัก ๆ ของกฎหมายคือการต้องการให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการขยายตัวของห้างค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ หรือโมเดริ์นเทรดอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีกระทบต่อการประกอบธุรกิจร้านโชวห่วย
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัจจุบันมีการขยายของห้างค้าปลีกค้าส่งอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศและเข้าถึงแทบทุกชุมชนซึ่งยากในการควบคุมปริมาณ โดยอาศัยพ.ร.บ. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาในการอนุญาต เช่น พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2518, พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.ส่งเสริม และรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.ว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ พ.ศ.2542 และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังจะมีการเสนอให้ คสช. พิจารณาพ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และได้เคยนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรชุดก่อนพิจารณาแล้ว แต่ต้องตกไปเพราะมีการยุบสภา โดยต้องการให้แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนามาตรฐานของเครื่องชั่งตวงวัด โดยต่อไปผู้ที่นำเข้าเครื่องชั่งตวงวัดจากต่างประเทศจะต้องมีการแสดงเครื่องชั่งตวงวัดต้นแบบมาแสดงด้วย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย