- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 10 June 2014 10:42
- Hits: 3437
มั่นใจส่งออกอาหารโตไม่ต่ำกว่า 5% NFI เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิต
แนวหน้า : นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร (National Food Institute : NFI) เปิดเผยว่า สถารการณ์การส่งออกสินค้าอาหารในปี 2557 นี้ คาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% จากปี 2556 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 9.7 แสนล้านบาท ส่วนยอดส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก 2557 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2-3% ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 จะขยายตัวไม่มาก และจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 ทั้งนี้ ตลาดหลัก คือ อาเซียน มียอดส่งออก 2-3 แสนล้านบาทต่อปี รองลงมาเป็นญี่ปุ่น ที่มียอดส่งออกกว่า 1.4 แสนล้านบาทต่อปี
“แนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้น น่าจะมาจากปริมาณการขายข้าวที่จะสูงกว่าปี 2556 ที่ผ่านมา นอกจากนี้สินค้าดาวเด่นอย่างเช่น กุ้ง ก็จะฟื้นตัวจากภาวะของโรคระบาด ขณะที่ไก่ มันสำปะหลัง น้ำตาล ปลาทูน่า ก็ล้วนแต่มียอดขายที่เพิ่มขึ้น ส่วนผักและผลไม้ ก็มียอดส่งออกไปยังตลาดเอเชียเพิ่มขึ้นมากและมีมูลค่าสูง”นายเพ็ชร กล่าว
นอกจากนี้ สถาบันอาหารจะเร่งผลักดันการเพิ่มการส่งออกอาหารแปรรูปมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จากปัจจุบันที่การส่งออกอาหารส่วนใหญ่สูงถึง 80% เป็นการส่งออกในรูปวัตถุดิบ มีเพียง 20% ที่เปHนอาหารแปรรูป โดยขณะนี้แนวโน้มสินค้าแปรรูปได้รับความนิยมจากตลาดประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เข้ามาร่วมกับผู้ประกอบการไทยพัฒนาการแปรรูปอาหารให้เหมาะกับตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากในประเทศพัฒนาแล้วมีต้นทุนค่าแรงสูงมาก ดังนั้นการผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปจากไทย จะช่วยลดต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งไทยยังมีมาตรฐานการผลิตอาหารสูงในอันดับต้นๆของเอเชีย จึงมีความน่าเชื่อถือในการผลิตเหนือประเทศคู่แข่ง เห็นได้ชัดว่าช่วง 2-3 ป?ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นน้อยมาก
ส่วนการยกระดับมาตรฐานอาหารในไทยนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ร้านอาหารทั่วไป ได้มีโครงการยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยเทียบเท่าระดับสากล โดยจะเริ่มในโรงอาหาร ฟู้ดคอร์ท ที่มีผู้มาซื้ออาหารไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน เบื้องต้นนำร่องกับโรงอาหารในโรงพยาบาลของรัฐ 60 แห่ง สถาบันอาหารจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปอบรมให้ความรู้ในการประกอบอาหารที่มีถูกสุขลักษณะ โรงอาหารที่ผ่านมาตรฐานจะได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ในปี 2557 นี้ ตั้งเป้ามีโรงอาหารเข้าระบบดังกล่าวไม่ไม่กว่า 300 แห่ง
2.การยกระดับโรงงานผลิตอาหารเอสเอ็มอี ในปี 2557 ตั้งเป้าเข้าไปปรับปรุงโรงงานผลิตอาหาร 300 แห่ง ให้มีมาตรฐานการผลิตที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ โดยปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตอาหารประมาณ 8,000 แห่ง แต่มีโรงงานที่ได้มาตารฐานระดับโลกเพียง 3,000 แห่ง ส่วนอีกกว่า 5,000 แห่ง ยังไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นจะพยายามให้โรงงานเหล่านี้พัฒนาให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด
นอกจากนี้ จะประสานกับหน่วยงานมาตรฐานอาหารในประเทศผู้นำเข้าชั้นนำ ยกระดับ มาตรฐานห้องแล็ปตรวจสอบอาหารของไทย ล่าสุดก็ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อให้ไทยสามารถตรวจสอบให้การรับรองคุณภาพอาหารบางชนิดได้ เพื่อผ่านการรับรองจากไทย ก็สามารถเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องตรวจซ้ำ ในอนาคตจะขยายไปสู่การให้บริการกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป