- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 04 March 2015 21:46
- Hits: 1651
พาณิชย์ เผย รมต.ศก.อาเซียน เตรียมถกรูปแบบการลดภาษี และการเปิดเสรีบริการ-การลงทุนในเดือน มิ.ย.นี้ รองรับการเข้าสู่เออีซี ปลายปี
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำผู้แทนไทยถกรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน เมืองด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย เร่งขับเคลื่อนประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าสู่เส้นชัยเออีซีปลายปีนี้
การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 21 มีขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2558 ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจครั้งแรกของปี 2558 อันเป็นปีสำคัญของการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ โดยการประชุมในปีนี้มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนเน้นเร่งการดำเนินมาตรการต่างๆ ตามที่อาเซียนตกลงกันไว้ให้แล้วเสร็จ โดยมาตรการที่มีความสำคัญในลำดับต้นซึ่งมีผลต่อการค้า ภาคธุรกิจ และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนก่อน เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs การลดเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี การสรุปผลการเจรจา RCEP มาตรการการอำนวยความสะดวกทางการค้า
ในการลดเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคทางการค้า ทุกประเทศเห็นร่วมกันว่าอาเซียนควรมีกลไก และมีการตรวจสอบข้อร้องเรียนในเรื่องมาตรการที่มิใช่ภาษีซึ่งผู้ประกอบการประสบอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาเซียนจะปรับปรุงระบบการรับเรื่องร้องเรียนที่มีอยู่เดิมให้ใช้ได้ง่ายขึ้น และให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
อาเซียนจะให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคธุรกิจ โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจตกลงให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนของอาเซียน เพื่อร่วมหารือปัญหาอุปสรรคและ รับฟังข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจ และนำข้อคิดเห็นต่างๆมาจัดทำความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีอาเซียนเห็นพ้องกันให้สรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ให้ได้ภายในปี 2558 ตามที่กำหนดไว้ โดยอาเซียนจะเป็นศูนย์กลางในการผลักดันให้การเจรจารอบที่ 8 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2558 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มีความก้าวหน้าในเรื่องสำคัญ ได้แก่ การจัดทำรูปแบบการลดภาษี และการเปิดเสรีบริการและการลงทุน และอาเซียนทุกประเทศตกลงกันที่จะยื่นข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ก่อนการเจรจารอบที่ 8
สำหรับ ในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายหลังปี 2558 อาเซียนกำลังพิจารณาจัดทำร่างวิสัยทัศน์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายหลังปี 2558 ซึ่งอาเซียนจะมีการรวมกลุ่มอย่างเข้มข้น โดยจะเปิดเสรีเพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการปรับประสานมาตรฐาน กฎระเบียบต่างๆให้สอดคล้องกันมากขึ้น ตลอดจนจะต้องมีการร่วมกันวางแนวทางในการรับมือกับประเด็นการค้าใหม่ๆของโลก เพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่สามารถแข่งขันได้ในเศรษฐกิจโลกได้เพิ่มขึ้น โดยอาเซียนมีกำหนดจะจัดทำวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2558 และนำเสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนสิงหาคม ก่อนผู้นำอาเซียนจะประกาศวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนซึ่งรวมอาเซียนทั้งสามเสาภายหลังปี 2558 ในช่วงการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 27 ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้
ในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียได้นำเสนอโครงการเพื่อเพิ่มการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็กของอาเซียน โดยนำกลุ่มนักธุรกิจ/บริษัทจากประเทศต่างๆในอาเซียนในสาขาต่างๆ ที่กำลังแสวงหาการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคเดินทางไปในประเทศต่างๆ เพื่อร่วมระดมความคิด ระบุปัญหาอุปสรรคของการค้าลงทุนในแต่ละประเทศ และพบปะกับภาครัฐเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นประโยชน์ของข้อเสนอโครงการนี้ โดยจะต้องศึกษาในรายละเอียดและเห็นว่าการเข้าร่วมโครงการต้องเป็นไปโดยสมัครใจ
ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนภาคธุรกิจของมาเลเซียในฐานะประธานสภาธุรกิจอาเซียนในปีนี้ ได้เข้าพบรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อนำเสนอประเด็นที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ประกอบการขนาดย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSME Bank) การจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสมาคมผู้ประกอบการสตรีของอาเซียน การจัดให้มีช่องทางเข้าเมืองสำหรับคนจากอาเซียน ณ จุดเข้าเมืองต่างๆ (ASEAN Lane) เป็นต้น ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นว่าควรมีการแบ่งกลุ่มข้อเสนอของภาคเอกชนเป็นมาตรการที่ดำเนินการในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมาตรการใดที่ทำได้ง่าย เช่น การจัดตั้งสมาคมต่างๆ และการจัดทำ ASEAN Lane น่าจะสามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนข้อเสนอการจัดตั้งธนาคาร MSME จะเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการในระยะยาว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย