WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ ระดมกูรูแฟรนไชส์ทั่วไทย ทบทวน พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์ไทยให้ทันกับสถานการณ์ทางธุรกิจ

    กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ของประเทศไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สมาคมการแฟรนไชส์และไลเซนส์ สมาคมแฟรนไชส์ไทย และผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยให้มีความทันสมัยและเทียบเคียงมาตรฐานสากล และเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างแฟรนไชส์ซอร์กับแฟรนไชส์ซีพร้อมเป็นตัวกลางประสานสถาบันการเงินแก่ธุรกิจแฟรนไซส์สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

    นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดให้มีการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ของประเทศไทยทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สมาคมการแฟรนไชส์และไลเซนส์ สมาคมแฟรนไชส์ไทยและผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อทบทวน และพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยให้ทันกับสถานการณ์ทางธุรกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยังคงยึดแนวทางตามมาตรฐานแฟรนไชส์สากล

     สาเหตุที่กรมฯ ผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการ เพื่อต้องการให้มีระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่ดีได้มาตรฐานระดับสากลและเพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างแฟรนไชส์ ซอร์กับแฟรนไชส์ซี รวมทั้ง กรมฯ มีแผนที่จะประสานแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินแก่ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านเกณฑ์ มาตรฐานคุณภาพฯ จากกรมฯให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์   ของไทยให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพฯ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น เนื่องจากธุรกิจมีความเสี่ยงน้อย มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนและมีมาตรฐาน ตลอดจนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ผู้ที่ต้องการจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง และสนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) สามารถเลือกซื้อแฟรนไชส์จากผู้ขายที่มีมาตรฐานได้อย่างมั่นใจทั้งนี้ ระบบแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจใน การขยายสาขาที่มีประสิทธิภาพ ลดข้อจำกัด สร้างความได้เปรียบในด้านแหล่งเงินทุน และบุคลากรที่จะมาร่วม   สร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร ช่วยสร้างธุรกิจรายใหม่ให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าและเร็วกว่า  การเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเอง

     กรมฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์มาตั้งแต่ปี 2552 และได้ทำการทบทวน ปรับปรุง ตลอดจนพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพฯมาโดยตลอดเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานแฟรนไชส์ของไทยให้มีความทันสมัยและทัดเทียมสากลโดยเฉพาะในปี 2558 นี้ ที่กลุ่มประเทศในอาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ตลาดการค้าการลงทุนมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีผู้บริโภคมากถึง 600 ล้านคน ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยมีการเตรียมความพร้อมที่ดีในทุกๆ ด้าน มีความน่าเชื่อถือ และมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ย่อมสร้างสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ แฟรนไชส์ไทยและมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ในภูมิภาคอาเซียน

      โดยการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญฯ ในครั้งนี้ เน้นการพัฒนาเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการ ให้มีมาตรฐานระดับสูง และสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดแก่ธุรกิจและผู้ประกอบการมากที่สุด โดยการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจจำเป็นต้องมีการพัฒนามาตรฐานระบบปฏิบัติการและกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ให้สามารถตอบสนองต่อลูกค้าในด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการอยู่เสมอ

       ปัจจุบันมีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจแฟรนไชส์จากรมฯ จำนวน 159 ราย แบ่งเป็น อาหารและเครื่องดื่ม 77 ราย (ร้อยละ 49) การศึกษา 32 ราย (ร้อยละ 20) บริการ 27 ราย (ร้อยละ 17) ความงามและสปา 13 ราย (ร้อยละ 8) และค้าปลีก 10 ราย (ร้อยละ 6)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!