WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ เผยม.ค.58 ส่งออก-นำเข้าติดลบ 3.46% และ 13.33% ส่งผลขาดดุลการค้า 457 ล้านดอลล์

     พาณิชย์ เผย ส่งออก ม.ค.58 ติดลบ 3.46  ตามทิศทางการชะลอตัวในสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร  ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง  ส่วนนำเข้าติดลบ 13.33% ส่งผลขาดให้ดุลการค้า 457 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

     กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า มูลค่าการส่งออก เดือนมกราคม 2558 มีมูลค่า 17,249 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -3.46 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน(YoY) ขณะที่การนำเข้าเดือนมกราคม 2558 มีมูลค่า 17,705 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -13.33 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนมกราคม 2558 กลับมาขาดดุลการค้ารวม 457 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

     มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินบาท พบว่ามูลค่าการส่งออกเดือนมกราคม 2558 มีมูลค่า 563,218 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.34 (YoY) ด้านการนำเข้า เดือนมกราคม 2558 มีมูลค่า 584,830 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -12.32 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนมกราคม 2558 ขาดดุลการค้ารวม -21,612 ล้านบาท

     ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหดตัวสูง กดดันให้ราคาส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหดตัวและราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ กระทบมูลค่าส่งออก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือนมกราคม 2558  อยู่ที่ 47.45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ลดลงถึงร้อยละ 53.6 (YoY) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งนับเป็นระดับราคาที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี (ก.พ. 2552) เนื่องจากผลผลิตน้ำมันดิบมีมากเกินความต้องการในตลาดโลก ส่งผลให้ดัชนีราคาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยเดือนมกราคม 2558 ปรับตัวลดลง ร้อยละ -14.2 (YoY) กระทบต่อมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปลดลงร้อยละ -28.1(YoY) ขณะที่ปริมาณส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 (YoY) เช่นเดียวกับสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมค่อนข้างสูง โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนมกราคม 2558 เคมีภัณฑ์ลดลงร้อยละ -9.1 (YoY) และเม็ดพลาสติกลดลงร้อยละ -5.0 (YoY) ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -21.9 และร้อยละ -14.6 (YoY) ตามลำดับ ในส่วนของราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอย่างยางพารา ยังคงทรงตัว จากแรงกดดันของราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีต้นทุนต่ำลง นอกจากนี้ยังส่งผลถึงความต้องการใช้พลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซลลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตไบโอดีเซลลดลงตามไปด้วย

      การส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกเดือนมกราคม 2558 ในภาพรวมสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -13.0 (YoY) ตามการหดตัวในสินค้ายางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป และน้ำตาล โดยยางพาราหดตัวที่ร้อยละ -40.6 (YoY) ตามราคายางพาราที่ปรับตัวลดลง จากผลผลิตยางพาราในตลาดโลกมีปริมาณมาก และความต้องการยางพาราในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร สะท้อนจากดัชนีราคาส่งออกยางพาราเดือนมกราคม 2558 ที่ลดลงร้อยละ -18.6 (YoY) รวมทั้งจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทยได้ชะลอการนำเข้า อันเนื่องมาจากปริมาณสต๊อก

     ยางพารายังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกยางพาราของไทยลดลงร้อยละ -7.6 (YoY) ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 7.3 (YoY) ตามลำดับ โดยการส่งออกไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ที่มีแนวโน้มการส่งออกที่ดีจากการที่หลายตลาดยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดจากไทย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ตลาดส่งออกไก่สดอันดับ 1 ของไทยให้อนุญาตนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยนับตั้งแต่ มกราคม 2557 และตลาดเกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะส่งออกได้ภายในเดือนมิถุนายน 2558 หลังจากที่ถูกระงับไว้ตั้งแต่ปี 2547 รวมทั้งการส่งออกกุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 เนื่องจากสถานการณ์ของโรค EMS มีสัญญาณดีขึ้น

     สำหรับ การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 0.6 เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับและทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ โดยการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ร้อยละ 16.1 (YoY) โดยมีอัตราขยายตัวได้ดีในตลาดสำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย อาเซียน สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง รวมทั้งแผงวงจรไฟฟ้า และรถจักรยายนต์ และส่วนประกอบ ที่เริ่มกลับมาขยายตัวในเดือนมกราคม 2558 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอย่างเคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ตามราคาส่งออกที่หดตัว ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล อุปกรณ์และส่วนประกอบ

      การส่งออกไปยังตลาดสำคัญบางตลาดกลับมาหดตัวในเดือนมกราคม 2558 ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง การส่งออกเดือนมกราคม 2558 ไปยังตลาดหลักกลับมาหดตัวโดย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป(15) กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -7.5 และ -5.0 (YoY) ตามลำดับ จากการที่เศรษฐกิจทั้งสองฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) ส่งผลให้ค่าเงินเยน และค่าเงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ยอดคำสั่งซื้อชะลอตัว ขณะที่การส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา มีสัญญาณการฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามทิศทางการจ้างงานที่ดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น ขณะที่การส่งออกไป จีน และอาเซียนหดตัวที่ร้อยละ -19.7 และ -0.7 (YoY) ตามลำดับ ตามการส่งออกยางพาราที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหดตัวตาม ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ตลาดอาเซียน หากไม่รวมการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 (YoY) โดยมีสินค้าที่ขยายตัวสูงได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าวเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และเครื่องดื่ม รวมทั้งกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนามเป็นกลุ่มตลาดที่เติบโตต่อเนื่องขยายอยู่ที่ร้อยละ 6.8 (YoY) โดยเฉพาะภาพรวมการค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งมีมูลค่าการค้าเติบโตต่อเนื่อง รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 

    การนำเข้าในเดือนมกราคม 2558 ยังคงหดตัวสูง ตามการนำเข้าที่ลดลงของสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง กลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป กลุ่มอุปโภค/บริโภค และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ซึ่งหดตัว ร้อยละ -46.9 ,-3.7,-0.6 และ -12.4 (YoY) ตามลำดับ โดยเฉพาะน้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของไทยหดตัวร้อยละ -55.8 (YoY) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง (ดัชนีราคานำเข้าน้ำมันดิบเดือนม.ค. 58 ลดลงร้อยละ -48.7 (YoY)) จากอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตของไทย ให้มีต้นทุนการผลิตต่ำลง และลดค่าครองชีพของประชาชน ในส่วนของการนำเข้าสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง หดตัวจากภาวะการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว และสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป หดตัวตามการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การนำเข้ากลุ่มสินค้าทุนขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 โดยมีการนำเข้าสูงขึ้นในสินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และการนำเข้าเครื่องบิน

    การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดนขยายตัวต่อเนื่อง มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 8.6 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนมกราคม 2558  มีมูลค่า 85,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.0 โดยไทยทำการค้าชายแดนกับมาเลเซียสูงที่สุดมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 47.7 ของการค้าชายแดนรวมหดตัวร้อยละ -7.8 (YoY) รองลงมา ได้แก่ เมียนมาร์  สปป.ลาว และกัมพูชา ขยายตัวร้อยละ 13.2,2.7 และ 26.9 (YoY) ตามลำดับ ซึ่งในภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 10,132  ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนมกราคม 2558 มีมูลค่า 13,534 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 (YoY) โดยภาพรวมการค้าผ่านแดนไทยทำการค้ากับจีนตอนใต้สูงสุด ขยายตัวร้อยละ 77.0 ในเดือนมกราคม 2558 รองลงมาได้แก่ เวียดนามมีอัตรายังขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 36.4 ขณะที่การค้าผ่านแดนกับสิงคโปร์ หดตัวร้อยละ -46.8 (YoY)

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!