WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้า 3 มาตรการหลัก สร้างความรู้ รณรงค์สร้างจิตสำนึก ประสานการป้องปราม สร้างเกราะคุ้มกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

  นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงพาณิชย์ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับนโยบายมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะตระหนักดีว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้ประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยกรมได้ดำเนินการใน 3 มาตรการหลัก ควบคู่กัน คือ การสร้างความเข้าใจในความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา การรณรงค์สร้างจิตสำนึก และการประสานการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดปริมาณการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรมใหม่ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

     สำหรับ การเสริมสร้างความรู้ในความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา กรมได้ดำเนินภารกิจทั้งในเชิงรุกและเชิงรับเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกระดับ เช่น การสัมมนาเรื่องลิขสิทธิ์ในชีวิตประจำวันสำหรับบุคคลในแวดวงการศึกษา การจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ครูและนักเรียน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดองค์ความรู้ การจัดอบรมให้ความรู้เรื่อง”ทรัพย์สินทางปัญญากับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน” ให้กับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการ 

    ด้านการรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้วางรากฐานให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปให้เคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่เข้าไปมีส่วนในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างค่านิยมในการใช้สินค้าที่เป็นของแท้มากขึ้น แม้ว่าวิธีการดังกล่าวอาจใช้ระยะเวลากว่าจะเห็นผลแต่เป็นการเกราะป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่ต้นทาง โดยกิจกรรมที่กรมได้ดำเนินการ เช่น  การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกในการเคารพสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาแก่นักเรียน นักศึกษา  และการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านสื่อออนไลน์ “โหลดเล่นๆ ก็เป็นเรื่อง”

    ทั้งนี้ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไมโครซอฟ์ท ประเทศไทย จำกัด จัดงาน “รับรู้ และเข้าใจการละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยไม่ใช่เรื่องเล่นๆ” เพื่อให้สื่อมวลชน คนรุ่นใหม่ และประชาชน ได้รับรู้ถึงปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และร่วมมือกันในการแก้ปัญหา

   ประการสุดท้าย คือ การประสานการป้องปรามการละเมิด แม้ว่ากรมไม่มีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำผิด แต่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานและบูรณการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร ในลักษณะชุดปฏิบัติการต่างๆ ได้แก่ ชุดจรยุทธ์ ปฏิบัติการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชุดระดมกวาดล้างการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่ทั่วประเทศ ชุดการประสานการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (NICE)โดยในปี พ.ศ. 2557 มีผลการจับกุมรวม 1,617 คดี ยึดของกลางได้ 358,461 ชิ้น ซึ่งเมื่อมีการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาถึงที่สุดแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะจัดพิธีทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อป้องกันมิให้ของกลางกลับไปหมุนเวียนในท้องตลาด และแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการปฏิบัติงานตั้งแต่ต้นจนคดีถึงที่สุด

   นอกจากนี้ กรมยังได้มีความร่วมมือกับทางสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2557 สหรัฐอเมริกาได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ประสานการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติของสหรัฐ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ จำนวน 2 คน มาปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย (ศูนย์ NICE) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานด้านการป้องปราม รวมทั้งเสริมสร้างความสามารถในการพัฒนาระบบงานป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ผลการปฏิบัติงานร่วมกันผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ มีความพึงพอใจผลการปฏิบัติงานป้องปรามของไทยและได้ส่งหนังสือมาแสดงความ ชื่นชมถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของไทยว่ามีความเป็นมืออาชีพและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติงานป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

   นางมาลีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่าการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย และแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาด้วยการจับกุมการละเมิดเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร ซึ่งกรมเชื่อมั่นว่า 3 มาตรการหลักที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการ ตั้งแต่การสร้างความรู้ความเข้าใจในทรัพย์สินทางปัญญา การรณรงค์สร้างจิตสำนึก และ การประสานการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจะช่วยลดปริมาณการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ในอนาคต

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!