- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 20 February 2015 22:15
- Hits: 2156
ก.พาณิชย์ รับมือผลไม้ล้นตลาด ใช้โมเดิร์นเทรดชุมชนช่วยกระจาย-ส่งออกมัลดีฟส์-จัดแคมเปญในห้างญี่ปุ่น จีน
กระทรวงพาณิชย์เตรียมมาตรการรับมือผลไม้หากเกินความต้องการของตลาด คาด 'มังคุด'ออกก่อน มี.ค.นี้ ด้านตลาดภายใน ใช้ Modern Trade ตลาดชุมชนช่วยกระจาย ส่วนต่างประเทศ เตรียมจัดคาราวานผลไม้ไปเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการขายในห้างของจีน ญี่ปุ่น อเมริกา Incoming-Outgoing Mission รวมทั้งสบช่องนำผลไม้ไทยรุกตลาด 'มัลดีฟส์'สวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่ต้องนำเข้าผลไม้แทบทุกชนิด
นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการดูแลราคาพืชผลทางการเกษตรเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรขายผลิตผลของตนเองได้อย่างคุ้มทุน จึงได้แต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบสินค้าเกษตรสำคัญ 1 คน ต่อสินค้า 1 ชนิด เพื่อดูแลครบวงจรจากแหล่งผลิตจนถึงตลาดต่างประเทศในสินค้า 5 ชนิดข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ และปาล์มน้ำมัน
ดังนั้น เพื่อเตรียมการรับมือผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดตามฤดูกาลที่จะถึง กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อประสานเชื่อมโยงข้อมูลด้านการผลิต และการตลาดในสินค้า ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ ปาล์มน้ำมันและยางพารา เพื่อให้สามารถวางแผนการดำเนินงานได้ถูกต้องมีประสิทธิภาพที่สุด โดยจะมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการพยากรณ์ปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดฤดูกาลนี้ในวันที่ 2 มีนาคม 2558 นี้
นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การผลิตผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2558 คาดว่าจะออกสู่ตลาดล่าช้ากว่าปีที่แล้วประมาณ 1 เดือนเพราะสภาพดินฟ้าอากาศที่ผันผวน ซึ่งในจ.จันทบุรี ที่เป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มังคุด จะออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม ส่วนเงาะ ทุเรียน จะออกสู่ตลาดในเดือนถัดมาตามลำดับ สำหรับลองกอง คาดว่าจะออกสู่ตลาดมากช่วง กรกฎาคม-สิงหาคม อนึ่งผลไม้ของภาคตะวันออก คือ ทุเรียน มะม่วง มังคุด เงาะ
เป็นสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยปีละเกือบ 20,000 ล้านบาท ส่วนผลไม้ภาคใต้ และภาคเหนือ จะออกช่วง มิถุนายน-สิงหาคม ทั้ง เงาะ ทุเรียน มังคุด ลำไย สำหรับผลไม้ที่ออกผลผลิตเกือบทั้งปี เช่น สับปะรด ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งเข้าโรงงานบรรจุกระป๋อง หรือกล้วย สามารถขายได้ราคาดีในช่วงเทศกาล โดยที่กล้วยหอมราคาขายปลีกสูงถึงหวีละ 90-100 บาท สำหรับแนวทางในการเตรียมการด้านการตลาด กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการการดำเนินการดังนี้
ตลาดในประเทศ
1.การกระจายผลไม้ไปยังตลาดปลายทางนอกแหล่งผลิตต่างๆได้แก่ ห้าง Modern Trade ตลาดกลางในภูมิภาค ตลาดชายแดนติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน ตลาดชุมชน และศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (Farm Outlet)
2.ส่งเสริมและรณรงค์การบริโภคผลไม้ โดยร่วมมือกับภาคราชการและเอกชนในการจัดเทศกาลผลไม้ จัดงานร่วมกับสินค้า OTOP ในสถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
3.ส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลไม้มากขึ้น และส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพผลไม้แปรรูป
ตลาดต่างประเทศ
1.จัดคณะผู้แทนการค้าเข้าร่วมโครงการ Incoming Mission(เชิญผู้แทนการค้าเข้ามา) และ Outgoing Mission (จัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนตลาดเป้าหมาย)
2.จัดให้ผู้ประกอบการค้าผลไม้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย เป็นต้น
3.จัดคาราวานสินค้าผลไม้ ผลไม้แปรรูป และสินค้า OTOP ไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้าน
4.จัดการส่งเสริมการขายสินค้าภายในห้าง (Instore Promotion) เช่น จีน กัมพูชา ญี่ปุ่น อเมริกา และอิตาลี เป็นต้น
สำหรับ จุดแข็งที่สำคัญของผลไม้ไทย คือ การมีผลผลิตหลากหลายชนิดและออกสู่ตลาดต่อเนื่องได้ตลอดปี โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการทำให้ออกผลผลิตนอกฤดูกาล ในขณะที่ผู้บริโภคในต่างประเทศก็นิยมในรสชาติผลไม้ไทยโดยเฉพาะในเอเชีย เนื่องจากมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจึงเป็นที่นิยมของตลาด เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ รวมทั้งประเทศไทยมีเทคโนโลยีการผลิตพืชผักผลไม้ค่อนข้างสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคที่มีผลิตผลประเภทเดียวกัน
ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง เช่น ทุเรียน ลำไย ลำไยอบแห้ง มังคุด เงาะ มะม่วง มะขามหวาน ฯลฯ เป็นมูลค่า 1, 268.52 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 41, 318 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.98 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับของปีที่ผ่านมา และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84.70 ของการส่งออก ผักผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง โดยมีตลาดหลักคือ จีน เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ซึ่งตลาดเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนโดยรวม 77.76 ของตลาดส่งออกทั้งหมด โดยมีคู่แข่งที่สำคัญคือ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นชาติในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน แต่สำหรับตลาดที่มีการขยายตัวสูงคือ พม่า และเกาะมัลดีฟส์ “มัลดีฟส์กำลังเป็นตลาดผลไม้ไทยที่มีศักยภาพและอนาคตรุ่ง เพราะได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ทางทะเลที่มีนักท่องเที่ยวทั่วโลกไปเยือนเฉลี่ยปีละ 1 ล้านคน ทั้งที่มีประชากรเพียงราวๆ 3 แสนคนเท่านั้น ดังนั้นน่าจะทำตลาดผลไม้คู่กับตลาดนักท่องเที่ยวได้” นางดวงกมล โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผักผลไม้ ทั้งในประเทศและที่ส่งออกต่างประเทศจำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุนและมาตรการนำเข้าของแต่ละประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้ภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวก ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหากับผู้ประกอบการ การแจ้งเตือนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในตลาดต่างๆของไทยทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย