- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 20 February 2015 22:14
- Hits: 1976
16 ชาติเปิดอก ถกเข้ม เจรจา RCEP ครั้งที่ 7 เร่งหาข้อสรุปหัวใจหลักของการเจรจา
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP (RCEP-Trade Negotiating Committee: RCEP-TNC) ครั้งที่ 7 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 4-13 กุมภาพันธ์ 2558 ณ กรุงเทพฯ โดยที่ประชุมเน้นการเจรจาเรื่องรูปแบบการเปิดตลาดสินค้ากลุ่มแรก (initial offer) และวิธีการเขียนตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนเป็นสำคัญ ซึ่งถึงแม้การเจรจาในรอบนี้ จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปอย่างเป็นเอกฉันท์ได้ แต่ประเทศสมาชิกมีความเข้าใจในข้อจำกัดและพื้นฐานที่แตกต่างกัน และมีท่าทีที่จะหาข้อสรุปร่วมกันได้มากขึ้น รวมทั้งที่ประชุมได้ตกลงให้มีการยื่นข้อเสนอเรื่องการเปิดตลาดในเบื้องต้น ส่วนในเรื่องประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน และกฎหมาย อยู่ระหว่างการจัดทำข้อบท ซึ่งมีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี
นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “ในการประชุมครั้งนี้ มีความคืบหน้าการเจรจาในประเด็นหลักๆ ทำให้เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าสมาชิกแต่ละประเทศมีท่าทีอย่างไร อย่างไรก็ดีเราต้องเข้าใจว่า การเจรจา RCEP ระหว่างประเทศสมาชิกถึง 16 ประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีความแตกต่างทางระดับการพัฒนาและระดับความคาดหวังของประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ประเทศคู่เจรจาบางประเทศยังไม่เคยมีความตกลง FTA ระหว่างกันมาก่อน จึงมีท่าทีในการเจรจาเปิดตลาดที่ระมัดระวังเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ในส่วนของไทยเอง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการหารือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อผนึกกำลังในการเจรจาปกป้องและรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยมากที่สุด”
นอกจากนี้ ยังมีการจัด Side Events คู่ขนานไปกับการเจรจาครั้งนี้ ได้แก่ (1) การสัมมนาเรื่อง SME ที่เน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการผลักดันให้ RCEP เป็น SME Friendly FTA (2) การหารือระหว่างผู้เชี่ยวชาญเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ (3) การหารือเรื่องมาตรการเยียวยาทางการค้า รวมถึง (4) การหารือระหว่างภาครัฐและผู้แทนเอกชนเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี
ก่อนการประชุม TNC ครั้งถัดไป ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-13 มิถุนายน 2558 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น จะมีการประชุมรัฐมนตรี RCEP (RCEP-Ministerial Meeting) ครั้งที่ 3 ในเดือนเมษายน 2558 ณ ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ประกอบการจำเป็นต้องจับตามองการเจรจา RCEP อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการหารือในประเด็นการค้าหลายด้าน อีกทั้ง RCEP อาจเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้กว้างขึ้น โดยมอง RCEP เป็นตลาดเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่ท้าทายคือการทำให้สินค้าของไทยขยายไปทั้ง 16 ประเทศ โดยไม่มีอุปสรรคหรือมีอุปสรรคน้อยที่สุดได้อย่างไร ในเบื้องต้นไทยจึงพยายามผลักดันในเรื่องการปรับประสานกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ ให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นลำดับแรก เช่น กฎถิ่นกำเนิดสินค้า สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐานทางเทคนิคทางการค้า พิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ ซึ่งรวมถึง SME สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้เต็มที่และง่ายขึ้น
RCEP มีสมาชิก 16 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 6ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มี GDP รวมกันกว่า 21.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ(689 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 28 ของโลก มีประชากรกว่า 3.4 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรโลกและมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (348 ล้านล้านบาท) หรือร้อยละ 29 ของมูลค่าการค้าโลก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต.บางกระสอ อ. เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630