WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ เผยผลการประมูลขายข้าวในสต็อกรัฐบาล ครั้งที่ 1/58 ผู้ชนะทั้งสิ้น 38 ราย ปริมาณรวม 4.96 แสนตัน จาก 112 คลัง มูลค่าราว 7.85 พันลบ. สั่งเร่งทำสัญญาใน 15 วัน

    กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า จากการที่คณะทำงานดำเนินการระบายข้าว ได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ประกอบการค้าข้าวยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวสารในสต็อกของรัฐ ครั้งที่ 1/2558 ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก นาปรัง ปีการผลิต 2552 นาปี ปีการผลิต 2554/55 นาปรังปีการผลิต 2555 ปีการผลิต 2555/56 (รอบ 1) และ (รอบ 2) และปีการผลิต 2556/57(แบบรายคลังสินค้าตามสภาพข้าวที่เก็บรักษา) ตามคลังสินค้ากลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)  จำนวน 168 คลัง โดยชนิดข้าวที่นำมาเปิดประมูลในรอบนี้ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 และ ข้าวขาว 5% ปริมาณรวมทั้งสิ้น 999,763.61 ตัน  ผลจากการเปิดประมูลข้าวเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 ได้รับความสนใจจากผู้ส่งออกและผู้ประกอบการโรงสี ทั้งรายเล็กและรายใหญ่แสดงความจำนงเข้าร่วมการประมูล 100 ราย โดยมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถยื่นซองเสนอราคาได้ จำนวน 94 ราย

     ผลการประมูลขายข้าว ที่ได้รับความเห็นชอบจากประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีผู้ชนะการประมูล จำนวนทั้งสิ้น  38 ราย  ปริมาณรวม 496,243.27 ตัน จาก 112 คลัง มูลค่าประมาณ 7,853  ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 100 % ชั้น 2  ปริมาณ 146,204.77 ตัน และ ข้าวขาว 5 % ปริมาณ  350,038.50 ตัน  ทั้งนี้ ราคาข้าวที่ชนะการประมูลข้าวหอมมะลิ 100 % ชั้น 2 ราคาเฉลี่ยตันละ  23,010 – 31,000 บาท และ ข้าวขาว 5%  ราคาเฉลี่ยตันละ 7,650 – 12,220 บาท  โดยประธาน นบข. ได้ให้ความเห็นชอบให้ยกเลิกการเสนอซื้อข้าวของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ที่ขาดคุณสมบัติ และยกเลิกการขายข้าว 47 คลังให้กับบริษัท เอ็มไพร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เพราะจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องมีเหตุอันควรเชื่อได้โดยสุจริตว่าเป็นกลุ่มหรือเครือเดียวกัน และมีลักษณะเป็นตัวแทนอำพรางของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัดทั้งนี้ มีข้าว 9 คลังที่ไม่มีผู้ยื่นซองเสนอซื้อ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศจะนำข้าวที่ยกเลิกการขายและที่ไม่มีผู้ยื่นเสนอซื้อรวม  56 คลังมาเปิดประมูลจำหน่ายในครั้งต่อไป

   นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้แจ้งให้ผู้ชนะการประมูล 38 รายมาทำสัญญากับ อคส. และ อ.ต.ก. ภายใน 15 วัน และจะสามารถรับมอบข้าวได้ทันทีที่ทำสัญญาและชำระค่าข้าวแล้ว  สำหรับการประมูลข้าวครั้งที่ 2/2558  จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขให้รัดกุม และปรับขั้นตอนการประมูลให้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยยังคงเน้นกระบวนการที่โปร่งใส และคำนึงถึงสถานการณ์การค้าข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสำคัญ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

อนุมัติขายข้าว 38 ราย 5 แสนตัน เขี่ยนอมินี'สยามอินดิก้า'จ่อประมูลใหม่ปลายก.พ.

      ไทยโพสต์ : นนทบุรี * พาณิชย์เคาะขายข้าวในสต็อก 5 แสนตัน ให้เอกชน 38 ราย จากยอดเปิดประมูลเกือบล้านตัน เผยตัดสิทธิ์นอมินีสยามอินดิก้าออก พร้อมนำข้าวส่วนที่เหลือรวมประมูลล็อตใหม่ปลาย ก.พ.นี้ คาดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน "ฉัตรชัย" เตรียมเชิญจีนหารือซื้อข้าว-ยางพาราไทยอีกครั้งกลางเดือน มี.ค.

    พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประมูลข้าวสารในสต็อกรัฐบาล ครั้งที่ 1/2558 ปริมาณ 9.99 แสนตัน เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา ว่าได้อนุมัติการขายข้าวให้กับผู้เข้าประมูลจำนวน 38 ราย ปริมาณรวม 496,243.27 ตัน หรือคิดเป็น 49.64% ของปริมาณที่เปิดประมูลในรอบนี้ โดยคิดเป็นมูลค่า 7,853,375,104 บาท

    สำหรับ ปริมาณข้าวที่เหลือกว่า 4 แสนตัน จากการตรวจสอบพบว่าผู้เข้าร่วมประมูลไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงระงับการขายให้ และจะนำข้าวในส่วนที่เหลือไปเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลรอบใหม่ได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ.2558 นี้ รวมแล้วปริมาณเกือบ 1 ล้านตัน

    สำหรับ การเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน โดยได้มีการติดตามเรื่องการขายข้าวไทยให้จีน หลังจากที่จีนได้แสดงความสนใจที่จะซื้อสินค้าเกษตรจากไทย แบ่งเป็นข้าวปริมาณ 2 ล้านตัน และยางพาราประมาณ 2 แสนตัน มีกรอบระยะเวลาส่งมอบภายใน 2 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2559 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเชิญจีนมาประชุมหารือรายละเอียดร่วมกันอีกครั้งในช่วงกลางเดือน มี.ค.2558

   ทั้งนี้ ยังได้มีการหารือกรอบความร่วมมือโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โดยจะมีการดำเนินการเจรจาตามกรอบความร่วมมือที่ได้ตกลงกันไว้ แต่จะต้องมีการหารือในรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง

    รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ปริมาณข้าวที่ไม่อนุมัติขายให้กับเอกชนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติมีปริมาณ 4 แสนตัน โดยบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่มีข่าวว่าเป็นนอมินีให้กับ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดสัญญาซื้อขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และยังมีการตรวจสอบพบอีกว่าบริษัทที่ชนะการ ประมูลข้าวในส่วนของ 4 แสนตันนั้น ไม่ใช่บริษัทที่ค้า ขายข้าว ไม่เคยมีประวัติการส่งออกข้าว แต่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าท่าเรือให้กับสยามอินดิก้าเท่านั้น

    โดยการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ คณะทำงานพิจารณาระบายข้าว ได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาว่าบริษัทนี้อาจจะเข้าข่ายเป็นนอมินีให้กับสยามอินดิก้า และขอให้ นบข.พิจารณาชี้ขาดว่าจะอนุมัติขายหรือไม่ขายข้าวให้กับบริษัทดังกล่าว ซึ่ง นบข.ได้ให้ฝ่ายกฎหมายเข้าไปตรวจสอบแล้ว และผลออกมาคือไม่อนุมัติขายข้าวให้

    อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา ว่า บริษัท เอ็มไพร์ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ยื่นประมูลข้าวสาร สต็อกรัฐบาล มีที่ตั้งของบริษัทตั้งอยู่ที่อาคารเลขที่ 48/7-8 (ชั้น 1, 4, 5) ซอยรัชดาภิเษก 20 แม้จะคนละชั้นกับสยามอินดิก้า ที่เคยตั้งสำนักงานอยู่ที่ชั้น 2 แต่เป็นตึกเดียวกัน คือ อาคาร 48/7-8 ซอยรัชดาภิเษกเหมือนกัน และที่ต้องจับตา คือ กรรม การผู้มีอำนาจลงนามในบริษัท เอ็มไพร์ดีเวลลอปเม้นท์ มีชื่อ สุดา คุณจักร ซึ่งเคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสยามอินดิก้า ในช่วงเดือน ธ.ค.2552 ถึงเดือน มี.ค.2554 ก่อนถอนหุ้นออกไป.

พณ.ประมูลข้าวรอบ 2 ปลาย ก.พ.นี้

      บ้านเมือง : พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางกรอบการทำงานร่วมกัน 2 ประเด็น คือ การหารือตามกรอบความร่วมมือโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการขายข้าวระหว่างกัน เพื่อสานต่อนโยบายรัฐบาลที่ได้มีการตกลงร่วมกัน โดยในส่วนของรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะดำเนินการตามกรอบการเจรจา แต่จะต้องหารือรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง

    นอกจากนี้ ในการขายข้าวจีนมีความสนใจที่จะซื้อข้าวจากไทยปริมาณ 2 ล้านตัน และยางพาราปริมาณ 2 00,000 ตัน ซึ่งจะส่งมอบตามกรอบการตกลงภายใน 2 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2559 ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ไทยจะเชิญกระทรวงพาณิชย์จีนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันกลางเดือนมีนาคม เชื่อว่าจะทำให้มีความคืบหน้าในการหารือร่วมกันมากขึ้น ส่วนการประมูลข้าวกว่า 900,000 ตันในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาสามารถอนุมัติขายได้ทันทีปริมาณ 500,000 ตัน ส่วนปริมาณข้าวที่เหลืออีก 400,000 ตัน จากการตรวจสอบคุณสมบัติ พบว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงต้องระงับเพื่อรอเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะสามารถเปิดให้ประมูลรอบ 2 ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ปริมาณเกือบ 1 ล้านตันและในวันเดียวกัน ได้ปล่อยขบวนรถ "ธงฟ้าสู่ชุมชน" หรือ โมบายยูนิต จำนวน 100 คัน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาประหยัดต่ำกว่าท้องตลาดร้อยละ 20-40 เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนและเพิ่มกำลังซื้อกระตุ้นการหมุนเวียนเศรษฐกิจ โดยโครงการธงฟ้าชุมชนเป็นหนึ่งในมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ราคาประหยัด

    ทั้งนี้ จากเป้าหมายที่จะกระจายไปชุมชน 750 แห่ง โดยจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม และจะมีการประเมินผลภายใน 2 สัปดาห์ หากได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดีจะมีการขยายโครงการที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้อีกครั้งหนึ่ง ส่วนโครงการในต่างจังหวัด กระทรวงพาณิชย์มีโครงการธงฟ้าเดิมที่กรมการค้าภายในได้ดำเนินโครงการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าธงฟ้าเคลื่อนที่ครั้งนี้จะสามารถเข้าถึงประชาชนประมาณ 300,000 คน และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 30 ล้านบาท และปีนี้กระทรวงฯ วางแผนที่จะทำโครงฟ้าให้ได้ 1,000 ครั้ง คาดจะมียอดขายครั้งนี้เกือบ 100 ล้านบาท

    นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2558 มีผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557- ปัจจุบันมีมูลค่าการจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดไปแล้วมากกว่า 1,882 ล้านบาท สามารถลดค่าครองชีพให้กับประชาชนกว่า 633 ล้านบาท และมีประชาชนได้รับประโยชน์จากการลดภาระค่าครองชีพทั่วประเทศประมาณ 5.6 ล้านคน

นบข.ตัดสิทธิเอ็มไพร์หลังพบเป็นนอมินีสยามอินดิก้าเข้าประมูลข้าวรัฐ

    แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาตัดสิทธิบริษัท เอ็มไพร์ ดีเวอลอปเม้นท์ จำกัด ผู้เสนอราคาซื้อข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลปริมาณสูงสุดถึง 400,000 ตัน ใน 47 คลัง จากการเปิดประมูลปริมาณ 999,000 ตัน เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้อง มีเหตุอันควรเชื่อได้โดยสุจริตว่าบริษัทดังกล่าวเป็นกลุ่มหรือเครือเดียวกัน และมีลักษณะเป็นตัวแทนอำพรางของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดสัญญาจีทูจี 4 ฉบับ

    สำหรับ การเปิดประมูลข้าวครั้งนี้ นบข.ได้อนุมัติขายให้กับผู้ชนะประมูลในราคาสูงกว่าราคาเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด (ฟลอร์ แวลู) โดยได้อนุมัติขายรวม 496,243.27 ตัน มูลค่า 7,853 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปริมาณ 146,204.77 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 23,010-31,000 บาท และข้าวขาว 5% ปริมาณ 350,038.50 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 7,650-12,220 บาท ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้แจ้งให้ผู้ชนะการประมูลทั้ง 38 ราย มาทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ภายใน 15 วัน และจะรับมอบข้าวได้ทันทีที่ทำสัญญาและชำระค่าข้าวแล้ว

  ส่วนข้าวสารที่นำมาเปิดประมูลครั้งนี้ แต่ไม่มีผู้ยื่นซองเสนอราคา และข้าวที่ยกเลิกการขายอีกกว่า 400,000 ตัน กรมการค้าต่างประเทศ จะนำมาเปิดประมูลจำหน่ายในครั้งต่อไป โดยจะปรับปรุงเงื่อนไขให้รัดกุม และปรับขั้นตอนการประมูลให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!