- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 03 February 2015 22:13
- Hits: 1914
ราคาน้ำมันร่วงฉุดเงินเฟ้อติดลบ พาณิชย์-คลังออกหน้ายันยังไม่ถึงขั้นเงินฝืด
แนวหน้า : เงินเฟ้อเดือนมกราคม ติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปี 4 เดือน หลังราคาน้ำมันร่วงต่อเนื่อง พาณิชย์เตรียมปรับกรอบทั้งปีอีกครั้ง ขณะที่สินค้ากว่า 144 รายการอาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อโค ปลา สัตว์น้ำ น้ำมันพืช นมสด ก๊าซยานพาหนะ(NGV) ค่าโดยสารรถแท็กซี่ และผงซักฟอก กลับดาหน้าขึ้นราคาสวนกระแสน้ำมันถูก
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนมกราคม 2558 ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป อยู่ที่ 106.02 ลดลง 0.59% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2557 และปรับลดลง 0.41% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2557 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง หรือติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 หรือ 64 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศโดยเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลง การปรับตัวลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า และการปรับตัวลดลงของอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ผลไม้ และผักสดบางชนิด
“เดือนมกราคม อัตราเงินเฟ้อลดลง 0.41% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ลดลง หลังจากก่อนหน้านี้มีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง มาต่อเนื่องถึง 7 เดือน โดยปัจจัยหลักเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เริ่มเห็นผลกระทบ แต่ก็มองว่าสถานการณ์ยังไม่ส่อถึงภาวะเงินฝืด เพราะดัชนีที่ลดลงเป็นการปรับลดลงตามต้นทุนที่ลด ซึ่งไม่ใช่การลดลงจากการไม่ผลิต การไม่บริโภค”
โดยในเดือนมกราคม หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาลดลง 0.14% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาลดลง 0.83% และจากการสำรวจสินค้า 450 รายการ ในเดือนมกราคม มีสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น 188 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อโค ปลา สัตว์น้ำ น้ำมันพืช นมสด ก๊าซยานพาหนะ(NGV) ค่าโดยสารรถแท็กซี่ และผงซักฟอก ส่วนสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงมี 162 รายการ และสินค้าที่ราคาปรับลดลง 100 รายการ เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ปูนซีเมนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และค่ากระแสไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์เตรียมทบทวน และปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2558 ใหม่อีกครั้ง โดยจะขอติดตามสถานการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ก่อน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีทิศทางทรงตัวแล้ว ซึ่งเดิมกระทรวง ได้คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 1.8-2.5% ตามสมมุติฐาน ราคาน้ำมันโลกอยู่ที่ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) อยู่ที่ 4.5%
“ตอนนี้ได้เริ่มปรับสมมุติฐานในบางส่วนใหม่แล้ว โดยปรับอัตราแลกเปลี่ยนจาก 31-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปรับจาก 4.5% เหลือ 3.5% ส่วนราคาน้ำมันขอติดตามดูสถานการณ์การเคลื่อนไหวอีกเดือนก่อน จากนั้นจะปรับคาดการณ์เงินเฟ้อใหม่”
นอกจากนี้ ในการแถลงข่าวอัตราราคาผู้บริโภคตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ตัดดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศออกจากการแถลงของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ต้องการให้มีการแถลงอัตราเงินเฟ้อเพียงด้านเดียว ซึ่งจะสะดวกต่อการกำหนดทิศทางและการวิเคราะห์เฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศ
ด้านนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ยืนยันว่าการที่เงินเฟ้อเดือนมกราคม ติดลบนั้นยังไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยเงินเฟ้อที่ขยายตัวติดลบมีสาเหตุมาจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าแพง รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ แก้ไขจนราคาสินค้าปรับลดลง ประกอบกับราคาน้ำที่ปรับตัวลงค่อนข้างมาก ทำให้อัตราเงินเฟ้อติดลบดังกล่าวถือเป็นเรื่องชั่วคราวระยะสั้นเท่านั้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ติดลบ เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์อาจเป็นการผิดคาดไปบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และมองว่าเงินเฟ้อที่ลดลงนั้น อาจเป็นผลดี เพราะสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนประหยัดเงินในกระเป๋า และยังมีเงินที่จะนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะกลางได้ อย่างไรก็ตามก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งราคาน้ำมัน และปัจจัยอื่นๆ เพราะหากอัตราเงินฟ้อติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน จะเข้าขั้นภาวะเงินฝืดได้