WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แนะทางออกสิ่งทอหลังยุโรปตัด GSP ย้ายฐานผลิต-ใช้สิทธิ์ FTA ลดต้นทุน

     แนวหน้า : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาเรื่อง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ยุคไร้ GSP และ FTA ไทยควรปรับตัวอย่างไรจัดโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ระบุว่า ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย จากการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) โดยศึกษาเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในทวีปเอเชียที่เป็นสมาชิกหรือกำลังเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่สำคัญ 4 ประเทศ คือ เวียดนาม จีน อินเดียและเกาหลีใต้ พบว่าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยได้รับผลกระทบมาก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากสินค้าสำคัญของไทยคล้ายคลึงกับ 4 ประเทศคู่แข่งเหล่านี้มาก

   ดั้งนั้น การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลไทย ภาคเอกชนควรใช้โอกาสนี้เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อใช้แรงงานจากต่างประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า หรือปรับตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้า โดยอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำควรปรับสู่การเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบให้แก่ฐานการผลิตเครื่องนุ่งหุ่มกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ที่กำลังปรับตัวรองรับการใช้สิทธิ์จีเอสพีและต้องวางแผนขยายฐานการผลิตไปเวียดนามมากขึ้น ภายหลังจากเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง TPP แล้ว ทั้งนี้ เวียดนามยังขาดแคลนโรงงานวัตถุดิบสิ่งทอต้นน้ำ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการวัตถุดิบสิ่งทอต้นน้ำของไทยและควรขยายฐานการลงทุนไปยังเมียนมาร์ เพราะในอนาคตเมียนมาร์จะเป็นแหล่งการลงทุนตั้งโรงงานเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญในการเป็นฐานการผลิตไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะอียูและการลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำในเมียนมาร์สามารถส่งออกไปประเทศเอเชียใต้ได้ เช่น บังกลาเทศ ศรีลังกา และปากีสถาน

     ส่วนอุตสาหกรรมปลายน้ำ กลุ่มผลิตสินค้าแบรนด์ต่างๆ ที่เผชิญกับปัญหาด้านแรงงานและยังเสียเปรียบคู่แข่งขันจากประเทศที่ยังคงได้รับจีเอสพี ทางแก้ปัญหา คือ ขยายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่หลายรายทยอยขยายฐานไปแล้ว สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อาจมีข้อจำกัดในการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านควรศึกษาและเตรียมความพร้อมขยายฐานการลงทุนไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ภาครัฐไทยเตรียมจัดตั้งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอดหรือจังหวัดชายแดนอื่นๆ ในอนาคต เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ ขณะที่อุตสาหกรรมปลายน้ำกลุ่มผลิตสินค้าแบรนด์ต่างๆ ควรหันไปจ้างประเทศเพื่อนบ้านผลิตแทน โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันให้เกิดขึ้น

     ขณะที่นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวเปิดสัมมนาเรื่อง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ยุคไร้ GSP และ FTA ไทยควรปรับตัวอย่างไรว่า ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการเจรจาจัดทำข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ยุโรป รวมทั้งผลักดันให้มีการจัดทำเอฟทีเออาเซียน-ยุโรปโดยเร็ว พร้อมกันนี้ต้องเร่งยกระดับความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยทั้งห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงอุตสาหกกรรมปลายน้ำ ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ต่างๆ รายใหญ่ทยอยออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี รวมถึงเลี่ยงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทย

   สำหรับ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2557 ไทยส่งออกไปอียูรวม 32,288 ล้านบาท คิดเป็น 6.9% ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมทั้งหมด และข้อมูลจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ระบุว่า แต่ละปีอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่มไทยสร้างรายได้แก่ประเทศเป็นที่ 4 มีสัดส่วนคิดเป็น 2.2% ของจีดีพีประเทศ ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 245,000 ล้านบาทต่อปี ตลาดส่งออกใหญ่สุด คือ อาเซียนมีสัดส่วนคิดเป็น 21% รองลงมา คือ ตลาดสหรัฐส่งออกคิดเป็น 16% ส่วนอียูไทยส่งออกไปเพียง 14%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!