- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 04 June 2014 22:28
- Hits: 3480
FAO และประเทศ G20 เดินหน้าจัดทำสารสนเทศสินค้า ด้านไทยร่วมจัดทำบัญชีสมดุลข้าว
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมที่ประชุม Fifth Session of the AMIS Global Food Market Information Group ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก เพื่อติดตามรายงานสถานการณ์ และสต๊อกสินค้าภายใต้โครงการ เผย ที่ประชุมมีมติจัดทำสารสนเทศของสินค้า ระบุ ไทยรับผิดชอบจัดทำสารสนเทศบัญชีสมดุลข้าว ส่วนอียูรับผิดชอบข้าวสาลี บราซิลรับผิดชอบถั่วเหลือง และอาฟริกาใต้ข้าวโพด
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า Agricultural Market Information System หรือ AMIS นับเป็นโครงการภายใต้องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ที่ตั้งขึ้น เพื่อจัดทำข้อมูลด้านการตลาดของสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก 4ชนิดคือ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง และข้าวสาลี โดยมีสมาชิกหลัก คือ ประเทศในกลุ่ม G20 เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งไทยได้รับเชิญเป็นสมาชิกนอกกลุ่ม G20 เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก
ในการนี้ สศก. โดยผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการเกษตร (นางอัญชนา ตราโช) ในฐานะผู้ประสานงานหลัก (Focal point) ของประเทศไทยด้านสารสนเทศในโครงการ AMIS พร้อมด้วยสำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ ได้ร่วมการประชุม The First Global Agricultural Outlook Forum และ Fifth Session of the AMIS Global Food Market Information Group ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 19-21พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมครั้งนี้ FAOได้รายงานสถานการณ์และคาดคะเนภาวะการผลิต การตลาด ราคาและสต๊อกสินค้าภายใต้โครงการ โดยคาดว่าผลผลิตข้าวโลกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นจากราคาในตลาดโลกที่ลดลง ส่วนพืชน้ำมันและธัญพืชมีผลผลิตลดลง
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานความก้าวหน้าของ The GEOGLAM crop monitoring (ระบบรายงานสถานการณ์การผลิตพืช) โดยผู้แทนไทยได้ร่วมหารือเกี่ยวกับวิธีการพยากรณ์และการจัดทำบัญชีสมดุล การประมาณการความต้องการและการใช้อาหารสัตว์ รวมทั้ง แผนงาน โครงการ ที่สมาชิกจะดำเนินการร่วมกันต่อไป โดยที่ประชุมมีมติให้มีการจัดทำสารสนเทศของสินค้าในโครงการ ทั้งในเรื่องของการผลิต อุปสงค์ อุปทานและบัญชีสมดุล และมอบหมายให้อียูรับผิดชอบข้าวสาลี บราซิลรับผิดชอบถั่วเหลือง อาฟริกาใต้รับผิดชอบข้าวโพด และไทยเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำสารสนเทศของข้าว
ทั้งนี้ การเข้าร่วมดำเนินงานกับองค์กรระหว่างประเทศและกลุ่มประเทศ G 20 ในโครงการดังกล่าว นอกจากจะแสดงถึงความสำคัญของไทยทั้งในเรื่องการเป็นประเทศเกษตรที่สำคัญของโลกแล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงศักยภาพและความสำคัญทางด้านสารสนเทศการเกษตรของไทยอีกด้วย อีกทั้งยังทำให้ไทยได้ทราบถึงสถานการณ์การผลิต การตลาด ของสินค้าหลักที่สำคัญของโลก และประเทศผู้ผลิตที่สำคัญในแต่ละสินค้า ซึ่งเป็นข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ทั้งในด้านการผลิต การตลาด ซึ่ง สศก จะได้นำเสนอผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการเกษตรที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร