WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ ย้ำเป้าส่งออกปี 58โต 4% แม้ ศก.โลก -ค่าเงิน เป็นปัจจัยเสี่ยง ขณะที่ส่งออกทั้งปี 57 ติดลบ 0.41% ขาดดุล 379 ล้านดอลล์

   นางนันทวัลย์ ศกุลตนาค อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯยังคงเป้าหมายการส่งออกปี 2558 ที่ระดับ 4% โดยมองว่าจะได้รับอานิงส์จากการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน และการค้าชายแดนที่มีแนวโน้มเติบโตดี ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐเริ่มมีแนวโน้มสดใสจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

   "เรายังไม่มีปรับประมาณการ ณตอนนี้ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะลดลง จากการที่เศรษฐกิจในหลายประเทศมีการฟื้นตัวล่าช้า"นางนันทวัลย์ กล่าว

   อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯอยู่ระหว่างการพิจารณาปัจจัยต่างๆ เพื่อประกอบการปรับลดเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ จากปัจจุบันที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4% โดยกระทรวงจะขอดูตัวเลขการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกปี 2558 ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรก่อนที่จะมีการปรับลดประมาณการลง

   สำหรับปัจจัยที่กระทรวงจับตามอง ประกอบด้วย เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ค่าเงิน ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกหายไป 

   "ตอนนี้คงยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะปรับลดเป้าหมายการส่งออกลงมาเท่าใด เนื่องจากกระทรวงฯอยากรอดูตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจและการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกก่อน แม้ที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จะมีการปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในหลายประเทศลดลงก็ตาม" นางนันทวัลย์ กล่าว

  นางนันทวัลย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯมองว่าเศรษฐกิจยุโรปยังเผชิญภาวะถดถอย แต่หลังจากทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน คาดว่าจะส่งผลกระทบให้มีเงินไหลเข้าภูมิภาคเอเชียเป็นจำนวนมาก รวมถึงเข้ามาในตลาดหุ้นไทยและส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น             

   สำหรับ ในปีนี้กระทรวงฯตั้งเป้าหมายส่งออกไปยุโรปเหลือ 3% จากปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ 4.7% ส่วนสาเหตุที่มีการปรับลดเป้าหมายการส่งออกไปยุโรปน้อยลง เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจในยุโรปยังชะลอตัว

  อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า มูลค่าการส่งออกปี2557และ(ม.ค. - ธ.ค. 57) มีมูลค่า 227,574 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -0.41  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 227,952 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -8.97 (AoA)ส่งผลปี 2557 ไทยขาดดุลการค้ารวม 379 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ขณะที่ มูลค่าการส่งออก เดือนธันวาคม 2557 มีมูลค่า 18,790 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.90 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน  (YoY) โดยมูลค่าการส่งออกเดือนธันวาคมไม่รวมน้ำมันสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17,862 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ที่ร้อยละ 3.4 (YoY) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 95.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป (มีสัดส่วนร้อยละ 5.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม) หดตัวร้อยละ -20.4 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปริมาณน้ำมันที่ผลิตออกมามากเกินความต้องการ ของตลาดส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงประมาณร้อยละ 25.0 (YoY)

   การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกข้าวมีปริมาณส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง การส่งออกเดือนธันวาคม 2557 ในภาพรวมสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 (YoY) ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าข้าว น้ำตาล อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป  โดยเฉพาะข้าวมีอัตราขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 อยู่ที่ร้อยละ 67.0 มีปริมาณการส่งออกเดือนธันวาคม 57 อยู่ที่ 1.4 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัวสูงในตลาด กลุ่มทวีปแอฟริกา และอินโดนิเซีย  รวมทั้งการส่งออกน้ำตาล ขยายตัวสูงถึงร้อยละ96.1 ขยายตัวสูงในตลาดอาเซียนและจีน เนื่องจากอุปทานน้ำตาลในตลาดโลกลดลง จากปัญหาสภาพอากาศในประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้หลายประเทศนำเข้าจากไทยมากขึ้น ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่หดตัวได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผัก ผลไม้สด แช่แข็ง และแปรรูป โดย

  ยางพาราหดตัวที่ร้อยละ -43.0 (YoY) เนื่องจากราคายางพาราปรับตัวลดลง จากอุปทานส่วนเกินของยางพาราในตลาดโลก และอุปสงค์ยางพารายังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร สะท้อนจากดัชนีราคาส่งออกยางพาราเดือนธันวาคม 2557 ที่ลดลงร้อยละ -19.4 (YoY) รวมทั้งจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทยได้ชะลอการนำเข้า อันเนื่องมาจากปริมาณสต๊อกยางยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกยางพาราของไทยลดลงร้อยละ 14.6

  สำหรับ การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.5 โดยสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ โดยการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 (YoY) โดยมีอัตราขยายตัวสูงในตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม รวมทั้งสถานการณ์ส่งออกที่ดีขึ้นในสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เหล็ก หลังจากกลับมาขยายตัวในเดือนธันวาคม 57 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวได้แก่ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้าผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องปรับอากาศฯ

  การนำเข้าเดือนธันวาคม 2557 มีมูลค่า 17,201  ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -8.74 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศ เดือน ธ.ค. 57 กลับมาเกินดุลการค้ารวม 1,589 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2557 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าที่ลดลงของสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง กลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ซึ่งหดตัวร้อยละ -37.3 ,-4.9 และ -4.0 (YoY) ตามลำดับ โดยเฉพาะน้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของไทยหดตัวร้อยละ -42.6 (YoY) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง (ดัชนีราคานำเข้าน้ำมันดิบเดือนธ.ค.57 ลดลงร้อยละ -36.2 (YoY)) จากอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกมีมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนต่อภาคการผลิต ของไทยมีต้นทุนต่ำลง และส่งผลดีต่อค่าครองชีพของประชาชน ในส่วนของการนำเข้าสินค้ายานพาหนะและ

   อุปกรณ์ขนส่ง หดตัวจากภาวะการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว และสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป หดตัวตามการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ ซึ่งหากไม่รวมทองคำ สินค้ากลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปจะขยายตัวร้อยละ 6.2 สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 17.7 เป็นสัญญาณสะท้อนแนวโน้มการส่งออก การบริโภคและการผลิตในประเทศที่มีทิศทางดีขึ้นตามลำดับ

   โดยปัจจัยหลักเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินบาททำให้มีการชะลอการนำเข้า ประกอบการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ  ทั้งการบริโภค การลงทุนและอุปสงค์รถยนต์ที่มีทิศทางชะลอตัว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!