- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 18 August 2024 15:53
- Hits: 7513
ส่งออกอัญมณี ครึ่งปี 67 เพิ่ม 8.48% แนะรุกออนไลน์ ดึงอินฟลูเอนเซอร์ช่วยทำตลาด
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือน มิ.ย. มูลค่า 704.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 4.51% กลับมาชะลอตัว หลังฟื้น 9 เดือนติด เหตุคนกังวลความขัดแย้ง ความไม่แน่นอนเลือกตั้งในหลายประเทศ ทำซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลด หากรวมทองคำมูลค่า 1,248.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 34.42% จากส่งออกไปเก็งกำไร รวม 6 เดือน ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 8.48% รวมทองคำ เพิ่ม 2.86% แนะผู้ประกอบการใช้ช่องทางออนไลน์ ทำตลาด ดึงอินฟลูเอนเซอร์ช่วยขาย
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน มิ.ย.2567 มีมูลค่า 704.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.51% กลับมาชะลอตัวเป็นเดือนแรก หลังฟื้นตัวต่อเนื่อง 9 เดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนการเลือกตั้งในหลายประเทศ ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน
ส่งผลให้การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัวลงตามไปด้วย และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,248.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.42% ส่วนยอดรวม 6 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 4,555.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.48% หากรวมทองคำ มูลค่า 7,573.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.86%
สำหรับ การส่งออกทองคำเดือน มิ.ย.2567 มีมูลค่า 544.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 184.12% เนื่องจากราคาทองคำเริ่มนิ่งและผันผวนลดลง ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไร จากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนยอดรวม 6 เดือน ส่งออกทองคำมีมูลค่า 3,017.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 4.61% และหากแยกการส่งออกทองคำเป็นรายเดือน ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 309.51% มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 75.02% เม.ย. มูลค่า 288.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 64.57% พ.ค. มูลค่า 582.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 135.39%
ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เพิ่ม 17.52% สหรัฐฯ เพิ่ม 8.63% อินเดีย เพิ่ม 64.96% เยอรมนี เพิ่ม 9.08% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 9.04% เบลเยียม เพิ่ม 51.61% ญี่ปุ่น เพิ่ม 3.28% ส่วนสหราชอาณาจักร ลด 1.11% อิตาลี ลด 2.30% และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 14.22%
ทางด้านการส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 8.81% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 19.56% พลอยก้อน เพิ่ม 89.77% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 7.46% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 5.81% ซึ่งในกลุ่มพลอย เป็นสินค้าที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เพราะมีการซื้อไปลงทุน เพชรก้อน เพิ่ม 6.89% เพชรเจียระไน เพิ่ม 5.04% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 10.19% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 35.06% ส่วนเครื่องประดับแพลทินัม ลด 36.25%
นายสุเมธ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นได้ต่อเนื่อง หลังมีการประเมินเศรษฐกิจโลกขยายตัว 2.6% และการบริโภคในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว จากการที่เงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ และยูโรโซน ปรับลดลง การเดินทางท่องเที่ยว ยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ก็ต้องระวังความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ขยายวงไปหลายที่ ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และอาจกระทบต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับได้
ทั้งนี้ แนวทางในการปรับตัวทำธุรกิจ จะต้องใช้ช่องทางออนไลน์เข้ามาช่วย โดยการสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านสื่อดิจิทัลในปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกธุรกิจไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยจะใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นและคุ้มค่าที่สุด ทำให้ผู้ประกอบการเผชิญกับการซื้อที่ลดลง ส่งผลกระทบกับยอดขายของภาคธุรกิจ
และจากความเสี่ยงข้างต้น ผู้ประกอบการควรเน้นสร้างความมีคุณค่าของสินค้าควบคู่กับความคุ้มค่า ด้วยการนำเสนอเครื่องประดับที่มีคุณภาพดีในราคาที่สมเหตุสมผล นำเสนอการสวมใส่เครื่องประดับที่สวมใส่ได้หลายโอกาส โดยคงความมีสไตล์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวไว้ และควรทำตลาดร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีภาพลักษณ์ประหยัดและฉลาดเลือก มีการสาธิตวิธีการใช้เครื่องประดับให้คุ้มค่า จะสามารถตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า ก็จะทำให้มีโอกาสขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น