- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 11 August 2024 17:46
- Hits: 7111
พาณิชย์ จัด 7 กิจกรรม เสริมแกร่งผู้ประกอบการร้านอาหาร รับธุรกิจบูม
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตรียมแผนจัด 7 กิจกรรม เสริมแกร่งผู้ประกอบการรายอาหารของไทย รองรับการเติบโตของธุรกิจ ทั้งการพัฒนาการบริหารจัดการธุรกิจ การยกระดับร้านอาหารสู่ตรา Thai SELECT การช่วยเพิ่มยอดขาย การส่งเสริมช่องทางการตลาด การโปรโมตร้านอาหาร การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับร้านอาหาร และการสร้างเครือผู้ประกอบการ พร้อมหนุนใช้แฟรนไชส์บูมอาหารและเครื่องดื่ม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญธุรกิจร้านอาหาร ร่วมกันสร้างสรรค์ 7 กิจกรรม เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการร้านอาหารไทย รองรับการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลับมาคึกคักหลังจากพ้นโควิด-19 และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว
รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการทำธุรกิจ ที่มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบเดลิเวอรี การสั่งอาหารล่วงหน้าแล้วมารับที่ร้าน หรือบริการจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อลดการรอคิวและความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ ซึ่งล้วนแต่มีความจำเป็นให้ผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องปรับตัว เพื่อให้มีการเติบโตต่อไปได้
สำหรับ 7 กิจกรรมที่กรมจะนำมาใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการรายได้ ได้แก่ 1.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารอย่างมืออาชีพ ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไปทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ผ่านหลักสูตร Smart Restaurant Plus เพื่อให้ร้านอาหารมีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจอย่างครบวงจร
ทั้งการบริหารต้นทุน การเงิน ทรัพยากรบุคคล ด้านนวัตกรรม และการตลาด ให้สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับมาปรับใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จัดไปแล้ว 7 รุ่น ปัจจุบันมีร้านอาหารผ่านการพัฒนาจากกรมแล้วกว่า 3,000 ราย
2.ยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพมาตรฐาน รสชาติอาหารไทยแท้ วัตถุดิบคุณภาพ บรรยากาศ และการบริการที่ดี ผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญในการลงพื้นที่ตรวจประเมินและให้คำปรึกษาแนะนำ โดยปัจจุบันมีร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT 370 ร้าน และมีเป้าหมาย 500 ร้าน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภายในปี 2567
3.กระตุ้นยอดขายเพิ่มรายได้ร้านอาหาร ผ่านแคมเปญ ‘เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT’ โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft Power อาหารไทย และขยายโอกาสแก่ร้านอาหาร Thai SELECT ได้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค กระตุ้นการจำหน่าย ผ่านการมอบโปรโมชันส่วนลด สิทธิประโยชน์ต่างๆ
4.ส่งเสริมช่องทางการตลาด ผ่านการจำหน่ายอาหารในงานเทศกาลอาหารต่างๆ และแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีชั้นนำ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร โดยนำร้านอาหาร Thai SELECT มาจัดแสดง (Showcase) ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อแสดงศักยภาพของอาหารไทย สร้างตัวตนให้ร้านอาหารกลายเป็นที่รู้จัก และส่งต่อร้านอาหาร Thai SELECT ให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง
5.เสริมสร้างการรับรู้ให้แก่ร้านอาหารไทยและตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่านผู้ทรงอิทธิพลบน Social Media (Influencer) รายการอาหาร และผู้มีชื่อเสียงที่มาช่วยรีวิวร้านอาหาร กระตุ้นการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับอาหารไทย และการจัดประกวดคลิปวิดีโอสั้น ภายใต้สโลแกน’อาหารไทย ต้อง Thai SELECT’ เพื่อให้ร้านอาหารเป็นที่รู้จัก รวมถึงกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มาสัมผัสและลิ้มลองอาหารไทย
6.การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับร้านอาหาร โดยจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรองกับร้านอาหาร Thai SELECT ในพื้นที่ โดยได้นำร่องแล้ว 10 เส้นทาง อาทิ จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นให้ครบทุกภูมิภาคต่อไป
7.สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ผลิตอุปกรณ์ ผู้จำหน่วยวัตถุดิบ ผู้ให้บริการเครื่องมือและระบบบริหารจัดการร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเพิ่มคู่ค้า และต่อยอดธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม โดยจะมีอบรมการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ กลยุทธ์ทางการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ และการสร้างคู่มือ แผนธุรกิจ และสัญญาในระบบแฟรนไชส์ เป็นต้น
โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทอาหารผ่านการอบรม 531 ราย และเครื่องดื่ม 173 ราย และการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์สู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทอาหารที่ผ่านการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแล้ว 248 ราย และเครื่องดื่ม 106 ราย
ปัจจุบัน ณ วันที่ 31 ก.ค.2567 ไทยมีนิติบุคคลดำเนินธุรกิจร้านอาหารอยู่ 23,414 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 97.46% (22,819 ราย) โดยมีการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัดมากที่สุด 88.56% (20,735 ราย) ที่เหลือ คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ/ห้างหุ้นส่วนจำกัด 11.40% (2,670 ราย) และบริษัทมหาชนจำกัด 0.04% (9 ราย) จังหวัดที่มีธุรกิจร้านอาหารติด 5 อันดับแรกอยู่ในพื้นที่หัวเมืองใหญ่
และเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 9,264 ราย (39.57%) ชลบุรี 2,603 ราย (11.12%) ภูเก็ต 1,908 ราย (8.15%) สุราษฎร์ธานี 1,377 ราย (5.88%) และเชียงใหม่ 1,376 ราย (5.87%) ตามลำดับ