- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 11 August 2024 17:00
- Hits: 6849
น้ำมัน-อาหารขึ้น ดันเงินเฟ้อ ก.ค.67 เพิ่ม 0.83% บวก 4 เดือนติด รวม 7 เดือน โต 0.11%
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ เดือน ก.ค.67 เพิ่มขึ้น 0.83% บวกต่อเนื่อง 4 เดือนติด ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และราคาสินค้ากลุ่มอาหารเพิ่มขึ้น รวม 7 เดือน เพิ่ม 0.11% คาดเงินเฟ้อเดือน ส.ค. ยังใกล้เคียงเดือน ก.ค. ส่วนไตรมาส 3 น่าจะใกล้เคียงไตรมาส 2 จับตาไตรมาส 4 อาจเพิ่มแรง เหตุฐานราคาน้ำมันปีก่อนต่ำ เงินดิจิทัล วอลเล็ตมา ไม่กระทบราคาสินค้า มีแต่เพิ่มกำลังซื้อ ทั้งปียังคงเป้าเดิม 0-1% ค่ากลาง 0.5%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.ค.2567 เท่ากับ 108.71 เทียบกับ มิ.ย.2567 เพิ่มขึ้น 0.19% เทียบกับเดือน ก.ค.2566 เพิ่มขึ้น 0.83% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับมีการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อ 7 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 0.11%
สำหรับ รายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ก.ค.2567 ที่เพิ่มขึ้น 0.83% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.27% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารเช้า อาหารตามสั่ง) กลุ่มผลไม้สด (เงาะ ทุเรียน มะม่วง กล้วยน้ำว้า แตงโม ฝรั่ง) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว)
กลุ่มผักสด (มะเขือเทศ ต้นหอม ขิง ฟักทอง แตงกวา) กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำหวาน) และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ปลาทู ส้มเขียวหวาน ผักคะน้า น้ำมันพืช มะนาว กระเทียม และไก่ย่าง เป็นต้น
ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.50% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน) และสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า แชมพู สบู่ถูตัว ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น
ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ก.ค.2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.2567 และเพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.2566 เฉลี่ย 7 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 0.42%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ส.ค.2567 คาดว่าจะใกล้เคียงกับเดือน ก.ค.2567 โดยมีปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง คือ ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้าจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ราคาเนื้อสุกรยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากมีอุปทานเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคายังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ราคาผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง โดยเดือน ส.ค.2566 ราคาอยู่ที่ประมาณ 86.61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ยล่าสุดอยู่ที่ 79.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ณ วันที่ 30 ก.ค. 2567)
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศกำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบินตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และราคาผลไม้ปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน และเงาะ
ทั้งนี้ คาดว่า เงินเฟ้อไตรมาส 3 จะใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 4 น่าจะเพิ่มขึ้น เพราะถ้าจำกันได้ รัฐบาลมีนโยบายและดำเนินการช่วยเหลือราคาพลังงาน ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2566 ราคาน้ำมันไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ถ้าเทียบตอนนี้ ราคาอยู่ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งน้ำมันมีสัดส่วน 10% ของเงินเฟ้อ
จึงมีผลมาก อาจเห็นตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชัดเจนในไตรมาส 4 ส่วนเงินดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะออกมา เป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ไม่ได้มีผลต่อต้นทุนสินค้า ราคาสินค้าไม่น่าจะปรับขึ้น ในทางกลับกัน จะมีการทำโปรโมชันแข่งกันลดราคามากกว่า โดยภาพรวมกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ที่ 0.0–1.0% ค่ากลาง 0.5% ยังไม่มีเปลี่ยนแปลง
ดัชนีเศรษฐกิจการค้า ประจำเดือนกรกฎาคม 2567 🛒🛍️📊💰
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกรกฎาคม 2567 เท่ากับ 108.71 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.82 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY) โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับมีการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
📊 อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย สูงขึ้นร้อยละ 0.62 (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 9 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)
📊 แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม 2567 คาดว่าจะใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่
(1) ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า จากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ
(2) ราคาเนื้อสุกรยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากมีอุปทานเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคายังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
(3) ราคาผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และ
(4) ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง โดยเดือนสิงหาคม 2566 ราคาอยู่ที่ประมาณ 86.61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ยล่าสุดอยู่ที่ 79.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ณ วันที่ 30 ก.ค. 2567)
สำหรับ ปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
(1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
(2) ราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบินตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และ
(3) ราคาผลไม้ปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน และเงาะ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ค่ากลางร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
.💾 ข้อมูลฉบับเต็ม: ในคอมเมนต์ด้านล่าง
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจการค้าก่อนใครที่
📌 LINE: @TPSO.tradeinsights
📌 Website : tpso.go.th